แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การลดค่ารายปีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 เป็นวิธีการที่กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ในการคำนวณภาษีกรณีโรงเรือนถูกทำลาย และยังมิได้ทำขึ้นใหม่เท่านั้น จะตีความเลยไปว่ากฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ถึงกำหนดการยื่นรายการเพื่อชำระภาษีด้วยไม่ได้ เพราะตามบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นกรณีทรัพย์ถูกทำลายแล้ว ซ่อมเสร็จในทันใดก็จะลดค่ารายปีลง ดังนั้นการยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในปีใดก็เพื่อเสียภาษีในปีนั้น เมื่อปรากฏว่าโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ปิดไว้และงดใช้ประโยชน์ตลอดปีภาษีและโรงเรือนที่โจทก์รื้อถอนไปแล้วก่อนปีภาษี โจทก์ย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินดังที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 9(5) บัญญัติไว้ การประเมินให้โจทก์เสียภาษีสำหรับโรงเรือนดังกล่าวจึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ โรงเรือนที่ใช้เป็นโรงงานในการประกอบอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการกำหนดค่ารายปีจึงไม่อาจนำดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจซึ่งเป็นค่าเช่าบ้านที่อยู่อาศัยมาเทียบเคียงได้เพราะเป็นโรงเรือนคนละประเภท เมื่อไม่ได้ความว่า จำเลยกำหนดค่ารายปีโดยไม่ได้คำนึงถึงค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 แล้ว การ กำหนดค่ารายปี ตลอดจนการคำนวณภาษีของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะชี้ขาดการประเมิน เมื่อผู้รับประเมินยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ การที่จำเลยที่ 2 ชี้ขาดว่าการประเมินชอบแล้ว ให้โจทก์ชำระภาษีตามที่มีการประเมิน จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและเมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 แกล้งชี้ขาดให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ค่าภาษีที่โจทก์ชำระก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับไว้ จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 รับผิดคืนภาษีที่จำเลยที่ 1 รับชำระไว้ต่อโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของพนักงานเจ้าหน้าที่ และคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนภาษีโรงเรือนประจำปี พ.ศ. 2526 และ2527 จำนวน 1,180,570.09 บาท จำเลยให้การว่า การประเมินชอบแล้วศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลดหย่อนค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี พ.ศ. 2526 และ 2527 บางรายการ และให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับโรงเรือนดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนภาษีจำนวน 227,118.74 บาทแก่โจทก์ โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินบางรายการของปี พ.ศ. 2527 รวมเป็นเงิน233,735.80 บาท ลงอีก และเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2เฉพาะที่เกี่ยวกับจำนวนภาษีดังกล่าว และยกฟ้องสำหรับค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2526 บางรายการ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาว่าโจทก์จะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนที่โจทก์ปิดไว้ และรื้อถอนไปในระหว่างปีในปีถัดไปหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช2475 บัญญัติให้ผู้รับประเมินชำระภาษีปีละครั้ง และตามมาตรา 11หากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างถูกรื้อถอนหรือทำลาย ก็ให้ลดหย่อนค่ารายปีของทรัพย์สินนั้นลงตามส่วนที่ถูกทำลายตลอดเวลาที่ยังไม่ได้ทำขึ้น เห็นได้ว่าการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีตามกฎหมายนั้นเป็นการยื่นรายการเพื่อเสียภาษีในปีที่ผ่านมาหาใช่ในปีที่ยื่นไม่นั้น