แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ จำเลยตกลงท้ากันว่าหากโยธาธิการจังหวัดหรือวิศวกรของโยธาธิการจังหวัดชี้ขาดว่าตึกของโจทก์หรือของจำเลยเป็นฝ่ายที่เอนมาจนเป็นเหตุให้เกิดการละเมิด คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้คดี ส่วนเรื่องค่าเสียหายคู่ความท้ากันขอให้โยธาธิการจังหวัดหรือวิศวกรของโยธาธิการจังหวัดเป็นผู้ตรวจสอบความเสียหายและคิดคำนวณโดยให้ระบุค่าแรงและค่าวัสดุในการซ่อมแซมตึกไว้ด้วยวิศวกรของโยธาธิการจังหวัดไปตรวจสอบตึกพิพาทของโจทก์ จำเลย แล้วมีหนังสือของโยธาธิการจังหวัดตอบว่า อาคารพิพาทเกิดจากการเอียงของตัวอาคารทั้งสองหลังโดยแต่ละหลังต่างก็เอียงเข้าหากันสาเหตุไม่น่าจะเกิดจากการออกแบบหรือการควบคุมงานก่อสร้างที่ผิดพลาดเนื่องจากอาคารทั้งสองหลังมีอายุการใช้งานมานานกว่า 10 ปีแล้วทั้งไม่พบลักษณะการวิบัติของโครงสร้างอาคารที่พอจะชี้ประเด็นว่าเกิดจากความผิดพลาดของการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้าง เช่น คาน หรือเสาแตกหักแต่อย่างใด การเอียงตัวของอาคารทั้งสองหลังน่าจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คือน่าจะเกิดจากความสามารถในการรับน้ำหนักของดินใต้ฐานรากอาคารทั้งสองหลังมีความสามารถในการรับน้ำหนักลดลงน่าจะเกิดจากมีการไหลซึมของน้ำผิวดินลงไปสู่ดินใต้ฐานรากอาคารทำให้ดินใต้ฐานรากอาคารอ่อนตัวลงหรือเกิดจากระดับน้ำใต้ดินที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนเรื่องค่าเสียหายนั้นคู่กรณีแต่ละฝ่ายต่างน่าจะรับผิดชอบค่าเสียหายและซ่อมแซมส่วนที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง ดังนี้หนังสือของโยธาธิการจังหวัดยังไม่เป็นการชี้ขาดประเด็นพิพาทตามคำท้า คู่ความต้องดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของตึกแถวสองชั้นครึ่ง สองคูหา เลขที่ 26ถนนเมืองใหม่ ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหารตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 851 ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เมื่อระหว่างวันที่ 20 กันยายน 2539 จนถึงวันฟ้อง ตึกแถวของจำเลยเลขที่ 28 ถนนเมืองใหม่ ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหารจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งปลูกอยู่ติดกับตึกแถวของโจทก์เสียการทรงตัวเนื่องจากอยู่ในสภาพเก่าและปลูกสร้างมานาน ทำให้ด้านบนตึกแถวของจำเลยเอนมาทับชั้นบนตึกแถวของโจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งจำเลยสามารถป้องกันหรือแก้ไขได้ แต่จำเลยประมาทขาดความระมัดระวังจึงเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากต้องขาดรายได้เดือนละ30,000 บาท จากการที่ต้องปิดกิจการอบสมุนไพรและนวดแผนโบราณของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นมา เป็นเวลา 10 เดือนเป็นค่าเสียหาย 300,000 บาท และตึกแถวได้รับความเสียหายผนังตึกแถวร้าวอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยที่จะอยู่อาศัยซึ่งจะต้องเสียค่าซ่อมแซมเป็นเงิน500,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์จำนวน 800,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ตึกแถวของจำเลยเป็นตึกแถวสองชั้นต่ำกว่าตึกแถวของโจทก์ ทั้งไม่ได้เสียการทรงตัวและไม่ได้เอนไปทับตึกแถวของโจทก์ หากแต่ด้านหลังคาตึกแถวของโจทก์สร้างถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ทำให้ส่วนบนตึกแถวของโจทก์รับน้ำหนักมากจนเสียการทรงตัวเอียงลงมาทับตึกแถวของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายในส่วนที่โจทก์ขอคิดเป็นค่าขาดประโยชน์จำเลยไม่ต้องรับผิดเพราะปัจจุบันโจทก์ยังเปิดกิจการสถานเสริมความงามตามปกติ เหตุที่ลูกค้ามาใช้บริการน้อยไม่ใช่เพราะตึกแถวของโจทก์แตกร้าวแต่เป็นเพราะสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำส่วนค่าเสียหายในการซ่อมแซมตึกแถวของโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดเช่นกันเนื่องจากความเสียหายมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง และการที่โจทก์ปล่อยให้ตึกแถวของโจทก์เสียการทรงตัวเอนมาทับตึกแถวของจำเลยเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยจำเลยจะต้องเสียค่าซ่อมแซมตึกแถวของจำเลยเป็นเงิน 100,000 บาทขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำให้การเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ตึกแถวของโจทก์ก่อสร้างอย่างดีถูกต้องตามแบบทุกประการ ทั้งคานฐานรากก็แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักตึกแถวของโจทก์ได้ดี