คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 516/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

อำนาจฟ้องในคดีนี้เป็นของโจทก์ซึ่งเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างในทางการที่จ้างหรือตัวแทนของจำเลย แต่เนื่องจากโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสกายพิการและสมองได้รับการกระทบกระเทือนจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้จนถึงวันฟ้อง ว. ภริยาโจทก์จึงฟ้องคดีนี้แทนในนามของโจทก์ซึ่งก็ปรากฏตามคำฟ้องว่า ก่อนฟ้องคดีนี้ ว. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และตั้ง ว. เป็นผู้พิทักษ์ แต่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางยังไม่ได้มีคำสั่ง และต่อมาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำสั่งว่า อาการของโจทก์ไม่ใช่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ แต่เข้าลักษณะบุคคลวิกลจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 28 จึงมีคำสั่งว่า โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของ ว. ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นคนวิกลจริตมาตั้งแต่ ว. ยื่นคำร้องขอดังกล่าว ดังนั้น ขณะฟ้องคดีนี้โจทก์จึงเป็นบุคคลวิกลจริตซึ่งถือว่าเป็นผู้ไร้ความสามารถตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 โจทก์จะเสนอข้อหาต่อศาลได้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโดยต้องมีผู้อนุบาลเป็นผู้ทำการแทน แต่ตอนยื่นฟ้องยังไม่มีคำสั่งศาลตั้ง ว. เป็นผู้อนุบาลโจทก์ ว. จึงไม่มีสิทธิทำการแทนเท่ากับโจทก์เสนอข้อหาเอง อันเป็นการบกพร่องในเรื่องความสามารถเท่านั้น มิใช่ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งตั้ง ว. เป็นผู้อนุบาลโจทก์ ว. จึงมีอำนาจที่จะทำการแทนโจทก์ในการเสนอข้อหาของโจทก์ได้ การบกพร่องในเรื่องความสามารถนี้แก้ไขให้บริบูรณ์ได้ตามมาตรา 56 เมื่อได้แก้ไขโดยร้องขอต่อศาลและศาลมีคำสั่งตั้งให้ ว. เป็นผู้อนุบาลมีอำนาจทำการแทนโจทก์แล้ว เหตุบกพร่องในเรื่องความสามารถก็หมดไป ทำให้การฟ้องคดีแทนโจทก์ที่บกพร่องมาแต่ต้นเป็นอันสมบูรณ์ด้วยการแก้ไขนี้แล้ว
จำเลยทำละเมิดแก่โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสกายพิการ สมองได้รับความกระทบกระเทือนจนศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ เสียความสามารถประกอบการงานอย่างสิ้นเชิงทั้งในปัจจุบันและในอนาคตต้องลาออกจากราชการ แม้โจทก์นำสืบความเสียหายไม่ได้แน่นอน ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ส่วนที่จำเลยอ้างว่าหากไม่เกิดเหตุละเมิดก็ไม่แน่ว่าโจทก์จะรับราชการจนเกษียณหรือไม่ และอาจได้รับเงินบำเหน็จบำนาญนั้น ก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับโดยชอบอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลย
ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเป็นค่าเครื่องรับโทรทัศน์และตู้เย็นในห้องพักผู้ป่วยเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อำนวยความสะดวกอันจำเป็นแก่ผู้ป่วยและคนเฝ้าไข้ ทั้งโรงพยาบาลได้จัดเตรียมไว้ให้ใช้ในห้องอยู่แล้ว ถือเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่โจทก์ต้องเสียไป จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2542 โจทก์ขับรถยนต์กระบะมาตามถนนสายสระบุรี – หล่มสัก เมื่อถึงบริเวณท้องที่หมู่ที่ 7 ตำบลสระประดู่ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ มีรถยนต์บรรทุกของจำเลยขับโดยลูกจ้างในทางการที่จ้างหรือตัวแทนของจำเลยแล่นสวนกับรถยนต์กระบะของโจทก์ และผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังขับรถล้ำเข้ามาในช่องเดินรถของโจทก์และเกิดเฉี่ยวชนกันขึ้น เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสและมีกายพิการจนถึงปัจจุบัน การกระทำดังกล่าวของลูกจ้างในทางการที่จ้างหรือตัวแทนของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ โดยให้จำเลยชดใช้ค่าขาดความสามารถในการประกอบการงานจำนวน 2,500,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สามารถเบิกได้จำนวน 691,729 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 3,191,729 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ขณะฟ้องคดีนี้โจทก์เป็นเพียงบุคคลซึ่งมีกายพิการ ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งเป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ นางวิยดาจึงไม่ใช่ผู้พิทักษ์และไม่อาจดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ได้เป็นนายจ้างหรือตัวการ และไม่เคยใช้จ้างวานให้ผู้ใดขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว เหตุรถยนต์ชนกันในคดีนี้เกิดจากความประมาทของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว กล่าวคือ โจทก์ได้ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตรากฎหมายกำหนดจนไม่สามารถควบคุมรถได้ เป็นเหตุให้รถแล่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถสวนและเกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกของจำเลยโจทก์ยังสามารถประกอบการงานได้ดังเดิม จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการสูญเสียความสามารถในการประกอบการงาน และหากโจทก์ออกจากราชการจริง โจทก์ก็มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญจากทางราชการ จึงได้รับความเสียหายไม่เกิน 50,000 บาท โจทก์สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการได้ ส่วนค่ารักษาพยาบาลที่เบิกไม่ได้นั้นเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าใช่จ่ายที่ไม่จำเป็น ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย และโจทก์เสียหายในส่วนนี้ไม่เกิน 50,000 บาท โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เข้าใจถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับว่าได้บาดเจ็บส่วนไหนมากน้อยเพียงใด ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,187,922 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 มีนาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันฟังเป็นยุติได้ว่ารถยนต์บรรทุกเป็นของจำเลย ตามปกติจำเลยใช้รถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวบรรทุกน้ำแข็งส่งในกิจการของจำเลย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2542 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา ขณะที่โจทก์ขับรถยนต์กระบะมาตามถนนสายสระบุรี – หล่มสัก จากทางด้านจังหวัดเพชรบูรณ์โฉมหน้าไปทางกรุงเทพมหานครถึงบริเวณที่เกิดเหตุมีรถยนต์บรรทุกของจำเลยแล่นสวนทางมาแล้วเกิดเหตุรถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสกายพิการและได้รับความกระทบกระเทือนทางสมองจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้โจทก์เป็นบุคคลไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของนางวิยดา…
…ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า นางวิยดามีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ขณะยื่นฟ้องศาลยังมิได้มีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือคนไร้ความสามารถ โจทก์จึงเป็นเพียงผู้มีกายพิการที่สามารถดำเนินคดีได้ด้วยตนเอง แม้นางวิยดาจะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ก็ไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ได้นั้น เห็นว่า อำนาจฟ้องในคดีนี้เป็นของโจทก์ซึ่งเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างในทางการที่จ้างหรือตัวแทนของจำเลย แต่คดีได้ความจากทางนำสืบของโจทก์โดยจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสกายพิการและสมองได้รับการกระทบกระเทือนจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้จนถึงวันฟ้อง นายวิยดาภริยาโจทก์จึงฟ้องคดีนี้แทนในนามของโจทก์ซึ่งก็ปรากฏตามคำฟ้องว่า ก่อนฟ้องคดีนี้นางวิยดาได้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและตั้งนางวิยดาเป็นผู้พิทักษ์ แต่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางยังไม่ได้มีคำสั่ง และต่อมาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำสั่งว่า อาการของโจทก์ไม่ใช่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ แต่เข้าลักษณะบุคคลวิกลจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 จึงมีคำสั่งว่า โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของนางวิยดา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุคคลวิกลจริตมาตั้งแต่นางวิยดายื่นคำร้องขอดังกล่าว ดังนั้น ขณะฟ้องคดีนี้โจทก์จึงเป็นบุคคลวิกลจริตซึ่งถือว่าเป็นผู้ไร้ความสามารถตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 โจทก์จะเสนอข้อหาต่อศาลได้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโดยต้องมีผู้อนุบาลเป็นผู้ทำการแทน แต่ตอนยื่นฟ้องยังไม่มีคำสั่งศาลตั้งนางวิยดาเป็นผู้อนุบาลโจทก์ นางวิยดาจึงไม่มีสิทธิทำการแทน เท่ากับโจทก์เสนอข้อหาเอง อันเป็นการบกพร่องในเรื่องความสามารถเท่านั้น มิใช่ไม่มีอำนาจฟ้องเมื่อต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งตั้งนางวิยดาเป็นผู้อนุบาลโจทก์นางวิยดาจึงมีอำนาจที่จะทำการแทนโจทก์ในการเสนอข้อหาของโจทก์ได้ การบกพร่องในเรื่องความสามารถนี้แก้ไขให้บริบูรณ์ได้ตามมาตรา 56 ที่กล่าวข้างต้น เมื่อได้แก้ไขโดยร้องขอต่อศาลและศาลมีคำสั่งตั้งให้นางวิยดาเป็นผู้อนุบาลมีอำนาจทำการแทนโจทก์แล้ว เหตุบกพร่องในเรื่องความสามารถก็หมดไป ทำให้การฟ้องคดีแทนโจทก์ที่บกพร่องมาแต่ต้นเป็นอันสมบูรณ์ด้วยการแก้ไขนี้แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น…
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สี่ว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสียหายเนื่องจากเสียความสามารถในการประกอบการงานเป็นเงิน 1,500,000 บาท นั้นสูงเกินส่วน และค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดต้องเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่โจทก์เรียกค่าเสียหายส่วนนี้โดยการกะประมาณว่าโจทก์ยังสามารถรับราชการได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นการไม่แน่นอนว่าโจทก์จะรับราชการถึงเวลานั้นหรือไม่ และแม้โจทก์จะต้องออกจากราชการก่อนกำหนด โจทก์ก็ยังคงได้รับเงินบำเหน็จ บำนาญ เหตุที่เกิดขึ้นทำให้โจทก์ขาดรายได้ลงเพียงบางส่วนเท่านั้น นั้น เห็นว่า กรณีละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานและค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคตด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสอง และมาตรา 444 วรรคหนึ่ง และตามมาตรา 438 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสกายพิการ สมองได้รับความกระทบกระเทือนจนศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ เสียความสามารถประกอบการงานอย่างสิ้นเชิงทั้งในปัจจุบันและในอนาคตต้องลาออกจากราชการนับว่าเป็นความร้ายแรงแห่งละเมิดที่เกิดขึ้นแก่โจทก์เป็นอย่างมาก ถึงแม้โจทก์นำสืบค่าเสียหายส่วนนี้ไม่ได้แน่นอน ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินจำนวน 1,500,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ถ้าไม่เกิดเหตุคดีนี้ก็ไม่แน่ว่าโจทก์จะรับราชการจนเกษียณหรือไม่ และแม้โจทก์จะต้องออกจากราชการก่อนกำหนดโจทก์ก็ยังคงได้รับเงินบำเหน็จบำนาญนั้น ก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับโดยชอบอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่จะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยผู้ทำละเมิดแต่อย่างใด จำเลยยังคงต้องร่วมรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ผู้ถูกทำละเมิดอยู่เช่นเดิม ที่จำเลยฎีกาว่า ค่ารักษาพยาบาลที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำนวน 687,922 บาท ยังสูงเกินกว่าค่ารักษาพยาบาลจริงเนื่องจากจำนวนเงินดังกล่าวได้รวมค่าอุปกรณ์ไฟฟ้า ได้แก่เครื่องรับโทรทัศน์และตู้เย็น ซึ่งทางโรงพยาบาลคิดสัปดาห์ละ 300 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนนี้จากจำเลยนั้น เห็นว่า เครื่องรับโทรทัศน์และตู้เย็นในห้องพักผู้ป่วยเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อำนวยความสะดวกอันจำเป็นแก่ผู้ป่วยและคนเฝ้าไข้ ทั้งโรงพยาบาลได้จัดเตรียมไว้ให้ในห้องอยู่แล้ว ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่โจทก์ต้องเสียไป จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายเนื่องจากการเสียความสามารถในการประกอบการงานและค่ารักษาพยาบาลในให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 2,187,922 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share