แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายอายุ 17 ปีเศษ ได้หนีตามจำเลยที่ 1 ไปเพื่ออยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีภริยาอยู่ก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ถือว่าเป็นการพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 และเมื่อได้ความว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์เต็มใจหนีตามจำเลยที่ 1 ไปด้วยเพื่ออยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 276, 284, 310, 318, 91, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางโน้ม มารดาของนางสาวนิตยา ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก และจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 318 วรรคสาม, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 8 ปี ฐานร่วมกันพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำคุกคนละ 1 ปี และฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 6 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 17 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 ปี
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ให้มิต้องถูกรับโทษดุจจำเลยที่ 2 ผู้อุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 และสำหรับความของจำเลยที่ 1 ฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก ก็เป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวกันกับความผิดฐานอื่น จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า นางสาวนิตยาหรือแมวเป็นบุตรสาวของโจทก์ร่วมกับนายวิไล เกิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2521 ซึ่งคำนวณอายุถึงวันเกิดเหตุวันที่ 4 กรกฎาคม 2539 มีอายุ 17 ปี 6 เดือน และอยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์ร่วม คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะที่ผู้เสียหายอยู่กับจำเลยที่ 1 ที่อำเภอสวี จำเลยกับพวกได้นำผู้เสียหายไปที่บ้านของผู้ใหญ่บ้านและมีการทำบันทึกข้อความกันไว้ตามบันทึกประจำวัน ซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจดูบันทึกฉบับดังกล่าวแล้วมีข้อความระบุว่าผู้เสียหายได้มากับจำเลยที่ 1 ด้วยความเต็มใจ และมิได้บังคับขู่เข็ญและคนทั้งสองได้พากันมาพบผู้ใหญ่บ้านเพื่อแจ้งความและลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน ซึ่งความข้อนี้แม้ผู้เสียหายจะเบิกความปฏิเสธความถูกต้องของข้อความในบันทึกดังกล่าวว่าผู้เสียหายถูกจำเลยกับพวกขู่เข็ญบังคับระหว่างนั่งรถไปกับจำเลยที่ 1 ว่า ผู้เสียหายถูกข่มขู่ว่าให้บอกผู้ใหญ่บ้านว่ามาด้วยความเต็มใจกับจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ผู้เสียหายก็เพียงแต่เบิกความกล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกข่มขู่ผู้เสียหายอย่างไร และมีการใช้อาวุธอะไรในการข่มขู่ก็ไม่ปรากฏ ซึ่งความข้อนี้ฝ่ายจำเลยกลับนำนายประภาส ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลควน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร มาเบิกความรับรองว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2539 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา ขณะที่พยานอยู่ที่บ้าน ได้มีนายชุ่ม เพื่อนบ้านพาจำเลยที่ 1 และผู้เสียหายมาที่บ้านพยาน แจ้งความประสงค์ว่าต้องการแจ้งให้พยานทราบว่าคนทั้งสองได้หนีตามกันมา พยานจึงสอบถามผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายยอมรับว่าได้หนีตามจำเลยที่ 1 มาจริงและด้วยความสมัครใจ ขณะที่สอบถามนั้นผู้เสียหายไม่ได้มีลักษณะถูกขู่เข็ญบังคับแต่อย่างใด พยานจึงจัดให้มีการบันทึกข้อความไว้ หลังจากวันดังกล่าวประมาณ 7 วัน พยานไปตลาดนัดในหมู่บ้านก็ได้พบผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 อีกครั้งหนึ่ง บุคคลทั้งสองกำลังซื้อกับข้าวอยู่ มีลักษณะยิ้มแย้มแจ่มใส ซึ่งก็สอดคล้องกับคำเบิกความของดาบตำรวจสมบูรณ์ พยานผู้จับจำเลยที่ 1 ที่เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ว่า ขณะที่โจทก์ร่วมพาพยานไปพบผู้เสียหายที่บ้านของจำเลยที่ 1 พยานเห็นผู้เสียหายบุตรสาวของโจทก์ร่วมมีสภาพปกติดี และบ้านที่พบผู้เสียหายนั้นไม่มีรั้วบ้าน ผู้เสียหายสามารถไปไหนมาไหนก็ได้ พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมดังที่ได้วินิจฉัยมา จึงมีข้อพิรุธและขัดต่อเหตุผลไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดจริงดังที่ผู้เสียหายเบิกความ แต่กลับรับฟังได้เจือสมพยานจำเลยว่า ผู้เสียหายได้หนีตามจำเลยที่ 1 ไปเพื่ออยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบจริง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีภริยาอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดฐานร่วมกันพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 284 และเมื่อได้ความจากการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อตามข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์เต็มใจหนีตามจำเลยที่ 1 ไปด้วย เพื่ออยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.