คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5137/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กับ พ. จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2514ที่ดินตามฟ้อง พ. ได้มาก่อนจดทะเบียนสมรส ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินเดิมของ พ. ต่อมาเมื่อใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 แล้วที่ดินนั้นย่อมเป็นสินส่วนตัวของ พ. ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง พ. จึงมีอำนาจทำสัญญาซื้อขายที่ดินตามฟ้องได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ให้พ. ทำนิติกรรมเป็นเหตุให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 121 แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องทั้งสองเหตุรวมกันมาก็ไม่เคลือบคลุมเพราะเหตุทั้งสองคือการใช้อุบายหลอกลวง กับการขู่เข็ญอาจเกิดพร้อม ๆ กันได้ ส่วนการใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ จำเลยกระทำอย่างไรเป็นรายละเอียดที่นำสืบในชั้นพิจารณาได้ พ. ทำสัญญาขายที่ดินให้จำเลยในขณะสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์และนิติกรรมดังกล่าวเกิดจากกลฉ้อฉลหรือการใช้อุบายหลอกลวงของจำเลย ย่อมเป็นโมฆียะ โจทก์ในฐานะทายาทของ พ. ย่อมมีสิทธิบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 การบอกล้างโมฆียะกรรมไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือ การมอบอำนาจให้บอกล้างโมฆียะกรรมจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว นิติกรรมการซื้อขายตกเป็นโมฆะในการนี้ให้ผู้เป็นคู่กรณีได้กลับคืนยังฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 วรรคสาม จำเลยจึงต้องโอนที่ดินกลับคืนให้แก่ทายาทของ พ. โดยผลของกฎหมาย และมิใช่เป็นการคืนโดยการเลิกสัญญา โจทก์จึงมิต้องเสนอคืนราคาที่ดินที่ พ.ได้รับไป.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีโจทก์ชอบด้วยกฎหมายของนางพรรณีภูมมาฤทธิ์ ก่อนตายนางพรรณี ได้จดทะเบียนขายที่ดินให้แก่จำเลยโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย และขณะขายนางพรรณี ป่วยเป็นโรคทางระบบประสาทขาดสติสัมปชัญญะ จึงถูกจำเลยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญแล้วจำเลยได้นำที่ดินไปให้บุคคลอื่นเช่า โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความบอกล้างนิติกรรมไปยังจำเลยแล้ว ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมการซื้อขายเป็นโมฆะ ให้จำเลยโอนที่ดินคืนโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และคืนเงินค่าเช่า 22,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ที่พิพาทเป็นสินส่วนตัวของนางพรรณี ขณะทำสัญญานางพรรณี มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดี จำเลยไม่ได้ใช้อุบายหลอกลวงหรือขู่เข็ญนางพรรณี การบอกล้างโมฆียะกรรมไม่ชอบ และโจทก์ไม่ได้เสนอคืนเงินที่ นางพรรณีได้รับไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นิติกรรมการซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนนิติกรรมดังกล่าว ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์กับนางพรรณี ภูมมาฤทธิ์ จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2514ที่ดินตามฟ้องนางพรรณี ได้รับการยกให้จากมารดาก่อนสมรสกับโจทก์นางพรรณี ได้จดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยซึ่งเป็นพี่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2527 โดยโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม นางพรรณีถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2527 ต่อมาโจทก์ซึ่งไปทำงานอยู่ต่างประเทศทราบเรื่อง จึงกลับมาและได้บอกล้างสัญญาซื้อขายดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2528
พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฟ้องว่าสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับนางพรรณี เป็นโมฆียะด้วยเหตุ 2 ประการ คือ ประการแรก นางพรรณี ทำสัญญาดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ประการที่สอง จำเลยใช้อุบาย หลอกลวง ขู่เข็ญ ให้นางพรรณี ทำสัญญาดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินตามฟ้องนางพรรณี ได้มาก่อนจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินเดิมของนางพรรณี ต่อมาเมื่อใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 แล้ว ที่ดินตามฟ้องย่อมเป็นสินส่วนตัวของนางพรรณีตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้แต่ให้ถือว่าสินเดิมตามบทบัญญัติพรรบ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมของฝ่ายใดเป็นสินส่วนตัวตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ของฝ่ายนั้น” เมื่อสินเดิมของนางพรรณี เปลี่ยนมาเป็นสินส่วนตัวตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 นางพรรณี จึงมีอำนาจทำสัญญาซื้อขายที่ดินตามฟ้องโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า สัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับนางพรรณีเป็นโมฆียะเพราะจำเลยใช้อุบาย หลอกลวง ขู่เข็ญ ให้นางพรรณีทำสัญญาดังกล่าวหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเสียเองตามพยานหลักฐานในสำนวนโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ในปัญหาข้อนี้จำเลยให้การตัดฟ้องของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ข้อนี้เคลือบคลุม ซึ่งเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยจากคำฟ้องของโจทก์ จึงเห็นควรวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ก่อน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ขณะทำนิติกรรมตามฟ้อง นางพรรณี ป่วยเป็นโรคทางระบบประสาท ขาดสติสัมปชัญญะ ไม่สามารถรู้สึกผิดชอบอย่างเช่นบุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป จำเลยได้ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญให้นางพรรณี ทำนิติกรรม นั้น ก็เป็นการเพียงพอที่ทำให้เข้าใจแล้วว่า สาเหตุที่ นางพรรณีทำนิติกรรมก็เนื่องจากไม่สามารถรู้สึกผิดชอบอย่างบุคคลธรรมดา ประกอบกับการใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญของจำเลย ทำให้การแสดงเจตนาของนางพรรณี ไม่สมบูรณ์ เป็นเหตุให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 121แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องทั้งสองเหตุรวมกันมาก็ไม่เคลือบคลุมเพราะเหตุทั้งสองคือการใช้อุบายหลอกลวง กับการขู่เข็ญอาจเกิดพร้อม ๆกันได้ ส่วนการใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ จำเลยกระทำอย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นางพรรณี ทำนิติกรรมตามฟ้องในขณะสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ การที่จำเลยปกปิดความจริงกับนายชัยวัฒน์ และนายไชยพรรณว่าจะพานางพรรณี ไปเที่ยว แต่กลับพาไปจดทะเบียนทำนิติกรรมตามฟ้อง ก็เพียงพอที่ทำให้ฟังได้แล้วว่านิติกรรมดังกล่าวเกิดจากการฉ้อฉลหรือการใช้อุบายหลอกลวงของจำเลยย่อมเป็นโมฆียะ โจทก์ในฐานะทายาทของนางพรรณี ย่อมมีสิทธิบอกล่างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายสมเจตน์ ปานกลาง บอกล้างนิติกรรมนี้แล้ว ดังนั้นนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามฟ้องระหว่างจำเลยกับนางพรรณี จึงตกเป็นโมฆะ การบอกล้างโมฆียะกรรมไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือ การมอบอำนาจให้บอกล้างโมฆียะกรรมจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ และเมื่อนิติกรรมการซื้อขายตกเป็นโมฆะ ในการนี้ให้ผู้เป็นคู่กรณีได้กลับคืนยังฐานะเดิม ตามมาตรา 138 วรรคสามดังนั้นจำเลยต้องโอนที่ดินกลับคืนให้แก่ทายาทของนางพรรณี โดยผลของกฎหมาย ซึ่งมิใช่เป็นการคืนโดยการเลิกสัญญา ที่จำเลยอ้างว่าใบมอบอำนาจให้บอกล้างนิติกรรมไม่ถูกต้องและโจทก์มิได้เสนอคืนราคาที่ดินที่ นางพรรณีได้รับไปจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นฟังไม่ขึ้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน.

Share