แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 หารถยนต์มาเอาประกันภัยกับโจทก์โดยได้รับบำเหน็จตอบแทนในอัตราร้อยละ 12 โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำกรมธรรม์ไปส่งให้แก่ลูกค้าและรับเบี้ยประกันภัยจากลูกค้ามามอบให้โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนของโจทก์แล้วแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนอันมีผลให้การกระทำของทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2534 มาตรา 31(13)และมาตรา 63 ก็ตามก็เป็นเรื่องที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการแก่โจทก์และจำเลยที่ 1แต่ในระหว่างตัวแทนกับตัวการด้วยกัน ตัวแทนจะอ้างบทกฎหมายดังกล่าวเพื่อไม่ต้องรับผิดคืนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับไว้จากลูกค้าของโจทก์หาได้ไม่ และการเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหาใช่การที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่สัญญาตัวแทนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีผลผูกพันบังคับกันได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาและโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
แม้จะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือว่าจำเลยทั้งสองยอมรับผิดชำระเบี้ยประกันแทนลูกค้าให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 เป็นบทบังคับสำหรับกิจการที่ตัวแทนไปทำกับบุคคลภายนอกแทนตัวการเท่านั้น มิได้ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทระหว่างตัวการ กับตัวแทน จำเลยทั้งสองจึงอ้างบทบัญญัติดังกล่าวมิได้และการที่โจทก์ขู่ว่าจะกลั่นแกล้งลูกค้าที่จำเลยที่ 1 หามาเพื่อบังคับให้จำเลยลงชื่อทำสัญญารับสภาพหนี้และค้ำประกันนั้น หาใช่การข่มขู่อันจะมีผลให้การแสดงเจตนาต้องเสียไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ไม่ ทั้งการที่จำเลยที่ 1ได้ชำระหนี้ตามเช็คให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นหนี้อีกรายการหนึ่งตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้และค้ำประกัน ย่อมถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่สมบูรณ์แล้วด้วย จำเลยทั้งสองจะอ้างข่มขู่ให้พ้นความรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบกิจการร่วมกันในการจัดหารถยนต์ของบุคคลทั่วไปเข้ามาประกันวินาศภัยกับโจทก์ โดยโจทก์จะจ่ายค่าบำเหน็จให้ และจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ติดตามเก็บรวมรวมเบี้ยประกันภัยรถยนต์เพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์หากเรียกเก็บไม่ได้จำเลยทั้งสองต้องดำเนินการยกเลิกการประกันภัย มิฉะนั้นจำเลยทั้งสองจะเป็นผู้ชดใช้เงินดังกล่าวแทน ในระหว่างปี 2534 ถึงปี 2537 จำเลยทั้งสองค้างชำระเงินแก่โจทก์ 5,636,482 บาท จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวให้โจทก์โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อถึงกำหนดชำระเงินโจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอบังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันชำระเงิน 6,092,805 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 5,636,482 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะการรับประกันวินาศภัยจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยต้องจดทะเบียนเป็นตัวแทนหรือนายหน้าที่กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ จึงสามารถแนะนำชี้ช่องหาลูกค้ามาทำประกันภัยกับโจทก์ได้หากบุคคลใดยังไม่มีใบอนุญาตเป็นตัวแทนหรือนายหน้าก็ไม่มีสิทธิหาลูกค้ามาทำประกันภัยกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นตัวแทนหรือนายหน้าของโจทก์เพราะไม่ได้จดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนจากกรมการประกันภัย จำเลยที่ 1ไม่เคยตกลงเป็นตัวแทนหาประกันภัยให้โจทก์ และไม่ได้เป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยตามฟ้องจำเลยทั้งสองถูกบังคับให้ทำหนังสือรับสภาพหนี้และค้ำประกันกับโจทก์ หากไม่ยอมทำโจทก์จะกลั่นแกล้งโดยบิดพลิ้วกับลูกค้าที่จำเลยที่ 1 หามาประกันภัย หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 5,636,482 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์เป็นบริษัทรับประกันวินาศภัย จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัย จำเลยที่ 1 กระทำการเป็นตัวแทนหารถยนต์มาประกันภัยกับโจทก์ตั้งแต่ปี 2532 โดยใช้ชื่อบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล โบรกเกอร์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ มีข้อตกลงกันว่า เมื่อจำเลยที่ 1 หารถยนต์มาเอาประกันภัยกับโจทก์ได้แล้วโจทก์จะออกกรมธรรม์มอบให้จำเลยที่ 1 นำไปให้ผู้เอาประกันภัย และจำเลยที่ 1 จะเก็บเบี้ยประกันภัยมาส่งให้โจทก์ โจทก์จะจ่ายบำเหน็จให้จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 12ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเบี้ยประกันภัย ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2537 โจทก์และจำเลยทั้งสองทำหนังสือขึ้นฉบับหนึ่ง เรียกชื่อว่า หนังสือสัญญารับสภาพหนี้และค้ำประกัน ตามเอกสารหมาย จ.8 มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้เก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์จากลูกค้าของโจทก์ไปหลายราย เมื่อคิดบัญชีแล้วคงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์ 5,636,482 บาท และนอกจากหนี้จำนวนนี้แล้วจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คให้โจทก์เป็นการชำระค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์บางส่วนอีก5 ฉบับ คือ เช็คธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาธัญบุรี ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2537 จำนวนเงิน 537,396 บาท ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2537 จำนวนเงิน 426,427 บาท ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2537 จำนวนเงิน 469,922 บาท ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2537 จำนวนเงิน 614,146 บาท และลงวันที่ 4 กันยายน 2537 จำนวนเงิน 202,285 บาท โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แนะนำให้จำเลยที่ 1 มาเป็นตัวแทนของโจทก์ยอมเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวด้วยหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ตามเช็คทั้ง 5 ฉบับ ดังกล่าวให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่หนี้อีกรายการหนึ่งอันเป็นจำนวนที่โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสองยังมิได้ชำระ
