คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 517/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำร้องของ ทนายโจทก์ที่ขอถอนตนเองจากการเป็นทนาย มิได้กล่าวว่าทนายโจทก์ได้แจ้งให้ตัวความทราบแล้วหรือหาตัวความไม่พบถือได้ว่าทนายโจทก์มิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลถึงเหตุดังกล่าวตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 65 วรรคแรกประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 17 บังคับไว้ จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ ไม่มีเหตุที่ศาลต้องอนุญาตให้ทนายถอนตัว การสั่งคำร้องของ ทนายโจทก์ที่ขอถอนตัวจากการเป็นทนายและขอเลื่อนคดี เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณานอกจากการนั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ผู้พิพากษาศาลภาษีอากรคนใดคนหนึ่งมีอำนาจกระทำหรือออกคำสั่งดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 16 ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 20 ได้กำหนดไว้ว่า ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณาคดี ณ สถานที่ใด หรือในวันเวลาใด ๆก็ได้ตามที่เห็นสมควร การที่ศาลภาษีอากรกลางจดรายงานกระบวนพิจารณาการชี้สองสถานมาอ่านให้คู่ความฟังที่หน้าห้องโดยมิได้ขึ้นนั่งพิจารณาบนบัลลังก์ก็ชอบด้วยข้อกำหนดดังกล่าว การที่ผู้พิพากษาคนเดียวทำการชี้สองสถานไม่ครบองค์คณะโจทก์มิได้คัดค้านในขณะนั้นถือว่าไม่ติดใจคัดค้านในเรื่ององค์คณะ จึงยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ไม่ได้ ศาลภาษีอากรกลางทำการชี้สองสถานโดยนำข้ออ้างข้อเถียงที่ปรากฏในคำคู่ความเทียบกันดูแล้ว กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบโดยศาลมิได้สอบถามคู่ความถึงข้ออ้างข้อเถียงว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้างข้อเถียงนั้นอย่างไร ถ้าเป็นกรณีที่ไม่จำต้องสอบถามเนื่องจากเป็นข้อที่คู่ความโต้แย้งกันในคำฟ้องและคำให้การโดยตรงอยู่แล้ว การชี้สองสถานนั้นก็ชอบด้วยข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 12

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้สั่งซื้อเหล็กเส้นข้ออ้อย ซึ่งเป็นสินค้าประเภทท่อนเหล็กหรือเหล็กกล้าสำหรับเสริมคอนกรีต อันเป็นสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศภาคีอาเซียน เรื่องการให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร ที่ให้ลดอัตราอากรขาเข้าแก่ของบางประเภทที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศภาคี โดยสินค้าประเภทนี้ได้รับสิทธิพิเศษเรียกเก็บอัตราอากรขาเข้าลดลงเหลือร้อยละ 50 ของอัตราอากรที่เรียกเก็บ โจทก์สั่งซื้อเหล็กเส้นข้ออ้อยน้ำหนัก 3,014,640.20 กิโลกรัม จากประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน มาถึงประเทศไทย ในวันที่ 28กรกฎาคม 2532 จำเลยคิดอากรขาเข้าเป็นเงิน 2,885,833 บาท หากได้รับการลดหย่อนอากรขาเข้าตามข้อตกลงดังกล่าว ก็ชำระอากรขาเข้าเพียง 1,442,916.50 บาท แต่โจทก์ยังไม่ได้รับใบรับรองเมืองกำเนิดสินค้าจากประเทศอินโดนีเซีย โจทก์จึงได้ชำระอากรสินค้าขาเข้าเต็มจำนวนเป็นเงิน 2,885,833 บาท โดยขอสงวนสิทธิในการขอรับคืนอากรขาเข้าตามสิทธิพิเศษจำนวน 1,442,916.50 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2532 โจทก์ได้รับใบรับรองเมืองกำเนิดสินค้าจากประเทศอินโดนีเซีย โจทก์ขอรับคืนอากรตามสิทธิพิเศษดังกล่าวแต่จำเลยก็ไม่ยอมคืน จึงต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินจำนวน 1,442,916.50 บาท นับแต่วันที่ 4 สิงหาคม2532 จนถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 207,418.50 บาท รวมเงินต้นเป็นเงิน1,650,335 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,650,335 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินจำนวน1,442,916.50 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ผู้ที่จะได้รับสิทธิพิเศษตามความตกลงว่าด้วยการให้สิทธิพิเศษทางการค้าของอาเซียนนั้นจะต้องปฏิบัติตามกฎข้อ 12 หมวดการยื่นหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าว่า”ต้นฉบับหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าและสำเนาฉบับที่สองที่อยู่ในซองปิดผนึกประทับตราของหน่วยราชการผู้ออก จะต้องยื่นต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรในเวลาที่ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าสำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องนั้น” โดยผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามประกาศกรมศุลกากรที่ 36/2520 เรื่อง ระเบียบพิธีการเกี่ยวกับใบรับรองเมืองกำเนิดสินค้าเพื่อสิทธิพิเศษของอาเซียนข้อ 2 หมวด ก. การนำของเข้าซึ่งกำหนดว่า “ผู้นำของเข้าต้องยื่นใบรับรองเมืองกำเนิดสินค้าพร้อมกับการยื่นใบขนสินค้าขาเข้า” จึงจะได้สิทธิพิเศษทางการค้าดังกล่าว แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตาม โดยโจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้านำสินค้าเข้ามาในประเทศไทย ผ่านพิธีการศุลกากรสมบูรณ์แล้วโดยโจทก์มิได้ยื่นหนังสือรับรองเมืองกำเนิดสินค้าพร้อมกับการยื่นใบขนสินค้าขาเข้า โจทก์จึงไม่ได้สิทธิพิเศษทางการค้าดังกล่าวและไม่อาจขอสงวนสิทธิในการขอรับอากรขาเข้าที่ได้ชำระโดยชอบแล้วคืน ขอให้ยกฟ้อง
ในชั้นชี้สองสถาน ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยจะต้องคืนเงินค่าอากรขาเข้าและดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด และศาลจดรายงานกระบวนพิจารณาในการชี้สองสถานต่อไปว่า ประเด็นดังกล่าวโจทก์กล่าวอ้างจำเลยปฏิเสธภาระในการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ แต่เมื่อตรวจสำนวนแล้วปรากฏว่าโจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้รับฟัง ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 8 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87, 88 กรณีจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องสืบพยานโจทก์ต่อไป ให้งดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษา ปรากฏตามรายงานกระบวนการพิจารณา ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2534
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปัญหาแรกตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า คดีมีเหตุควรให้ทนายโจทก์ถอนตัวจากการเป็นทนายและเลื่อนการชี้สองสถานหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของทนายโจทก์กล่าวเพียงว่าทนายโจทก์กับโจทก์มีความเห็นทางคดีไม่ตรงกันและโจทก์ไม่ชำระค่าทนายความตามที่ตกลงกันไว้ จึงขอถอนตัวจากการเป็นทนาย โดยมิได้กล่าวในคำร้องว่า ทนายโจทก์ได้แจ้งให้ตัวความทราบแล้ว หรือหาตัวความไม่พบ อันถือได้ว่าทนายโจทก์มิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลถึงเหตุดังกล่าวตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 65 วรรคแรก ประกอบพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลภาษีอากร และวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 17 บังคับไว้ จึงเป็นคำร้องขอถอนตัวจากการตั้งแต่งให้เป็นทนายความที่ไม่ชอบไม่มีเหตุที่ศาลต้องอนุญาตให้ทนายถอนตัว และศาลไม่มีหน้าที่ต้องคอยระวังความเสียหายให้โจทก์จากการกระทำที่มิชอบของทนายความที่โจทก์เป็นผู้แต่งตั้งเข้ามาเองดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ ทั้งการที่ศาลจะอนุญาตให้ทนายคู่ความถอนตัวหรือไม่ หรือแม้ทนายของคู่ความหรือตัวความไม่มาศาลในวันชี้สองสถาน ศาลก็อาจทำการชี้สองสถานไปได้ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 13 โดยไม่จำต้องเลื่อนการชี้สองสถานออกไป ส่วนที่ศาลสั่งคำร้องของ ทนายโจทก์ที่ขอถอนตัวจากการเป็นทนายและขอเลื่อนคดีเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณานอกจากการนั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ที่ผู้พิพากษาศาลภาษีอากรคนใดคนหนึ่งมีอำนาจกระทำ หรือออกคำสั่งได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 16ที่ศาลภาษีอากรกลางสั่งยกคำร้องทั้งสองของทนายโจทก์นั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า ศาลได้ดำเนินการชี้สองสถานโดยชอบหรือไม่ โดยโจทก์โต้แย้งว่าศาลภาษีอากรกลางทำการชี้สองสถานโดยผู้พิพากษาคนเดียวนำรายงานกระบวนพิจารณามาอ่านให้คู่ความฟังโดยมิได้ขึ้นนั่งพิจารณา ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 20 ได้กำหนดไว้ว่า ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณาคดี ณ สถานที่ใด หรือในวันเวลาใด ๆ ก็ได้ตามที่เห็นสมควร แม้คดีนี้ศาลภาษีอากรกลางจะจดรายงานกระบวนพิจารณาการชี้สองสถานมาอ่านให้คู่ความฟังที่หน้าห้องโดยมิได้ขึ้นนั่งพิจารณาบนบัลลังก์ก็ชอบด้วยข้อกำหนดดังกล่าว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ผู้พิพากษาคนเดียวทำการชี้สองสถานไม่ครบองค์คณะนั้น ในข้อนี้โจทก์มิได้คัดค้านในขณะนั้น ถือว่าไม่ติดใจคัดค้านในเรื่ององค์คณะ จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ ส่วนที่โจทก์ว่าการชี้สองสถานศาลภาษีอากรกลางมิได้นำข้ออ้างข้อเถียงที่ปรากฏในคำคู่ความเทียบกันดูและสอบถามคู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้างข้อเถียงว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้างข้อเถียงนั้นอย่างไรนั้น คดีนี้ศาลภาษีอากรกลางได้ทำการชี้สองสถานโดยนำข้ออ้างข้อเถียงที่ปรากฏในคำคู่ความเทียบกันดูแล้ว มิฉะนั้นศาลจะกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบไม่ถูก ส่วนที่ศาลมิได้สอบถามคู่ความถึงข้ออ้างข้อเถียงว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้างข้อเถียงนั้นอย่างไร ก็เพราะเห็นว่าไม่จำต้องสอบถามเนื่องจากเป็นข้อที่คู่ความโต้แย้งกันในคำฟ้องและคำให้การโดยตรงอยู่แล้ว การชี้สองสถานของศาลภาษีอากรกลาง ได้ดำเนินการโดยชอบตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 12 แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share