แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 39 เงินได้อันจะนำมาคำนวณภาษีนั้นไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นก็ต้องเป็นสิ่งที่ผู้มีเงินได้ได้รับมาแล้ว
การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินหักภาษีไว้เท่าจำนวนที่ผู้มีเงินได้จะต้องเสียเท่านั้น คือต้องคำนวณจากเงินได้ที่ผู้มีเงินได้รับแล้วหรือเป็นที่แน่ชัดว่าควรจะได้รับต่อไปจนถึงเดือนสุดท้ายของปีเท่านั้นดังนั้นวิธีคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับผู้มีเงินได้ที่เข้าทำงานระหว่างปีที่ถูกต้องคือให้นำเงินเดือนเริ่มตั้งแต่เดือนที่จ่ายคำนวณล่วงหน้าจนถึงสิ้นปีเป็นเงินได้พึงประเมินสำหรับคำนวณภาษีตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ แล้วหารด้วยจำนวนเดือนที่จ่ายหักไว้เป็นภาษีแต่ละเดือน
ฟ้องของโจทก์ขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะ 2 ราย การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหมดจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่า หรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินภาษีเงินได้ของคนงานและพนักงานประจำปี ๒๕๒๐ ซึ่งโจทก์หักเวลาจ่ายไว้ยังไม่ครบ ขาดเงินอยู่อีก ๖๕,๙๓๘ บาท ๑๔ สตางค์ คือยอดเงินสำหรับภาษีของคนงานจำนวน ๕๒,๙๒๑ บาท ๒๔ สตางค์ สำหรับภาษีของพนักงานโจทก์สองคนจำนวน ๑๓,๐๑๖ บาท ๙๐ สตางค์ ซึ่งจำเลยอ้างว่าโจทก์ยังชำระไม่ครบ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับพนักงานประเมินของจำเลย จึงได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาโจทก์พิจารณาเห็นว่า ยอดเงินจำนวน ๕๒,๙๒๑ บาท ๒๔ สตางค์ สำหรับภาษีของคนงานนั้น โจทก์เห็นด้วยกับพนักงานของจำเลย โจทก์จึงชำระเงิน ๕๒,๙๒๑ บาท ๒๔ สตางค์ ให้จำเลย คงให้จำเลยวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับภาษีสำหรับพนักงานโจทก์เท่านั้น ต่อมาจำเลยได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบ โดยให้โจทก์ชำระเงินเต็มตามที่จำเลยเรียกร้อง โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน ลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๓ และเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๔ เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายปี ๒๕๒๐
จำเลยให้การว่าการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ขอให้เรียกนายพนัส สิมะเสถียร ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การต่อสู้ใจความทำนองเดียวกับจำเลยทุกประการ
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๓ และให้เพิกถอนคำสั่งของของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๔ เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายปี ๒๕๒๐
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่โต้แย้งกันมาสู่ศาลฎีกาเพียงประการเดียวว่า วิธีการคำนวณภาษีเงินได้สำหรับรายนายโยชิฮารุ เอจิมาและรายนางสาวพรพิมล เมฆะมาน พนักงานของโจทก์ ซึ่งเข้าทำงานระหว่างปีนั้นควรต้องใช้วิธีนำจำนวนเงินเดือนเริ่มตั้งแต่ที่จ่ายคำนวณล่วงหน้าจนถึงสิ้นปี คูณด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายโดยรายนายโยชิฮารุและรายนางสาวพรพิมลคูณด้วย ๑๐ และ ๙ ตามลำดับ เป็นเงินได้พึงประเมิน สำหรับคำนวณภาษีตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วหารด้วยจำนวนเดือนที่จ่าย ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักไว้เป็นภาษีเงินได้แต่ละเดือนดังโจทก์คิดคำนวณ หรือใช้วิธีคำนวณโดยถือว่าพนักงานของโจทก์ได้รับเงินเดือนเต็มทั้งปี หรือนัยหนึ่งคูณเงินเดือนที่จ่ายด้วย ๑๒ เสมอไป ไม่ว่าผู้นั้นจะทำงานกี่เดือนในปีนั้นก็ตาม ถือว่าเป็นการทำงานทั้งปี และโดยไม่คำนึงว่าผู้มีเงินได้จะได้รับเงินได้จริงเท่าใดดังจำเลยคิดคำนวณ เห็นว่าตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๙ คำว่า ‘เงินได้พึงประเมิน’หมายความว่าเงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ฯลฯ แสดงว่า เงินได้อันจะนำมาคำนวณภาษีนั้น ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นก็ต้องเป็นสิ่งที่ผู้มีเงินได้ได้รับมาแล้ว ทั้งการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายก็มีมาตรา ๕๐(๑) บัญญัติ ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินหักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ โดยในกรณีเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา ๔๐(๑) และ (๒) ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายเพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา ๔๘ เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น ข้อความที่ว่าเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐(๑) และ (๒) ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย แสดงให้เห็นว่าเงินได้ที่จะนำมาคำนวณภาษีก็ต้องเป็นเงินได้ที่ได้จ่ายคูณด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายต่อไปจนถึงเดือนสุดท้ายของปี เพราะนอกจากกฎหมายมาตราเดียวกันนี้จะกำหนดให้คูณด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายแล้ว