แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หนังสือของ จ. ตามเอกสารหมาย จ.15ข้อ4ที่ว่า”ตามที่แตง(หมายถึงโจทก์) ประสงค์จะขอซื้อหุ้นกลับคืนต่อภายหน้าเมื่อการเงินสะดวกนั้นไม่ขัดข้องแต่อย่างใดเลย จะโอนให้ทันทีโดยไม่เรียกร้องผลประโยชน์หรือดอกเบี้ย” ข้อ 5.1 ว่า “ป๋าพิจารณาแล้วเห็นเป็นการสมควรเพื่อความสะดวกเมื่อเวลาโอนหุ้นกลับคืนให้ แตงจะคิดเป็นจำนวนเงินเพียง 7,000,000(เจ็ดล้าน) บาทเท่านั้น”และข้อ 5.2 ที่ว่า “การซื้อหุ้นกลับคืนดอกเบี้ยไม่คิด” นั้นมิใช่คำสนองตอบคำเสนอของโจทก์ที่จะมีผลเป็นสัญญาซื้อขายหุ้นที่โจทก์โอนให้ จ. อาจจะถือได้เพียงแต่เป็นคำเสนอของ จ.ในการที่จะโอนหุ้นให้โจทก์กลับคืนโดยคิดเงินจากโจทก์ ตามที่โจทก์ตั้งความหวังไว้และปรารภถึงความหวังนั้นให้ จ. ทราบในเอกสารหมาย จ.13ข้อ4เท่านั้นจ.ทำเอกสารหมายจ .15 ไปถึงโจทก์ตั้งแต่ปี 2518 โจทก์ได้รับเอกสารแล้วมิได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือแสดงเจตนาใดให้ปรากฏแก่ จ. ในเรื่องนี้ จนเวลาล่วงเลยมาถึงวันที่ 1 ตุ ลาคม พ.ศ. 2524 จ. ได้ถึงแก่กรรมเอกสารหมาย จ .15 ซึ่งอาจถือว่าเป็นคำเสนอนั้นจึงสิ้นความผูกพันโจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกของ จ.โอนหุ้นให้และรับเงินจากโจทก์ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 3 เป็นบุตรของนายจุติ บุญสูง เกิดจากนางภุชงค์ บุญสูง จำเลยที่ 1 เป็นบุตรเขยและจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายจุติ ตามคำสั่งศาล โจทก์เป็นหนี้บริษัทจุติพาณิชย์ จำกัด เป็นเงิน 7,000,000 บาทเศษ โจทก์ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงของให้นายจุติชำระหนี้แทน โดยโจทก์ได้โอนหุ้นของโจทก์ในบริษัทเรือขุดแร่จุติ จำกัด กับบริษัทอื่นรวมทั้งหมดให้นายจุติเป็นการชำระหนี้โดยแสดงความประสงค์ไว้ว่าหากมีเงินก็ขอซื้อหุ้นเหล่านี้คืนในราคาที่โอนไปบวกด้วยดอกเบี้ยต่อมาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2518 นายจุติได้มีหนังสือมาถึงโจทก์ยอมตกลงที่จะให้โจทก์ซื้อหุ้นคืนได้ เมื่อนายจุติถึงแก่กรรมโจทก์ได้แจ้งความประสงค์ที่จะซื้อหุ้นคืนจากจำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดก แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้โอนหุ้นแบ่งปันให้ทายาทอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการโอนหุ้นให้โจทก์ ถ้าจำเลยทั้งสามไม่โอนหุ้นคืนให้โจทก์ โจทก์ขอเรียกร้องเพียง 70,000,000 บาท จึงขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันโอนหุ้นของบริษัทเรือขุดแร่บุญส่งจำกัด บริษัทเจ.บี. จำกัด บริษัทจุติพาณิชย์ บริษัทเรือขุดแร่เชิงทะเล จำกัด และบริษัทเรือขุดแร่จุติ จำกัด ให้แก่โจทก์ และรับเงิน 7,000,000 บาท ถ้าไม่สามารถโอนหุ้นได้ ให้นำเงินจากกองมรดำจำนวน 70,000,000 บาท ชดใช้ค่าเสียหายให็โจทก์ ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้เอาทรัพย์สินจากกองมรดกขายทอดตลาดเอาเงิน 70,000,000บาท มาใช้ให้โจทก์ ถ้าบังคับตามคำขอข้างต้นไม่ได้ ให้จำเลยที่ 1ที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 70,000,000บาท ในฐานะส่วนตัวและรับเงิน 7,000,000 บาท ไปให้จำเลยทั้งสามนำเงินจากกองมรดำใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ถ้าไม่มีเงินในกองมรดกพอนำมาชำระได้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 รับผิดชดใช้เป็นส่วนตัว
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า การที่โจทก์โอนหุ้นให้นายจุติบุญสูง โจทก์มีหนังสือแสดงเจตนาขอหักหนี้สินทั้งหมดเพื่อชำระหนี้ให้นายจุติ ส่วนที่โจทก์แสดงความประสงค์ว่าถ้าภายหน้าเมื่อใดโจทก์พร้อมก็อยากจะขอซื้อหุ้นคืนในราคาที่โอนไปบวกด้วยดอกเบี้ยนั้นเป็นเพียงการแสดงความปรารถนาที่อยากจะซื้อหุ้นคืนในภายหน้า และการแสดงเจตนาของนายจุติ ตามหนังสือลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2518นั้น สิ้นสุดลงเมื่อนายจุติถึงแก่กรรม การแจ้งความประสงค์ของโจทก์ไม่มีผลตามกฎหมาย มูลค่าหุ้นที่โจทก์ฟ้องสูงเกินกว่าความเป็นจริงมาก การโอนหุ้นของนายจุติให้ทายาทอื่นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกโดยชอบด้วยกฎหมาย ทายาทอื่นนอกจากโจทก์ก็รับโอนหุ้นไปโดยไม่คัดค้านจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดกับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นิติกรรมซื้อขายเกิดขึ้นภายหลังจากที่นายจุติ บุญสูง ถึงแก่กรรมไปแล้วจึงไม่ผูกพันนายจุติและทายาทจำเลยทั้งสามไม่มีหน้าที่ต้องโอนหุ้นคืนให้โจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันโอนหุ้นของบริษัท เจ.บี. จำกัด บริษัทจุติพาณิชย์ จำกัด บริษัทเรือขุดแร่เชิงทะเล จำกัด บริษัทเรือขุดแร่บุญสูง จำกัด และบริษัทเรือขุดแร่จุติ จำกัด ให้แก่โจทก์และรับเงินจำนวน 7,000,000 บาท จากโจทก์ถ้าไม่สามารถโอนหุ้นดังกล่าวได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเงินจากมรดกของนายจุติ บุญสูง หรือนำทรัพย์สินจากกองมรดกออกขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินจำนวน 24,092,520.61 บาทชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ หากไม่สามารถปฏิบัติตามข้างต้นได้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชดใช้จำนวนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในฐานะส่วนตัว
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ 2 มีว่าเอกสารหมาย จ.13 และ จ.15 นั้นมีผลเป็นสัญญาซื้อขายหุ้นที่นายจุติรับโอนมาจากโจทก์อันผู้จัดการมรดกของนายจุติต้องผูกพันหรือไม่ และมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าค่าเสียหายของโจทก์มีเท่าใด ซึ่งจะได้วินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก่อนเห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.13 ข้อความที่จะนำมาวินิจฉัยเพื่อเหตุของที่มาว่าจะมีสัญญาซื้อขายเกิดขึ้นหรือไม่นั้น คงมีความที่ปรากฏในข้อ 4 ที่ว่า “ผมยังหวังที่จะกลับมามีส่วนในครอบครัวต่อไปภายหน้าถ้าเป็นไปได้เมื่อไหร่ที่ผมพร้อมผมอยากจะขอซื้อหุ้นเหล่านี้กลับคืนโดยที่ผมยินยอมที่จะซื้อคืนมาในราคาที่โอนไปบวกดอกเบี้ยตามอัตราที่ป๋าหรือสมาชิกของครอบครัวจะกำหนดให้” นั้นจะถือเป็นคำเสนอขอซื้อหุ้นของโจทก์หรือไม่ ข้อความดังกล่าวไม่ปรากฎให้เห็นว่าเป็นการแสดงเจตนาแสดงความประสงค์าของโจทก์ในลักษณะที่เป็นคำขอให้นายจุติทำสัญญาด้วย