คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4549/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งได้วินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2528 อันเป็นกรณีที่โจทก์ได้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการไว้แล้วก่อนที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ใช้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการของโจทก์ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโจทก์จึงไม่จำต้องฟ้องคดีภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงจำเลยตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และเมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะบังคับให้จำเลยรับผิดตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเกิดขึ้นขณะที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 168(เดิม) ใช้บังคับ อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ จึงต้องบังคับตามบทมาตราดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้ภายในกำหนด 10 ปี ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องและคำให้การแล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามคำร้อง ของ จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 24 ซึ่งมาตรา 227 มิใช่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาแม้โจทก์จะไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้ก่อน ก็มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาต่อมาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยโจทก์และจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายนพ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) ตามที่กล่าวถึงในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2527 โจทก์สั่งซื้อปลาน้ำดอกไม้ (ปลาทูน่า) จำนวน 4 ตู้บรรจุสินค้าจำเลยจะส่งสินค้าทั้งสี่ตู้ไปให้โจทก์ ณ เมืองฮัมบูรก์ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2527โดยมีข้อกำหนดอันเป็นสาระสำคัญในสัญญาซื้อขายด้วยว่า กล่อง/ตรากระป๋อง จะต้องไม่ระบุชื่อพิเศษคือประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดสินค้าไว้ด้วย และสัญญาซื้อขายฉบับนี้ทำขึ้นตามกฎหมายและเงื่อนไขต่าง ๆ ของสมาคมสินค้าแห่งเมืองฮัมบูร์ก ซึ่งมีอนุญาโตตุลาการที่มีคุณภาพและผู้ชำนาญทางเทคนิคจะเป็นผู้มีอำนาจระงับบรรดาข้อพิพาททั้งหมดขั้นสุดท้ายที่จะเกิดจากสัญญานี้จำเลยยินยอมให้อนุญาโตตุลาการซึ่งสมาคมสินค้าแห่งเมืองฮัมบูร์กแต่งตั้งเป็นผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่อาจจะเกิดขึ้นจากสัญญาซื้อขายนี้ได้ ณ เมืองฮัมบูร์กตามกฎของสมาคมสินค้าดังกล่าวด้วย ต่อมาจำเลยได้ส่งสินค้าไปให้โจทก์รวม 4 ตู้โจทก์ได้ตรวจพบว่าบนหีบทุกหีบของสินค้าที่จำเลยส่งไปนั้นมีข้อความเขียนไว้ว่า “THAILAND” (ประเทศไทย) อยู่ด้วยอันเป็นการผิดจากข้อตกลงในสัญญาซื้อขายดังกล่าว และสินค้าที่จำเลยส่งให้โจทก์บางส่วนมีน้ำหนักไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดในสัญญาซื้อขาย โจทก์จึงไม่รับสินค้าที่ซื้อขายทั้งหมดและแจ้งให้จำเลยคืนเงินค่าสินค้าจำนวน 121,019.60 ดอลล่าสหรัฐอเมริกาพร้อมทั้งได้เรียกร้องค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์ต้องเสียไปในการตรวจสอบสินค้าและอื่น ๆ แต่จำเลยเพิกเฉยโจทก์จึงได้ดำเนินการตามกฎของสมาคมการค้าแห่งเมืองฮัมบูร์กตามที่ตกลงไว้ในสัญญาโดยนำสินค้าออกขายและนำเงินจากการขายสินค้ามาหักชดใช้กับราคาสินค้าที่โจทก์ได้ชำระให้แก่จำเลยไปแล้วโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินส่วนที่ยังขาดอยู่ แต่จำเลยเพิกเฉยโจทก์จึงได้ส่งเรื่องให้อนุญาโตตุลาการของสมาคมการค้าแห่งเมืองฮัมบูร์กทำการวินิจฉัยชี้ขาด และอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2528 ให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 45,128.02 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาและ 8,245.71มาร์ค เยอรมัน พร้อมดอกเบี้ยคิดตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2528 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยจ่ายค่าพิจารณาคดีจำนวน 6,998.47 มาร์ค เยอรมันให้โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ส่งคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยผ่านศาลของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันถึงจำเลยเมื่อวันที่ 13ธันวาคม 2528 จำเลยไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงได้ส่งคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้จำเลยทราบอีกครั้งหนึ่งโดยผ่านกระทรวงยุติธรรมประเทศไทยถึงจำเลยเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2531จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องชำระเงินให้โจทก์เป็นเงินบาทรวมเป็นเงิน 1,663,892.90 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ของต้นเงิน1,272,673.87 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่อาจนำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศตามฟ้องซึ่งได้ชี้ขาดก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาใช้บังคับในทางเป็นผลร้ายแก่จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยได้ สัญญาซื้อขายตามฟ้องทำขึ้นในประเทศไทยจึงชอบที่จะใช้กฎหมายไทยบังคับ จำเลยไม่เคยตกลงกับโจทก์ด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือยินยอมมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด การซื้อขายปลากระป๋องระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการซื้อขายตามตัวอย่างจำเลยได้ส่งสินค้าตามตัวอย่างซึ่งโจทก์ได้ให้ความเห็นชอบแล้วไปให้โจทก์ถูกต้องครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์ส่งสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2531 โจทก์จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี โดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลภายในวันที่ 12 มกราคม 2532 ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2532 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการถึงจำเลย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530มาตรา 30 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีภายในกำหนด 10 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์จะต้องฟ้องขอให้บังคับตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงจำเลยตามมาตรา 30แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 หรือไม่ เห็นว่าคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งได้วินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2528 อันเป็นเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ มาตรา 36แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติเป็นบทเฉพาะกาลไว้ว่า”บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการ และการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการใดที่ได้กระทำไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ” โจทก์ได้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการให้มีการชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยไว้แล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2528 ดังนั้น พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 จึงไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงไม่จำต้องฟ้องคดีภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงจำเลยตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวโจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีให้จำเลยปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศภายใน 10 ปี นับแต่ พ.ศ. 2528 จำเลยแก้ฎีกาว่า ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168(เดิม)บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ท่านให้มีกำหนดอายุความ 10 ปีนั้น มีความหมายเฉพาะอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยและตามกฎหมายไทยเท่านั้น เห็นว่าในกรณีเช่นนี้ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2521ระหว่างบริษัทฮีสโมโค อเมริกัน คำปะนี อิงค์ โจทก์ บริษัทศรสุวรรณ จำกัด จำเลยว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งมลรัฐนิวยอร์คฟ้องร้องให้บังคับกันในศาลไทยได้ และตามฟ้องเป็นเรื่องบังคับให้จำเลยรับผิดตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอันมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168(เดิม)ดังนั้น เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะบังคับให้จำเลยรับผิดตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเกิดขึ้นขณะที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168(เดิม) ใช้บังคับ อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงต้องบังคับตามบทมาตราดังกล่าวไม่อาจนำอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 30แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์ได้ โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้ ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่ พ.ศ. 2528 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่าโจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งงดสืบพยานของศาลชั้นต้นไว้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบนั้น ปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องและคำให้การแล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามคำร้องของ จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ซึ่งมาตรา 227มิให้ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แม้โจทก์จะไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้ก่อน ก็มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาต่อมาได้
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share