แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 บัญญัติว่า “รัฐวิสาหกิจ” หมายความว่า (1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่าหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ
บริษัทท่าอากาศยานไทยฯ ผู้ถือหุ้นจำเลย ได้เปลี่ยนสภาพมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ และ พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงว่า เพื่อให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรธุรกิจของรัฐที่มีความคล่องตัวในการบริหารและในเหตุผลการจัดตั้ง กับมาตรา 26 ได้กำหนดให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นนั้นมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกัน ดังนั้น บริษัทท่าอากาศยานไทยฯ ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจดังกล่าว จึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย เมื่อบริษัทท่าอากาศยานไทยฯ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจถือหุ้นในบริษัทจำเลยจำนวน 214,999,994 หุ้น ในหุ้นทั้งหมดจำนวน 215,000,000 หุ้น จึงมีทุนที่รัฐวิสาหกิจถืออยู่เกินกว่าร้อยละห้าสิบ จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 (2) ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 4 แต่ต้องบังคับตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 (2) ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ หมวด 6 ข้อ 45 (3) โจทก์ทำงานกับจำเลยจนถูกเลิกจ้างเป็นเวลา 7 ปีเศษ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ตามระเบียบดังกล่าว แต่จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย จึงต้องจ่ายส่วนที่ขาดแก่โจทก์
ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มิได้มีบทบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยในกรณีมิได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานไว้ แต่ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจากจำเลยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง จึงไม่ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ได้รับค่าจ้างเดือนละ 129,260 บาท จำเลยเลิกจ้างโดยที่โจทก์ไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย มีผลเลิกจ้างวันที่ 15 พฤษภาคม 2547 โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน เป็นเงิน 1,034,080 บาท แต่จำเลยจ่ายเพียง 685,560 บาท คงค้างจ่ายค่าชดเชย 348,520 บาท และมีสิทธิได้รับสินจางแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 1 เดือน 10 วัน เป็นเงิน 172,347 บาท แต่จำเลยจ่ายเพียง 114,260 บาท คงค้างจ่ายจำนวน 58,087 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า เนื่องจากระเบียบของบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด ฉบับที่ (8) ว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพ ค่าทำศพ ค่าทดแทนการขาดรายได้ในกรณีทุพพลภาพ ค่าชดเชยแบะเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน พ.ศ.2542 ในหมวดที่ 4 ว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชย ข้อ 10 (3) กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีขึ้นไปโดยรวมวันหยุด วันลา และวันที่ บทม.สั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของ บทม.ให้จ่ายไม่น้อยกว่าเงินเดือนอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ซึ่งระเบียบนี้สอดคล้องกับระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 ดังนั้น การที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับเงินเดือนอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันเป็นเงิน 685,560 บาท จึงถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับแล้ว และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพราะตามระเบียบของจำเลยหรือระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ไม่ปรากฏว่ามีข้อใดระบุไว้ว่า พนักงานที่ถูกเลิกจ้างจะต้องได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่การที่จำเลยได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ไปจำนวน 114,260 บาท คือ จ่ายให้พร้อมกับค่าจ้าง 1 เดือน นั้น จำเลยจ่ายตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ดังนั้น การที่จำเลยจ่ายสินค้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์เป็นระยะเวลา 1 เดือน เป็นเงินจำนวน 114,260 บาท จึงถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบิกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 406,607 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดจากต้นเงิน 58,087 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คิดจากต้นเงิน 348,520 บาท นับแต่วันที่ 115 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (4) หรือต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 6 (2) ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 หมวด 6 ข้อ 45 พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 บัญญัติว่า “รัฐวิสาหกิจ” หมายความว่า
(1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ
(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่า หรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ เห็นว่า บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นของจำเลยได้เปลี่ยนสถานภาพมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติดังกล่าวระบุเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงว่า เพื่อให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรธุรกิจของรัฐที่มีความคล่องตัวในการบริหาร และในเหตุผลการจัดตั้งกับมาตรา 26 ได้กำหนดให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นนั้นมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกัน ดังนั้น บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจดังกล่าว จึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยเมื่อบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจถือหุ้นในบริษัทจำเลยจำนวน 214,999,994 หุ้น ในหุ้นทั้งหมดจำนวน 215,000,000 หุ้น จึงมีทุนที่รัฐวิสาหกิจถืออยู่เกินกว่าร้อยละห้าสิบ จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 (2) ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4 แต่ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 (2) ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 หมวด 6 ข้อ 45 (3) โจทก์ทำงานกับจำเลยจนถูกเลิกจ้างเป็นเวลา 7 ปีเศษ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 775,560 บาท ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 หมวด 6 ข้อ 45 (3) แต่จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เพียง 685,560 บาท จึงยังไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องจ่ายส่วนที่ขาดอีก 90,000 บาท แก่โจทก์และตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 มิได้มีบทบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยในกรณีมิได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานไว้ แต่ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจากจำเลยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (4) โดยให้จ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดอีก 348,520 บาท นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดเพียง 90,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง