คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 422/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีเดิมเป็นเรื่องเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศและเหตุเกิดระหว่าง พ.ศ.2513 คดีนี้เป็นเรื่องเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในต่างประเทศ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ต้นฉบับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสมุดทะเบียนส่วนกลางของต่างประเทศเจ้าหน้าที่ของประเทศนั้นรับรองสำเนา สถานทูตไทยส่งสำเนานั้นมา ฟังสำเนานั้นเป็นพยานหลักฐานได้

ย่อยาว

เครื่องหมายการค้าของโจทก์ “LEVI’S” ใช้กับเครื่องนุ่งห่ม จำเลยใช้เครื่องหมาย “LEVI’S” ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274, 275 เป็น 2 กระทง จำคุกกระทงละ6 เดือน ปรับ 1,500 บาท โทษจำคุกรอไว้ 2 ปี จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมา 2 ข้อคือ

ก. การรับฟังพยานเอกสารหมาย จ.2, จ.3 ของศาลอุทธรณ์เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ข. ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6207/2513ของศาลแขวงพระนครใต้หรือไม่

สำหรับปัญหาข้อแรก เอกสาร จ.2, จ.3 ที่โจทก์อ้างมานั้น ก็เพื่อแสดงว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ “LEVI’S” นั้นได้จดทะเบียนไว้แล้วที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับปัญหาข้อนี้จำเลยเองก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “LEVI’S” ของโจทก์ไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยให้การในเรื่องนี้แต่เพียงว่าโจทก์จะจดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรหรือไม่จำเลยไม่ทราบเท่านั้นอย่างไรก็ดีโจทก์ก็ได้นำสำเนา คือเอกสาร จ.2, จ.3 ที่สถานทูตไทย และพยานบุคคลประกอบกับรับรองมาแล้ว ฟังได้ชัดเจนว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “LEVI’S” ไว้แล้วที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “LEVI’S” ที่สหรัฐอเมริกาของโจทก์นั้นตามรูปเรื่องน่าเชื่อว่าต้นฉบับจะต้องปรากฏในสมุดทะเบียนเป็นหลักฐานส่วนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปรากฏว่าสำเนาเอกสารหมาย จ.2, จ.3 มีเจ้าหน้าที่ของประเทศสหรัฐอเมริการับรองว่าถูกต้อง ซึ่งสถานฑูตไทยเป็นผู้นำส่งสำเนานั้นมา ดังนี้ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์รับฟังพยานเอกสารดังกล่าวจึงชอบแล้ว

สำหรับปัญหาปรากฏว่า ในคดีก่อนคือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6207/2513ของศาลแขวงพระนครใต้นั้น เหตุเกิดระหว่างวันที่ 12 มกราคม 2513 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2513 แต่คดีนี้เหตุเกิดระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2516 จนถึงวันฟ้องคือวันที่ 22 เมษายน 2517 เห็นได้ว่าเป็นการกระทำคนละกรรมต่างเวลากันประกอบกับมูลเหตุอันเป็นที่ตั้งแห่งความผิดก็ต่างกันคือ คดีก่อนโจทก์ถือเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้กับกรมทะเบียนการค้า กระทรวงเศรษฐการเป็นหลักแห่งข้อหา ส่วนคดีนี้โจทก์ถือเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลักแห่งข้อหา ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน”

พิพากษายืน

Share