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาข้อแรกและข้อสองว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนให้เป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัย การที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์จึงฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง และเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถกระทำการเป็นตัวแทนของโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาทั้งสองข้อนี้รวมกันไป ในปัญหาดังกล่าวเห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติแล้วว่าจำเลยที่ 1 หารถยนต์มาเอาประกันภัยกับโจทก์โดยได้รับบำเหน็จตอบแทนในอัตราร้อยละ12 โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำกรมธรรม์ไปส่งให้แก่ลูกค้าและรับเบี้ยประกันภัยจากลูกค้ามามอบให้โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนของโจทก์แล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนอันมีผลให้การกระทำของทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มาตรา 31(13) และมาตรา 63 ก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการแก่โจทก์และจำเลยที่ 1 แต่ในระหว่างตัวแทนกับตัวการด้วยกัน ตัวแทนจะอ้างบทกฎหมายดังกล่าวเพื่อไม่ต้องรับผิดคืนเบี้ยประกันที่ได้รับไว้จากลูกค้าของโจทก์ตามสัญญารับสภาพหนี้และค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.8 หาได้ไม่ และการเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหาใช่การที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ สัญญาตัวแทนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีผลผูกพันบังคับกันได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญา และโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ฎีกาสองข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ไม่มีมูลหนี้ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้และค้ำประกัน ตามเอกสารหมาย จ.8 จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองอ้างเหตุแรกว่า ไม่มีข้อตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งยกเลิกกรมธรรม์ของลูกค้าภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ในกรณีที่เก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าไม่ได้แล้ว จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระเบี้ยประกันภัยแทนลูกค้า ในปัญหาข้อนี้แม้โจทก์จะมีคำเบิกความของนายสุวัฒน์ ระดมสุทธิกุล กับนางสาวรรณธนา วงศ์สถิรพิเชษฐ์ ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ประกอบกับคำเบิกความของนายศิริชัย จิตตวานิช ผู้จัดการบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล โบรกเกอร์ จำกัด โดยไม่มีพยานเอกสารใดมานำสืบสนับสนุนก็ตาม แต่ฝ่ายจำเลยก็มีเพียงตัวจำเลยทั้งสองมาเบิกความปฏิเสธเอาลอย ๆ เช่นเดียวกันศาลฎีกาเห็นว่าหากไม่มีข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะต้องให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับสภาพหนี้และให้จำเลยที่ 2 ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.8 ขึ้น เพราะจะเป็นการยุ่งยากแก่โจทก์อย่างมากในการดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่แจ้งยกเลิกกรมธรรม์ทั้งเก็บเบี้ยประกันภัยจากลูกค้ามาแล้วไม่นำเงินส่งให้แก่โจทก์ เนื่องจากจะต้องตรวจสอบและอ้างพยานหลักฐานสำหรับลูกค้าแต่ละรายเมื่อสำรวจเสียก่อนแล้วให้จำเลยทั้งสองรับสภาพหนี้และค้ำประกันไว้ก็ย่อมจะเป็นการสะดวกยิ่งกว่า หนี้ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้และค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 ก็มิได้มีเฉพาะแต่จำนวนที่โจทก์ฟ้องเพียงรายการเดียว แต่ยังมีหนี้ที่ตามเช็คอีก 5 ฉบับ ซึ่งก็มีมูลหนี้มาจากค่าเบี้ยประกันภัยค้างชำระในส่วนทจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสิ้น และจำเลยที่ 1 ก็ได้ชำระหนี้ในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว รับฟังได้มั่นคงว่ามีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเบี้ยประกันภัยแทนลูกค้าอันเป็นมูลหนี้ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้และค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.8 จริง ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 ประกอบมาตรา 798 นั้น เห็นว่าบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 เป็นบทบังคับสำหรับกิจการที่ตัวแทนไปทำกับบุคคลภายนอกแทนตัวการเท่านั้น มิได้ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทระหว่างตัวการกับตัวแทน จำเลยทั้งสองจึงอ้างบทบัญญัติดังกล่าวมิได้และที่จำเลยทั้งสองอ้างเหตุว่าถูกข่มขู่ให้ลงชื่อในหนังสือสัญญารับสภาพหนี้และค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.8 ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองคงอ้างเหตุเพียงว่ายอมลงชื่อในเอกสารดังกล่าวเพราะโจทก์ขู่ว่าจะกลั่นแกล้งลูกค้าที่จำเลยที่ 1 หามาซึ่งเหตุดังกล่าวหาใช่การข่มขู่อันจะมีผลให้การแสดงเจตนาต้องเสียไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ไม่ นอกจากนี้ ยังปรากฏด้วยว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ตามเช็ค 5 ฉบับ แก่โจทก์แล้วอันเป็นหนี้อีกรายการหนึ่งตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้และค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่สมบูรณ์แล้วด้วย จำเลยทั้งสองจะอ้างข่มขู่ให้พ้นความรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน