คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2006/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษในกรณีไม่ชำระหนี้นั้นจะต้องเป็นเรื่องที่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์ล่วงหน้าก่อนแล้ว ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 222 วรรคสอง บัญญัติไว้ และพฤติการณ์ดังกล่าวคู่กรณีจะต้องรับกันหรือนำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงจะเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่กรณีพิเศษได้ เบี้ยปรับที่กำหนดไว้ในสัญญาในกรณีที่ผิดสัญญานั้นกฎหมายมิได้บังคับเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายด้วยไม่ใช่แต่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์เสียหายเต็มตามจำนวนค่าปรับที่กำหนดไว้ในสัญญา ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดค่าปรับหรือเบี้ยปรับตามสัญญาลงได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ปรับปรุงดินบริเวณโรงเรียนควนโดนวิทยา เพื่อป้องกันดินพังทลาย ตามรูปแบบและรายการของโจทก์ เป็นเงิน 250,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดหรือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวัน ๆ ละ 500 บาท จนกว่างานจะแล้วเสร็จ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ทำงานล่าช้า โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา และเรียกให้จำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญา จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการร่วมกันชำระค่าปรับตามสัญญาวันละ 500 บาท รวม 446 วัน เป็นเงิน 233,000บาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 265,037.50 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์ได้เสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษหรือไม่ และการกำหนดค่าปรับไว้ในสัญญาเป็นการบังคับโดยเด็ดขาดหรือไม่ว่าค่าปรับจะต้องให้เป็นไปตามนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาทำงานไม่แล้วเสร็จตามกำหนดซึ่งโจทก์จะเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากงานของทางราชการไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หรือไม่ได้รับประโยชน์ตามโครงการ ซึ่งเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสองบัญญัติไว้และพฤติการณ์ดังกล่าวคู่กรณีจะต้องรับกันหรือนำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่คดีนี้โจทก์มิได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าโจทก์ได้เสียหายเป็นพิเศษแต่อย่างใด ส่วนค่าปรับตามสัญญานั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก บัญญัติว่า “ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป” เช่นนี้ แสดงว่า เบี้ยปรับนั้นแม้จะได้กำหนดกันไว้ในสัญญาก็ตาม แต่ก็มิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายด้วย ไม่ใช่แต่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้น ดังนั้นศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดค่าปรับหรือเบี้ยปรับตามสัญญาลงได้ สำหรับกรณีนี้โจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์เสียหายเต็มตามจำนวนค่าปรับที่กำหนดไว้ในสัญญาประกอบกับข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาฟังได้ว่าโจทก์ได้ริบเงินประกันจำนวน 12,500 บาท ไปแล้วด้วย เมื่อคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าเบี้ยปรับที่โจทก์เรียกร้องมานั้นสูงเกินส่วน โดยลดลงประมาณครึ่งหนึ่งคงเหลือ 100,000 บาท นั้น เหมาะสมแก่ความเสียหายของโจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุให้แก้ไขเป็นอย่างอื่นคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share