และข้อความที่ว่า “ถ้าเป็นไปได้เมื่อไหร่ที่ผมพร้อมผมอยากจะซื้อหุ้นเหล่านี้กลับคืน” ก็เป็นข้อที่ไม่เป็นการชัดเจนแน่นอนว่า ข้อที่จะทำให้เกิดหรือมีขึ้นคือการซื้อหุ้นนั้นจะมีทางเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่เมื่อใด และเมื่อพิจารณาถึงข้อความที่ปรากฎในตอนต้นของข้อ 4 ที่ว่า “ผมยังหวังที่จะกลับมามีส่วนในครอบครัวต่อไปภายหน้า” แล้ว ทำให้เห็นได้เป็นการแน่นอนขึ้นว่าเป็นเรื่องของการที่โจทก์คาดหวังไว้ล่วงหน้า ถ้ามีโอกาสก็จะทำอย่างนั้น ซึ่งในขณะที่ทำเอกสารหมาย จ.13 นั้น โจทก์เองก็ยังไม่รู้ว่าโอกาสเช่นนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ ตามความในสัญญาข้อ 5.2ที่ว่า “ขอทราบอัตราดอกเบี้ยต่อปีที่จะคิด ถ้าผมต้องการที่จะซื้อหุ้นเหล่านี้กลับคืนมา” ทำให้เห็นว่าในขณะที่ทำเอกสารหมาย จ.13นั้นโจทก์ยังไม่มีเจตนาที่เป็นการแน่นอนเกี่ยวกับหุ้นที่นายจุติรับโอนให้ว่าจะซื้อคืนหรือไม่ อีกทั้งเมื่อโจทก์ทำเอกสารหมาย จ.13นั้นยังไม่เป็นการแน่นอนว่านายจุติจะรับโอนหุ้นที่โจทก์อ้างถึงเป็นการชำระหนี้หรือไม่และยังไม่ได้มีการโอนหุ้นไปเป็นของนายจุติตอนนั้นจึงต้องถือว่าเรื่องการโอนหุ้นเป็นการชำระหนี้ เป็นเรื่องอนาคต ดังนั้นในเรื่องหุ้นที่โจทก์โอนให้นายจุติไปแล้วนั้น ข้อความที่ปรากฎในเอกสารหมาย จ.13 ถือไม่ได้ว่าเป็นคำเสนอที่โจทก์ขอซื้อหุ้นคืนจากนายจุติ เป็นเพียงข้อปรารภถึงสิ่งที่โจทก์คาดหวังไว้ในอนาคตเท่านั้น ไม่มีผลที่จะผูกนิติสัมพันธ์อย่างใดกับผู้ที่ได้รับการปรารภเช่นนั้น ในเมื่อเอกสารหมาย จ.13 มิใช่คำเสนอขอซื้อหุ้นแล้วหนังสือของนายจุติตามเอกสารหมาย จ.15 ข้อ 4 ที่ว่า”ตามที่แดง (หมายถึงโจทก์) ประสงค์จะขอซื้อหุ้นกลับคืนต่อภายหน้าเมื่อการเงินสะดวกนั้นไม่ขัดข้องแต่อย่างใดเลยจะโอนให้ทันทีโดยไม่เรียกร้องผลประโยชน์หรือดอกเบี้ย” ข้อ 5.1 ตอนท้ายที่ว่า”ป๋าพิจารณาแล้วเห็นเป็นการสมควรเพื่อความสะดวกเมื่อเวลาโอนหุ้นกลับคืนให้แดงจะคิดเป็นจำนวนเงินเพียง 7,000,000 (เจ็ดล้าน) บาทเท่านั้น” และข้อ 5.2 ที่ว่า “การซื้อหุ้นกลับคืนดอกเบี้ยไม่คิด”นั้นจึงมิใช่คำสนองตอบคำเสนอของโจทก์ที่จะมีผลเป็นสัญญาซื้อขายหุ้นที่โจทก์โอนให้นายจุติ อาจจะถือได้ก็เพียงแต่เป็นคำเสนอของนายจุติในการที่จะโอนหุ้นให้โจทก์กลับคืนโดยคิดเงินจากโจทก์ 7,000,000 บาทตามที่โจทก์ตั้งความหวังไว้และปรารภถึงความหวังนั้นให้นายจุติทราบในเอกสารหมาย จ.13 ข้อ 4 เท่านั้น นายจุติทำเอกสารหมาย จ.15ไปถึงโจทก์ตั้งแต่ปี 2518 โจทก์ได้รับเอกสารหมาย จ.15 แล้วก็มิได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือแสดงเจตนาใดให้ปรากฎกับนายจุติในเรื่องนี้ จนเวลาล่วงเลยมาจนถึงววันที่ 1 ตุลาคม 2525 ซึ่งนายจุติได้ถึงแก่กรรม เอกสารหมาย จ.15 ซึ่งอาจจะถือว่าเป็นคำเสนอนั้นจึงสิ้นความผูกพัน โจทก์จึงไม่สิทธิใด ๆ ที่จะเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกของนายจุติโอนหุ้นให้และรับเงินาจากโจทก์ได้เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับให้จำเลยทั้งสามโอนหุ้นให้ดังวินิจฉัยแล้ว ฎีกาของโจทก์ในเรื่องค่าเสียหายในกรณีที่โอนหุ้นให้ไม่ได้จึงตกไปในตัว…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.