คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 516/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินพิพาททั้ง 9 แปลง เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย โดยได้มาระหว่างสมรส จำเลยไม่ปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าว แต่ต่อสู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีการนำเงินของบริษัท อ. ซื้อไว้โดยใส่ชื่อจำเลยแทน เมื่อที่ดินพิพาททั้ง 9 แปลง เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์และจำเลยได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474
หลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว การที่จำเลยจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่บุตรก็ถือเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินให้บุคคลอื่น ซึ่งแม้จะเป็นบุตรของทั้งโจทก์และจำเลยเองก็เป็นเหตุที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ทำให้เห็นได้ว่าเป็นการโอนทรัพย์สินโดยทุจริตเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดี
คดีนี้ โจทก์ฟ้องและมีคำขอเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินจากจำเลยมาเป็นของโจทก์ จำเลยต่อสู้กรรมสิทธิ์ว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลย แต่จำเลยให้การเพียงว่า เป็นทรัพย์สินของบริษัท อ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลอื่น จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปดำเนินการใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมในโฉนดที่ดินเลขที่ 69534, 88758 และ 88759 ตำบลแสมดำ (บางบอน) อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร โฉนดที่ดินเลขที่ 97009 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร โฉนดที่ดินเลขที่ 50661 และ 50663 ตำบลสันกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และโฉนดที่ดินเลขที่ 2089, 2098 และ 2107 ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ หากจำเลยไม่ไปดำเนินการต่อนายทะเบียนที่ดิน ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปดำเนินการใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมในโฉนดที่ดินเลขที่ 97009 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร โฉนดที่ดินเลขที่ 50661 และ 50663 ตำบลสันกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และโฉนดที่ดินเลขที่ 2089, 2098 และ 2107 ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ หากจำเลยไม่ไปดำเนินการต่อนายทะเบียนที่ดินให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขอนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2529 หลังจากนั้นในปี 2534 ถึงปี 2537 จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดิน 9 แปลง ตามฟ้อง ต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2557 ในระหว่างพิจารณาคดีนี้จำเลยจดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 69534 ตำบลแสมดำ (บางบอน) อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ให้นายภูรินทร์ ตามสำเนาโฉนดที่ดิน ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยจดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 88758 ตำบลแสมดำ (บางบอน) อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ให้นางสาวอารยา และในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยจดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 88759 ตำบลแสมดำ (บางบอน) อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ให้นายภูรินทร์
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินพิพาท 9 แปลง เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องยืนยันว่าที่ดินพิพาท 9 แปลง เป็นสินสมรส ระหว่างโจทก์จำเลย โดยได้มาระหว่างสมรส จำเลยไม่ได้ปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าว แต่ต่อสู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีการนำเงินของบริษัทเอ็น.ซี.วู๊ด เฟอร์นิเจอร์ จำกัด ซื้อไว้โดยใส่ชื่อจำเลยแทน เมื่อที่ดินพิพาททั้ง 9 แปลง เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์ จำเลยได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 จำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยถือไว้แทนบริษัทเอ็น.ซี.วู๊ด เฟอร์นิเจอร์ จำกัด ก็เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอย ๆ ปราศจากข้อเท็จจริงและเหตุผลที่จะสนับสนุนให้เห็นว่าเป็นความจริงตามที่จำเลยต่อสู้ นอกจากนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยแล้ว ในวันที่ 27 มกราคม 2557 จำเลยจดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 69534 ให้แก่ นายภูรินทร์ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 จดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 88758 ให้แก่นางสาวอารยา วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 88759 ให้แก่นายภูรินทร์ อันเป็นข้อเท็จจริงที่ส่อแสดงว่าจำเลยจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์พิพาทไปให้แก่บุคคลอื่น แม้จะเป็นบุตรของโจทก์และจำเลยเองก็เป็นเหตุที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ทำให้เห็นได้ว่าเป็นการโอนทรัพย์สินโดยทุจริตเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดี นอกจากนั้นที่จำเลยต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาททั้ง 9 แปลง จำเลยถือไว้แทนบริษัทเอ็น.ซี.วู๊ด เฟอร์นิเจอร์ จำกัด ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้น่าเชื่อถือ เช่น หลักฐานการประชุมหรือมติที่ประชุมบริษัทว่าเป็นความจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ทั้งเป็นการง่ายที่จะอ้างเช่นนั้นด้วย จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาททั้ง 9 แปลง เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลย
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์นั้น เห็นว่า คดีมีทุนทรัพย์ ได้แก่ คดีที่โจทก์มีคำขอเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินจากจำเลยมาเป็นของโจทก์ โดยจำเลยต่อสู้กรรมสิทธิ์ว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลย แต่จำเลยให้การในคดีนี้เพียงว่าเป็นทรัพย์สินของบริษัทเอ็น.ซี.วู๊ด เฟอร์นิเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลอื่น จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share