คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5165/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่กรมสรรพากรโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องแทนบริษัทจำเลยที่ 1ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้ยักยอกทรัพย์ของจำเลยที่ 1ไป เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่โจทก์นั้น มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 7(2)แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากร ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถูกจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1ยักยอกไป โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ จึงขอใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 บังคับให้จำเลยที่ 2 นำเงินที่ยักยอกไปชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แต่ยกฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาในปัญหาที่ว่า การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งยักยอกทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไปชำระค่าภาษีอากรแก่โจทก์เพราะจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องชำระภาษีอากรไม่มีทรัพย์ใด ๆ นั้น เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 หรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปัญหาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นปัญหาการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ ปัญหานี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรโจทก์หรือไม่ อันเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรผ่านพ้นไปแล้ว ฉะนั้น ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ แม้จะเป็นปัญหาต่อเนื่องกับปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรดังที่โจทก์ฎีกาก็หาใช่เป็นปัญหาเดียวกันกับปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรที่ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาคดีชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share