คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2323/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง แต่เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพื่อให้คดีดังกล่าวเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมโดยระบุว่าเป็นเงินช่วยเหลือซึ่งไม่แน่ชัดว่าเป็นเงินตามฟ้องประเภทใด จึงมิใช่ค่าชดเชยเพราะนอกจากจะไม่ได้ระบุแล้วยังไม่ปรากฏว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดอันจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชย จึงไม่ได้รับยกเว้นรัษฎากรตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126(พ.ศ. 2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 217(พ.ศ. 2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2(51)
การที่จำเลยจ่ายเงินช่วยเหลือแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมก็เพราะถูกโจทก์ฟ้องเรียกร้องเงินอันเนื่องมาจากการที่จำเลยกับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้มาเนื่องจากการจ้างแรงงานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) จึงเป็นเงินได้พึงประเมินเมื่อไม่เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 42 จำเลยผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ประกอบด้วยมาตรา 3 จตุทศ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยฟ้องขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเท่ากับก่อนที่จะมีการเลิกจ้าง ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 106.24 บาท และค่าจ้างอัตราเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่โจทก์ได้รับในช่วงระหว่างที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ขอให้จำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน238,650 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน39,775 บาท พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มตามกฎหมาย และค่าเสียหายจำนวน 2,386,500 บาท นอกจากนี้ให้จำเลยชำระค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 3 วัน เป็นเงิน3,977.49 บาท แก่โจทก์ ระหว่างพิจารณาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าจำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่โจทก์จำนวน 299,305 บาท โดยจำเลยจะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาวางศาลเพื่อให้โจทก์รับไปจากศาลภายในวันที่ 8มีนาคม 2543 หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีทันที ซึ่งโจทก์ตกลงและไม่ติดใจเรียกร้องอื่นใดอีก ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยชำระเงินให้โจทก์ไม่ครบตามคำพิพากษา โดยหักภาษี ณ ที่จ่ายจากจำนวนเงินตามคำพิพากษาเป็นเงิน 13,431 บาท นำส่งกรมสรรพากรแล้ว ซึ่งโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิหักภาษีณ ที่จ่ายดังกล่าว เพราะเงินตามคำพิพากษาเป็นเงินค่าชดเชยได้รับยกเว้นรัษฎากรในส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายแต่ไม่เกินสามแสนบาทตามกฎกระทรวงฉบับที่ 217 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำเลยแถลงว่าการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นไปตามกฎหมายแล้ว นอกจากนี้จำเลยยังได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรแล้วว่าหากการหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีสิทธิเรียกภาษีที่หักไว้คืนได้โดยยื่นคำร้องขอต่อกรมสรรพากรภายหลัง

ศาลแรงงานกลาง เห็นว่า เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ในศาลตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเงินซึ่งจำเลยจ่ายให้โจทก์ในกรณีที่โจทก์และจำเลยสมัครใจระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยศาลยังไม่ได้ชี้ขาดว่าฝ่ายใดผิดหรือถูก มิใช่กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ดังนั้นเงินดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าชดเชย จำเลยจึงต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินที่ต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้วปรากฏว่าเงินจำนวน 299,305 บาทที่จำเลยยอมจ่ายให้โจทก์นั้นไม่ได้ระบุไว้แน่ชัดว่าเป็นเงินตามฟ้องประเภทใดเป็นแต่เพียงระบุว่าเป็นเงินช่วยเหลือ และเมื่อตรวจดูคำฟ้องแล้วปรากฏว่านอกจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยจำนวน238,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม แล้วยังฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 39,775 บาทพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายจำนวน 2,386,500 บาท ดังนั้นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพื่อให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยระบุว่าเป็นเงินช่วยเหลือดังกล่าวจึงมิใช่ค่าชดเชยหรือพอจะแปลได้ว่าเป็นค่าชดเชยเพราะนอกจากจะไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าชดเชยแล้วยังไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดอันจะมีผลให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแต่อย่างใด เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่ค่าชดเชยจึงไม่ได้รับยกเว้นรัษฎากรตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 217(พ.ศ. 2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2(51) อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็เพราะถูกโจทก์ฟ้องเรียกร้องเงินอันเนื่องมาจากการที่จำเลยกับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างนั่นเอง ถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้มาเนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมินเมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 ดังนั้น จำเลยผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50ประกอบด้วยมาตรา 3 จตุทศ คำสั่งของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share