ยังกำหนดต่อไปด้วยว่าเมื่อคำนวณเป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดก็ให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายผลลัพธ์จึงจะหักเป็นเงินภาษีไว้ ทั้งตัวคูณและตัวหารรับกันอยู่เช่นนี้ จึงหาชอบที่จะแปลข้อความตามกฎหมายดังกล่าวเป็นว่า หากมีการจ่ายเงินได้พึงประเมินกันเป็นรายเดือนก็ต้องเอา ๑๒ คูณ เพราะปีหนึ่งมี ๑๒ เดือน ดังจำเลยฎีกา ส่วนที่กฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติข้อความต่อไปว่า เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี นั้นก็หมายถึงเป็นการคำนวณภาษีล่วงหน้าจากเงินได้พึงประเมินที่คาดหมายว่าผู้มีเงินได้จะพึงได้รับตลอดไปจนถึงสิ้นปี หากจะตีความว่าเพื่อให้ได้จำนวนเงินที่จ่ายเต็มทั้งปีก็ไม่จำต้องบัญญัติให้คูณเงินได้ที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่ต้องจ่าย และเมื่อได้เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นแล้วยังบัญญัติให้หารด้วยจำนวนคราวที่ต้องจ่ายอีก ที่จำเลยฎีกาว่า คำว่า ‘เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี’ คำว่า ‘เงิน’ ต้องมีความหมายต่างกับคำว่า ‘เงินได้พึงประเมิน’ ในมาตราเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเงินที่ได้รับแล้วจริง เมื่อไม่จำเป็นต้องเป็นเงินที่จ่ายจริง ก็จึงไม่จำต้องเป็นจำนวนคราวที่จะต้องมีการจ่ายกันจริงนั้น เห็นว่า คำว่า ‘เงิน’ หรือ ‘จำนวนเงิน’ดังกล่าว เป็นคำขยายความของคำว่า ‘เพื่อให้ได้’ นั้นเอง ซึ่งก็หมายความว่าเพื่อให้ได้เงินได้พึงประเมินเป็นจำนวนเงินรวมกันซึ่งมาจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายคูณด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายหาได้มีความหมายพิเศษ รวมทั้งหมายความเลยไปถึงว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเงินที่ได้รับแล้วจริงดังจำเลยฎีกาไม่ และการที่จำเลยอ้างในฎีกาว่าวิธีการที่จำเลยคำนวณ ก็เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีรวมทั้งตัวอย่างที่จำเลยยกขึ้นอ้าง ล้วนแต่เป็นความเห็นของจำเลยทั้งสิ้น หามีผลลบล้างบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กล่าวแล้วไม่ เป็นดังนี้ โจทก์ผู้จ่ายเงินได้ ซึ่งต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักหรือนำส่ง หรือตามจำนวนที่ขาดตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๕๔ จึงต้องรับผิดเช่นเดียวกับผู้มีเงินได้สำหรับจำนวนภาษีที่ต้องชำระเท่านั้น การที่จำเลยคำนวณภาษีเงินได้จากเงินเดือนพนักงานของโจทก์ ซึ่งเข้าทำงานระหว่างปีเป็นว่ามีเงินได้ทั้งปี โดยที่โจทก์มิได้จ่ายเงินจำนวนนั้น จึงเป็นการนำจำนวนเงินที่ผู้มีเงินได้มิได้รับจริง ซึ่งเงินจำนวนนั้นยังไม่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๓๙ มารวมคำนวณภาษีเงินได้ด้วย ย่อมเป็นวิธีคำนวณให้ยอดเงินภาษีเงินได้สูงกว่าที่ผู้มีเงินได้ควรจะต้องชำระ และจะทำให้ผู้เสียภาษีต้องมีภาระในการขอคืนภาษีตามมาตรา ๖๓ นอกจากนี้ข้อความตามมาตรา ๕๐(๑) ที่ว่า ถ้าการหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายไม่ลงตัวเหลือเศษเท่าใด ให้เพิ่มเงินจำนวนเท่าที่เหลือเศษนั้นรวมเข้ากับเงินภาษีที่จะต้องหักไว้ครั้งสุดท้ายในปีนั้น เพื่อให้ยอดเงินภาษีที่หักรวมทั้งปีเท่ากับจำนวนภาษีที่จะต้องเสียทั้งปี ยิ่งทำให้เห็นชัดว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินหักภาษีไว้เท่าจำนวนที่ผู้มีเงินได้จะต้องเสียเท่านั้น คือต้องคำนวณจากเงินได้ที่ผู้มีเงินได้ได้รับแล้วหรือเป็นที่แน่ชัดว่าควรจะได้รับต่อไปจนถึงเดือนสุดท้ายของปีเท่านั้น สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์เฉพาะราย นายโยชิฮารุและนางสาวพรพิมล ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๓ และเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๔ เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายปี ๒๕๒๐ นั้น แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๓ และเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย ลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๔ ก็ตาม แต่ฟ้องของโจทก์คงบรรยายฟ้องเพียงว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยคำนวณภาษีเงินได้เฉพาะรายนายโยชิฮารุ เอจิมา และรายนางสาวพรพิมล เมฆะมาน ไม่ชอบ ฟ้องของโจทก์จึงมีผลเพียงตามที่บรรยายฟ้องไว้เท่านั้น กล่าวคือขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน และเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะ ๒ ราย ดังกล่าว ดังนั้นการที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหมด จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้เสียให้ถูกต้องโดยเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเฉพาะรายนายโยชิฮารุและรายนางสาวพรพิมลเท่านั้น ฎีกาจำเลยฟังขั้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๓ และให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๔ เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่ายปี ๒๕๒๐ เฉพาะรายนายโยชิฮารุ เอจิมาและรายนางสาวพรพิมล เมฆะมาน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์