คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยโดยเจตนาทุจริตรู้อยู่แล้วว่าไม่มีเงินในบัญชีพอจ่าย ได้บังอาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คหมายความว่ามีเจตนาทุจริตในการสั่งจ่ายเช็ค ไม่มีทางที่จะแปลได้เลยว่ามีเจตนาทุจริตในการห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็ค คำฟ้องเช่นนี้จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด เพราะปรากฏว่าจำเลยได้มีคำสั่งห้ามธนาคารมิให้จ่ายเงินตามเช็ค แม้โจทก์จะอ้างถึงกฎหมายและมาตราในกฎหมายมาในฟ้องหรือนำสืบไว้ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าจำเลยได้มีคำสั่งห้ามธนาคารมิให้จ่ายเงินตามเช็ค แต่โจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้องว่าจำเลยห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริต ถือได้ว่าโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕) ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า “จำเลยโดยเจตนาทุจริตรู้อยู่แล้วว่าไม่มีเงินในบัญชีพอจ่าย ได้บังอาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ค…” หมายความว่าเป็นเจตนาทุจริตในการห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คมิใช่เป็นเจตนาทุจริตในการออกเช็คและโจทก์ได้นำสืบแล้วว่าในวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับนั้นเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่าย จึงแสดงว่าการห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินนั้นจำเลยกระทำโดยเจตนาทุจริตแล้ว
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำบรรยายฟ้องของโจทก์ตามที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้นอ่านเข้าใจได้ชัดแจ้งว่า จำเลยได้บังอาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คโดยเจตนาทุจริต ซึ่งหมายความว่ามีเจตนาทุจริตในการสั่งจ่ายเช็ค ไม่มีทางที่จะแปลได้เลยว่ามีเจตนาทุจริตในการห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คได้ดังที่โจทก์ฎีกา คำฟ้องเช่นนี้จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด แม้โจทก์จะอ้างถึงกฎหมายและมาตราในกฎหมายมาในฟ้องก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ส่วนที่โจทก์อ้างงว่าได้นำสืบว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบหาใช่เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องไม่ จะนำมาประกอบคำฟ้องของโจทก์ให้สมบูรณ์ขึ้นมิได้
พิพากษายืน

Share