คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5186/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ที่กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยื่นคำร้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเกิดจากมูลแห่งข้ออ้างนั้นใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบทุกกรณีไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือหลังจากศาลพิพากษา ดังนั้นคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีที่สั่งโดยผิดระเบียบ โดยอ้างว่าการที่ทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องขอเลื่อนคดีมายื่นต่อศาลโดยให้เหตุผลว่าป่วย ถือว่าโจทก์มาศาลและแจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบแล้ว ไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งจำหน่ายคดีเพราเหตุโจทก์ไม่มาศาล จึงอยู่ในบังคับแห่งระยะเวลา 8 วัน ที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างของจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อไม่สอดส่องดูแลให้ความปลอดภัยแก่รถยนต์ของลูกค้าที่มาจอดใช้บริการซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าของจำเลยเป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยซึ่งจอดในลานจอดรถห้างสรรพสินค้าของจำเลยถูกโจรกรรมสูญหาย โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 177,510 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 170,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยเพียงแต่จัดที่จอดรถเพื่อให้บริการแก่ลูกค้า ไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาหรือป้องกันรถยนต์ไม่ให้สูญหาย รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยมิได้สูญหายในบริเวณลานจอดรถของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง ในวันนัดพร้อมและสืบพยานโจทก์วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547 ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาต นัดต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2547 ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีกครั้งโดยอ้างว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ มีอาการไอและเจ็บคอ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วไม่เชื่อว่าทนายโจทก์ป่วยจนถึงขนาดไม่สามารถมาศาลได้ และคำร้องก็มิได้ระบุว่าหากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วจะทำให้เสียความยุติธรรมอย่างไร เมื่อทนายโจทก์ไม่มาศาล ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
วันที่ 6 พฤษภาคม 2547 โจทก์ยื่นคำร้องว่า การที่ทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องมาขอเลื่อนคดีต่อศาลโดยให้เหตุผลว่าป่วย ถือว่าโจทก์มาศาลและแจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบแล้ว ที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ไม่มาศาล จึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวและนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า คำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นโดยอ้างว่าเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบจะต้องยื่นภายในเวลา 8 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เมื่อมีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาได้เอง หรือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายที่เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนได้ ส่วนระยะเวลาในการยื่นคำร้องมาตรา 27 วรรคสอง กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยื่นไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเกิดมูลแห่งข้ออ้างนั้น ซึ่งระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวนี้ใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบทุกกรณีไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือหลังศาลพิพากษา หาใช่ว่าใช้บังคับเฉพาะกรณีขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบช่วงก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ดังนั้น คำร้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีที่สั่งโดยผิดระเบียบ โดยอ้างว่าการที่ทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายความนำคำร้องขอเลื่อนคดีต่อศาลโดยให้เหตุผลว่าป่วย ถือว่าโจทก์มาศาลและแจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบแล้ว ไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ไม่มาศาลนั้น จึงอยู่ในบังคับแห่งระยะเวลาแปดวันที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์ทราบข้อเท็จจริงอันเป็นมูลแห่งข้ออ้างว่ากระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องดังกล่าววันที่ 6 พฤษภาคม 2547 จึงล่วงเลยเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์ย่อมหมดสิทธิคัดค้านกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ศาลชั้นต้นยกคดีของโจทก์ขึ้นพิจารณาต่อไปนั้นถือเป็นฎีกาที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาเป็นเงิน 4,437.50 บาท อย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์”
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share