ฟ้องแย้งจำเลยเป็นเท็จ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความท้ากันโดยให้โยธาธิการจังหวัดมุกดาหาร หรือวิศวกรของโยธาธิการจังหวัดไปตรวจสอบตึกแถวของโจทก์หรือของจำเลยและชี้ขาด หากชี้ขาดว่าตึกของฝ่ายโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายที่เอนมาจนเป็นเหตุให้เกิดละเมิดคดีนี้อีกฝ่ายจะยอมแพ้ ส่วนประเด็นค่าเสียหาย โจทก์และจำเลยท้ากันโดยให้โยธาธิการจังหวัดหรือวิศวกรของโยธาธิการจังหวัดเป็นผู้ตรวจสอบความเสียหายและคำนวณค่าแรงและค่าวัสดุในการซ่อมแซมและขอสละประเด็นอื่น ๆ เสียทั้งสิ้น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์และจำเลยตกลงท้ากันโดยให้โยธาธิการจังหวัดมุกดาหารหรือวิศวกรของโยธาธิกาจังหวัดมุกดาหารไปทำการตรวจสอบตึกพิพาทของโจทก์และของจำเลยหากโยธาธิการจังหวัดหรือวิศวกรของโยธาธิการจังหวัด ชี้ขาดว่า ตึกของโจทก์หรือของจำเลยเป็นฝ่ายที่เอนมาจนเป็นเหตุให้เกิดละเมิดคดีนี้อีกฝ่ายจะยอมแพ้คดี ส่วนเรื่องค่าเสียหายโจทก์ จำเลยตกลงท้ากันขอให้โยธาธิการจังหวัดหรือวิศวกรของโยธาธิการจังหวัดเป็นผู้ตรวจสอบความเสียหายตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม 2541 ศาลชั้นต้น เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าคำวินิจฉัยชี้ขาดของวิศวกรของโยธาธิการจังหวัดมุกดาหารเป็นการชี้ขาดนอกประเด็นคำท้าและไม่สมกับคำท้าหรือไม่ เห็นว่าตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม 2541 โจทก์ จำเลยตกลงท้ากันว่าหากโยธาธิการจังหวัดหรือวิศวกรของโยธาธิการจังหวัดชี้ขาดว่า ตึกของโจทก์หรือของจำเลยเป็นฝ่ายที่เอนมาจนเป็นเหตุให้เกิดการละเมิดคดีนี้ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้คดี ส่วนเรื่องค่าเสียหายคู่ความท้ากันขอให้โยธาธิการจังหวัดหรือวิศวกรของโยธาธิการจังหวัดเป็นผู้ตรวจสอบความเสียหายและคิดคำนวณโดยให้ระบุค่าแรงและค่าวัสดุในการซ่อมแซมตึกไว้ด้วย แต่ปรากฏว่าเมื่อวิศวกรของโยธาธิการจังหวัดได้ไปตรวจสอบตึกพิพาทของโจทก์ จำเลยร่วมกับคู่ความแล้วได้ให้โยธาธิการจังหวัดมุกดาหารเป็นผู้ทำหนังสือตอบฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2541 มีใจความว่าอาคารพิพาทเกิดจากการเอียงของตัวอาคารทั้งสองหลังโดยแต่ละหลังต่างก็เอียงเข้าหากัน สาเหตุที่เกิดการเอียงของตัวอาคารไม่น่าจะเกิดจากการออกแบบ หรือการควบคุมงานก่อสร้างที่ผิดพลาดเนื่องจากอาคารทั้งสองหลังมีอายุการใช้งานมานานกว่า 10 ปีแล้วทั้งไม่พบลักษณะการวิบัติของโครงสร้างอาคารที่พอจะชี้ประเด็นว่าเกิดจากความผิดพลาดของการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้าง เช่น คาน หรือเสาแตกหักแต่อย่างใด การเอียงตัวของอาคารทั้งสองหลังน่าจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ กล่าวคือน่าจะเกิดจากความสามารถในการรับน้ำหนักของดินใต้ฐานรากอาคารทั้งสองหลังมีความสามารถในการรับน้ำหนักลดลง น่าจะเกิดจากมีการไหลซึมของน้ำผิวดินลงไปสู่ดินใต้ฐานรากอาคารทำให้ดินใต้ฐานรากอาคารอ่อนตัวลงเป็นผลให้ความสามารถในการรับน้ำหนักของดินลดลงไปด้วย หรือเกิดจากระดับน้ำใต้ดินที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนในเรื่องค่าเสียหายนั้นเนื่องจากการเอียงตัวของอาคารทั้งสองหลังเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คู่กรณีแต่ละฝ่ายต่างน่าจะรับผิดชอบค่าเสียหายและซ่อมแซมส่วนที่เกิดขึ้นด้วยตนเองเห็นได้ว่าหนังสือชี้แจงของโยธาธิการจังหวัดมุกดาหารยังไม่เป็นการชี้ขาดประเด็นพิพาทตามคำท้าแต่อย่างใด เพราะประเด็นพิพาทตามที่คู่ความท้ากันนั้นระบุว่า ตึกของโจทก์หรือของจำเลยเป็นฝ่ายเอนมาจนเป็นเหตุให้เกิดการละเมิดคดีนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้คดี เมื่อผลการวินิจฉัยดังกล่าวระบุเพียงว่าตึกของโจทก์และของจำเลยต่างเอียงเข้าหากันโดยไม่ได้ระบุว่าการเอียงเข้าหากันนั้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นฝ่ายเอียงมากกว่ากัน ทั้งระบุสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมิใช่เกิดจากการออกแบบหรือการควบคุมการก่อสร้างที่ผิดพลาด ทั้งยังระบุให้แต่ละฝ่ายต่างรับผิดชอบกันเองมิได้ระบุว่าค่าเสียหายมีเพียงใด และฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะต้องรับผิดต่ออีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่เพียงใด เช่นนี้ คำวินิจฉัยของโยธาธิการจังหวัดมุกดาหารจึงไม่สมกับคำท้าและไม่เป็นไปตามคำท้าคู่ความจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน