คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5182/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลูกสร้างโรงเรือนและรั้วคอนกรีตรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริต ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้เพื่อขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งว่าจำเลยปลูกสร้างโรงเรือนและรั้วคอนกรีตอยู่บนที่ดินของโจทก์โดยสุจริต จึงขอให้โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินส่วนพิพาทให้แก่จำเลย หากโจทก์ไม่ยอมก็ขอให้โจทก์จดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมให้แก่จำเลย โดยจำเลยยอมเสียเงินให้แก่โจทก์ 100,000 บาท ซึ่งจำเลยมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมโดยตรง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วคอนกรีตและอาคารโรงเรือนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทำที่ดินของโจทก์ให้เป็นไปตามเดิมโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และห้ามจำเลยไม่ให้เกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ หากจำเลยไม่รื้อรั้วคอนกรีตและอาคารโรงเรือนที่รุกล้ำออกไป ให้โจทก์จ้างผู้อื่นรื้อถอนและทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิม โดยให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่าย และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อัตราเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนรั้วคอนกรีตและอาคารโรงเรียนที่รุกล้ำออกไปเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ขายที่ดินส่วนพิพาทให้แก่จำเลยในราคา ๑๐๐,๐๐๐ บาท หากโจทก์ไม่ขาย ให้โจทก์รับเงินค่าใช้ที่ดินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และจดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมให้แก่จำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยว่าเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข จึงไม่รับฟ้องแย้ง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้แก่จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนรั้วคอนกรีตและอาคารโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทำที่ดินของโจทก์ให้เป็นตามเดิม โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งของจำเลยไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้หรือไม่ สำหรับปัญหาดังกล่าวนั้น โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๗๒๔๓ จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๗๒๔๔ อยู่ติดที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตก จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนบนที่ดินของจำเลยและสร้างรั้วคอนกรีตล้อมรอบอาคารโรงเรือน แต่ปรากฏว่าการก่อสร้างดังกล่าวของจำเลยรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ยาวตลอดแนวที่ดินจากทิศเหนือจรดทิศใต้คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๒๖ ตารางวา เป็นการกระทำโดยไม่มีสิทธิและไม่สุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนรั้วคอนกรีตและอาคารที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยซื้อที่ดินมาจากบริษัท ก. เมื่อปี ๒๕๓๒ ขณะนั้นมีหลักไม้ทาสีแดงเป็นแนวเขตที่ดิน ต่อมาจำเลยได้ว่าจ้างให้ผู้รับเหมาก่อสร้างดำเนินการก่อสร้างบ้านในที่ดินของจำเลย โดยอาศัยแนวเขตที่ดินตามที่บริษัท ก. ปักหลักไม้ทาสีแดงไว้ ภายหลังจากที่จำเลยก่อสร้างบ้านและรั้วคอนกรีตเรียบร้อยแล้ว จำเลยขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการรังวัดสอบเขตที่ดินเมื่อปี ๒๕๓๔ จึงทราบว่าแนวเขตที่ดินตามหลักไม้ทาสีแดงที่บริษัท ก. ปักไว้นั้นล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ซึ่งบริษัท ก. ทราบแล้ว และแจ้งให้โจทก์และจำเลยไปตกลงกัน แต่โจทก์ไม่ยอมไปพบตามกำหนดนัด จึงไม่สามารถตกลงกันได้ และไม่ทราบว่ามีการรุกล้ำกันจริงหรือไม่ และจำเลยขอฟ้องแย้งโจทก์ว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารและรั้วคอนกรีตโดยสุจริต จึงขอให้โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินส่วนที่รุกล้ำให้แก่จำเลยในราคา ๑๐๐,๐๐๐ บาท หากโจทก์ไม่ยอมจำเลยก็ขอให้โจทก์จดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โดยจำเลยยอมเสียเงินเป็นค่าใช้ที่ดินให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท นั้น เห็นว่า ตามประเด็นข้อพิพาทที่ว่า จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนและรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยสุจริตหรือไม่ หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารและรั้วคอนกรีตรุกล้ำโดยสุจริตหรือฟังได้ด้วยว่ารั้วคอนกรีตติดตรึงเป็นส่วนหนึ่งของอาคารโรงเรือน จำเลยก็มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๒ ไม่ต้องรื้อถอนโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ แต่ต้องเสียเงินค่าใช้ที่ดินให้แก่โจทก์และจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอมได้ตามที่จำเลยมีคำขอบังคับตามฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมโดยตรง ชอบที่จะต้องรับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาชอบแล้ว ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share