คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 517/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246(6) นั้น ต้องเป็นไปเพื่อความยุติธรรมและโดยจุดประสงค์เพื่อจัดให้บริษัทเข้าสู่ฐานอันใกล้ที่สุดกับฐานเดิมเสมือนดั่งว่าบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย หาใช่สั่งและวางข้อกำหนดให้บริษัทหลุดพ้นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติไม่ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะสั่งและวางข้อกำหนดให้บริษัท อ. ซึ่งเป็นลูกหนี้ของผู้ร้องไม่ต้องทำบัญชีงบดุล การตรวจสอบบัญชีและประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ตามที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท เอ.อาร์.เอส.พี.กรุ๊ป จำกัดตามสัญญากู้เงินรวม 4 ฉบับ รวมต้นเงินและดอกเบี้ยคิดถึงวันยื่นคำร้องขอ78,155,635.62 บาท ผู้ร้องทวงถามแล้ว แต่บริษัทดังกล่าวเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ให้ ต่อมาผู้ร้องทราบว่านายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้ขีดชื่อบริษัทดังกล่าวออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246 ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายโดยไม่เป็นธรรม เพราะไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้ เพื่อเป็นการยุติธรรมขอให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครกลับจดชื่อบริษัท เอ.อาร์.เอส.พี.กรุ๊ป จำกัด คืนเข้าสู่ทะเบียน เพื่อผู้ร้องจะได้ดำเนินการทางกฎหมายแก่บริษัทดังกล่าวต่อไป

ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า หากศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กลับจดชื่อบริษัท เอ.อาร์.เอส.พี.กรุ๊ปจำกัด คืนเข้าสู่ทะเบียนแล้ว จะเป็นผลให้บริษัทกลับมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีงบดุลตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทไม่สามารถจัดทำได้เพราะไม่มีค่าใช้จ่าย การเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกระทำได้ยาก เพราะบริษัทขาดเงินทุนหมุนเวียนจึงไม่ได้ประกอบกิจการมาเป็นเวลานานแล้วและกิจการของบริษัทมีแต่ทางขาดทุนไม่สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาได้อีก หากมีการกลับจดชื่อบริษัทเข้าสู่ทะเบียนแล้ว ในที่สุดก็จะต้องถูกลบชื่ออีก ขอให้ยกคำร้องขอ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กลับจดชื่อบริษัท เอ.อาร์.เอส.พี.กรุ๊ป จำกัด คืนเข้าสู่ทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246(6)

ผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาว่า ผู้ร้องไม่ได้บรรยายในคำร้องขอว่าการที่นายทะเบียนบริษัทขีดชื่อบริษัท เอ.อาร์.เอส.พี.กรุ๊ป จำกัด ออกจากทะเบียนทำให้ผู้ร้องไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246(6)นั้น เห็นว่า ตามคำร้องขอของผู้ร้องระบุไว้ชัดแจ้งว่า การที่นายทะเบียนบริษัทขีดชื่อบริษัท เอ.อาร์.เอส.พี.กรุ๊ป จำกัด ออกเสียจากทะเบียนทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียหายโดยไม่เป็นธรรม คำร้องขอของผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว ที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาอีกว่า การขีดชื่อบริษัทดังกล่าวออกจากทะเบียนจะถือว่าบริษัทเป็นอันเลิกกันตั้งแต่เมื่อโฆษณาแจ้งความในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ผู้ร้องมิได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าได้มีการลงโฆษณาดังกล่าวแล้วจึงฟังไม่ได้ว่าบริษัท เอ.อาร์.เอส.พี.กรุ๊ป จำกัด เป็นอันเลิกแล้ว จึงกลับจดชื่อบริษัทดังกล่าวคืนเข้าสู่ทะเบียนไม่ได้นั้น เห็นว่า ฎีกาข้อดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาสั่งและวางข้อกำหนดให้บริษัท เอ.อาร์.เอส.พี.กรุ๊ปจำกัด ไม่ต้องทำบัญชีงบดุล ตรวจสอบบัญชี ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นและหน้าที่อื่นตามกฎหมายนั้น เห็นว่า การที่ศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ต้องเพื่อความยุติธรรมและโดยจุดประสงค์เพื่อจัดให้บริษัทเข้าสู่ฐานอันใกล้ที่สุดกับฐานเดิมเสมือนดั่งว่าบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย หาใช่สั่งและวางข้อกำหนดให้บริษัทหลุดพ้นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติไม่ จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะสั่งและวางข้อกำหนดดังกล่าว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share