เห็นว่า การลดค่ารายปีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 เป็นวิธีการที่กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ในการคำนวณภาษีโรงเรือนถูกทำลายและยังมิได้ทำขึ้นใหม่เท่านั้น จะตีความเลยไปว่า กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ถึงกำหนดการยื่นรายการเพื่อชำระภาษีด้วยไม่ได้เพราะตามบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นกรณีทรัพย์ถูกทำลายแล้วซ่อมเสร็จในทันใดก็จะลดค่ารายปีลง ในการยื่นรายการเพื่อเสียภาษีในปีต่อมาทำนองที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยไม่ได้ ดังนั้น การยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในปีใดก็เพื่อเสียภาษีในปีนั้นดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นแบบอย่างแล้ว ตามคำพิพากษาฎีกาที่726/2490 ระหว่าง นายอโนทัย กัลยางกูร กับพวก โจทก์เทศบาลเมืองพนัสนิคม กับพวก จำเลย เมื่อในปี 2526 และ 2527ที่โจทก์ยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีปรากฏว่ามีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ปิดไว้และงดใช้ประโยชน์ตลอดปีภาษีดังกล่าวมาแล้ว โจทก์ย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินดังที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475มาตรา 9(5) บัญญัติไว้ และเมื่อไม่มีเรือนพักคนครัว โรงรถบ้านพักรับรองและสถานพยาบาล โรงเรือนอันดับที่ 53, 54 และ 65เพราะโจทก์รื้อถอนเสียในปี 2526 ดังที่ได้กล่าวแล้วจึงไม่มีโรงเรือนดังกล่าวให้จำเลยกำหนดค่ารายปีและประเมินให้โจทก์เสียภาษีในปี 2527 ดังนั้นการประเมินให้โจทก์เสียภาษีสำหรับโรงเรือนที่โจทก์ปิดไว้ตลอดปี และโรงเรือนที่โจทก์รื้อถอนไปแล้วก่อนปีภาษี จึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ จำเลยจึงต้องคืนค่าภาษีสำหรับโรงเรือนเหล่านี้รวม 314,176.20 บาท ที่จำเลยรับไว้ให้โจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ในปัญหานี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาให้บังคับจำเลยคืนค่าภาษีสำหรับโรงเรือนลำดับที่75 ซึ่งเป็นอาคาร 5 ชั้น เฉพาะชั้นที่ 5 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคืนให้โจทก์ 2,775 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ใช้ชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 4 เป็นสำนักงานของโจทก์ส่วนชั้นที่ 5 โจทก์ให้บริษัทในเครือและนิติบุคคลอื่นใช้เป็นสำนักงานศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้เสียภาษีโรงเรือนสำหรับอาคารชั้นที่ 1-4 โจทก์มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหานี้แสดงว่าโจทก์พอใจค่ารายปีที่จำเลยกำหนดข้อเท็จจริงตามฟ้อง ปรากฏว่าค่ารายปีของชั้นที่ 5 ได้มาจากการถัวเฉลี่ยค่ารายปีของตึกทั้ง 5 ชั้นค่ารายปีของชั้นที่ 5 จึงเท่ากับค่ารายปีของชั้นอื่น ๆ ที่โจทก์พอใจแล้วจึงไม่มีเหตุที่จะลดหย่อนค่ารายปีชั้นที่ 5 ลงอีก ดังที่โจทก์ฎีกา
ที่โจทก์ฎีกาว่า การกำหนดค่ารายปีโรงเรือนลำดับที่ 13หม้อบดปูน 8 ปี ที่ 18 สายพานลำเลียงปูนเม็ด และที่ 45 หม้อบดปูน4, 5 และ 7 ของปีภาษี 2526 สูงเกินไปนั้น โจทก์นำสืบว่าการประเมินค่ารายปีโรงเรือนที่กล่าวนี้ของจำเลยในปี 2526ปรากฏว่าสูงกว่าค่ารายปีของปี 2525 ประมาณร้อยละ 16 ในขณะที่ภาวะค่าครองชีพและภาวะเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.4 ดังนี้หากกำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้นตามภาวะค่าครองชีพและเศรษฐกิจแล้วจำเลยจะต้องคืนภาษีให้โจทก์ตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนจำเลยนำสืบว่าการกำหนดค่ารายปีโรงเรือนข้างต้นนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินโดยเทียบเคียงกับโรงเรือนขององค์การทอผ้าทหารและของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นโรงเรือนประเภทอุตสาหกรรมหนักเหมือนกัน การกำหนดค่ารายปีจึงชอบแล้ว
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โรงเรือนอันดับที่ 13 ที่ 18และที่ 45 ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.21 เป็นโรงเรือนที่ใช้เป็นโรงงานในการประกอบอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ จึงไม่อาจนำดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจซึ่งเป็นค่าเช่าบ้านที่อยู่อาศัยมาเทียบเคียงในการกำหนดค่ารายปีดังที่โจทก์นำสืบได้เพราะเป็นโรงเรือนคนละประเภทเมื่อไม่ได้ความว่า จำเลยกำหนดค่ารายปีโดยไม่ได้คำนึงถึงค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้ว เป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช 2475 แล้วการกำหนดค่ารายปีตลอดจนการคำนวณค่าภาษีของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในปัญหานี้ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ฎีกาโจทก์ข้อสุดท้ายเกี่ยวกับการกำหนดค่ารายปีโรงเรือนลำดับที่ 62 ห้องทดลองในโรงงานปี 2526 ว่าชอบหรือไม่นั้น โจทก์นำสืบว่าตามดัชนีค่าครองชีพของทางราชการซึ่งรวมถึงราคาค่าเช่าบ้านระหว่างปี 2522-2526 เพิ่มขึ้นร้อยละ 81 ส่วนจำเลยนำสืบว่าจำเลยประเมินค่ารายปีโรงเรือนรายการนี้ตามอัตราปกติ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า จำเลยกำหนดค่ารายปีสำหรับโรงเรือนรายนี้ปี 2526 สูงกว่าปี 2522 ในอัตราร้อยละ403.52 ซึ่งหากกำหนดค่ารายปีสูงขึ้นในอัตราร้อยละ 81 ดังที่โจทก์นำสืบ จำเลยจะต้องคืนภาษีสำหรับโรงเรือนรายการนี้ให้โจทก์3,876 บาท ปัญหาว่าการกำหนดค่ารายปีของจำเลยข้างต้นชอบหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.31 ห้องทดลองในโรงงานของโจทก์มีสภาพเช่นเดียวกับโรงเรือนที่อยู่อาศัย คดีได้ความจากนายประดิษฐ์ เจียมจันทร์ พยานจำเลยว่าโจทก์จำเลยพิพาทกันเกี่ยวกับภาษีโรงเรือนตั้งแต่ปีภาษี 2523 ตลอดมาจึงไม่แน่ว่าค่ารายปี ปี 2523 ถึง 2525 จะถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นการกำหนดค่ารายปี ปี 2526 จึงจำเป็นต้องอาศัยค่ารายปี ปี 2522เป็นฐานเมื่อจำเลยกำหนดค่ารายปีในอัตราที่เพิ่มถึงร้อยละ 403.52ดังกล่าวข้างต้นในขณะที่ดัชนีค่าครองชีพสูงขึ้นเพียงร้อยละ 80 เศษค่ารายปีที่จำเลยกำหนดจึงสูงเกินสมควร การประเมินภาษีของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงต้องคืนภาษีส่วนที่เรียกเกิน 3,876 บาทให้โจทก์ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในการคืนค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้โจทก์ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จะไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลล่างทั้งสองศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะชี้ขาดการประเมินเมื่อผู้รับประเมินยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ว่าการประเมินนั้นชอบหรือไม่ การที่จำเลยที่ 2 ชี้ขาดว่าการประเมินชอบแล้ว ให้โจทก์ชำระภาษีตามที่มีการประเมิน จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อคดีไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 แกล้งชี้ขาดให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ค่าภาษีที่โจทก์ชำระก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับไว้ จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดคืนค่าภาษีที่จำเลยที่ 1 รับชำระไว้ต่อโจทก์ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนที่ปิดไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตลอดจนโรงเรือนที่รื้อถอนในปีภาษี 2526, 2527 กับโรงเรือนที่เป็นห้องทดลองในโรงงานสำหรับปีภาษี 2526 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีโรงเรือนเกี่ยวกับโรงเรือนที่กล่าว 318,052.20 บาทให้โจทก์ ฟ้องโจทก์ที่บังคับให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีให้โจทก์ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์