แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สินค้าพิพาทบรรจุอยู่ในกล่องหรือลังรวม 231 กล่อง บรรจุรวมอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เดียว แสดงว่าแต่ละกล่องที่บรรจุสินค้ามีสภาพสามารถทำการขนส่งไปตามลำพังได้ จึงถือว่าแต่ละกล่องที่บรรจุสินค้าพิพาทเป็นหนึ่งหน่วยการขนส่งตามคำนิยามในมาตรา 3 พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทดังกล่าวถือเป็นภาชนะขนส่ง เมื่อสินค้าได้รับความเสียหาย 31 กล่อง และมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้นแล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดเป็นเงินไม่เกิน 310,000 บาท ซึ่งมากกว่าจำนวนเงินที่คำนวณได้ตามน้ำหนักสุทธิแห่งสินค้านั้น เมื่อโจทก์ (ผู้รับประกันภัย) ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเป็นเงิน 188,631 บาท โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 192,817 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 188,631 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและไม่มาศาลในวันสืบพยาน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า บริษัทไทยซัมซุงอีเล็คโทรนิคส์ จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศไทยซื้อสินค้าจากบริษัทซัมซุมเอเชีย พีทีอี จำกัด ซึ่งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้ซื้อได้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายหรือสูญหายแก่สินค้าดังกล่าวในระหว่างการขนส่งไว้ต่อโจทก์ในวงเงินทุนประกันภัย 1,788,459.75 บาท โดยผู้ซื้อได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าและจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการขนส่งสินค้าที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเรือขนสินค้าจากประเทศสิงคโปร์มาถึงท่าเรือกรุงเทพผู้ซื้อได้ไปรับสินค้า ปรากฏว่าสินค้าได้รับความเสียหายบางส่วนเนื่องจากเปียกน้ำ จากการตรวจสอบพบว่ามีรูรั่วด้านบนตู้คอนเทนเนอร์ รูดังกล่าวมีลักษณะถูกกระแทกจากภายนอกทะลุเข้าไปในตู้คอนเทนเนอร์ทำให้น้ำรั่วเข้าไปถูกสินค้าได้รับความเสียหายจำนวน 31 กล่อง (CARTONS) คิดเป็นเงิน 209,589.53 บาท เหตุแห่งการเสียหายของสินค้าดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งสอง ผู้ซื้อจึงเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จึงเรียกร้องจากโจทก์ โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเป็นเงิน 188,631 บาทเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งและจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งอื่นจะต้องร่วมกันรับผิดเพื่อความเสียหายของสินค้าดังกล่าวเพียงใด โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าหน่วยการขนส่งในการขนส่งสินค้าพิพาทคือกล่อง (CARTONS) มิใช่ตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อสินค้าได้รับความเสียหาย 31 กล่อง จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดในจำนวนเงินตามฟ้อง เห็นว่า ในข้อนี้นางสาวปาริฉัตร์พยานโจทก์และนายเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท ดี. เอส. เซอร์เวย์สแอนด์เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้สำรวจและประเมินความเสียหายสินค้าพิพาทเป็นพยานยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นและเบิกความประกอบได้ความว่า สินค้าที่บรรจุมาในตู้คอนเทนเนอร์ได้รับความเสียหาย 31 กล่องใหญ่ (CARTONS) และสินค้าเสียหาย 122 ชิ้น คิดเป็นเงิน 209,589.53 บาท จากภาพถ่ายดังกล่าวปรากฏว่าสินค้าที่ได้รับความเสียหายบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษซึ่งบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์และแม้ตามใบตราส่ง ระบุว่าสินค้าที่ขนส่งมี 1 ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต แต่ตามใบรายการสินค้าแนบท้ายใบตราส่งดังกล่าวก็ระบุว่าจำเลยที่ 2 รับมอบสินค้าที่จะขนส่งไว้จำนวน 231 กล่อง (CARTONS) และตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 บัญญัติคำนิยามคำว่า “ภาชนะขนส่ง” หมายความว่า ตู้สินค้า ไม้รองสินค้า หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของ หรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล และคำว่า “หน่วยการขนส่ง” หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่งและแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก หีบ ห่อ อัน หรือหน่วยที่เรียกชื่ออย่างอื่น ดังนี้ เมื่อสินค้าพิพาทบรรจุอยู่ในกล่องหรือลังรวม 231 กล่อง บรรจุรวมอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เดียวดังกล่าว แสดงว่าแต่ละกล่องที่บรรจุสินค้ามีสภาพสามารถทำการขนส่งไปตามลำพังได้ จึงถือว่าแต่ละกล่องที่บรรจุสินค้าพิพาทเป็นหนึ่งหน่วยการขนส่งตามคำนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทดังกล่าวถือเป็นภาชนะขนส่ง เมื่อสินค้าได้รับความเสียหาย 31 กล่อง และตามมาตรา 58 บัญญัติให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้นแล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดเป็นเงินไม่เกิน 310,000 บาท ซึ่งมากกว่าจำนวนเงินที่คำนวณได้ตามน้ำหนักสุทธิแห่งสินค้านั้น เมื่อโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเป็นเงิน 188,631 บาท โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องเงินจำนวนนี้จากจำเลยทั้งสองได้ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายของสินค้าเป็นเงิน 188,631 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นไป อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย และกรณีไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยในอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์อีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 188,631 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 1,500 บาท.