แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยขอแก้ไขคำให้การเป็นครั้งที่สองหลังจากสืบพยานจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งหากอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การได้ตามขอการพิจารณาคดีในส่วนของจำเลยก็ไม่มีที่สิ้นสุด แม้จำเลยจะอ้างว่า คำให้การที่ขอแก้ไขนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็หามีผลลบล้างพยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบไปเสร็จสิ้นแล้วไม่ กรณีไม่มีเหตุอนุญาตให้แก้ไขคำให้การ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2537โจทก์ซื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 7789, 7790, 7793 และ 7794พร้อมบ้าน 2 ชั้น 4 หลัง จากจำเลยที่ 1 ในราคา 5,500,000 บาทโดยชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 ตกลงจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์ภายใน 4 เดือนนับแต่วันทำสัญญา หากผิดนัดยอมให้ปรับเป็นเงินเดือนละ 200,000บาท และจำเลยที่ 1 ตกลงจะสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก จัดให้มีไฟฟ้า น้ำประปา ท่อระบายน้ำ ตามมาตรฐานการจัดสรรของทางราชการหากผิดนัดไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดหรือไม่สามารถดำเนินการได้ จำเลยที่ 1 ตกลงคืนเงินที่ได้รับไว้ทั้งหมดให้แก่โจทก์พร้อมเบี้ยปรับอีก 2 เท่า ของราคาที่ซื้อขาย ต่อมาวันที่ 25 เมษายน 2537โจทก์ซื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 7788 พร้อมบ้าน 2 ชั้น จากจำเลยที่ 1 อีก ในราคา 1,900,000 บาท โดยชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1ครบถ้วนแล้ว และจำเลยที่ 1 ตกลงจะส่งมอบที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์เช่นเดียวกับการซื้อขายครั้งแรก ในการซื้อขายที่ดินพร้อมบ้านทั้งสองครั้งดังกล่าวเป็นเงินทั้งสิ้น 7,400,000 บาท นั้น มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งหมด โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญา และทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 7,400,000บาท กับเบี้ยปรับอีก 2 เท่า ของราคาที่ซื้อขายเป็นเงิน 14,800,000บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 7,400,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า หนี้ตามฟ้องเกิดจากมูลหนี้แลกเช็คระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรในราคาเท่าเงินกู้ยืมรวมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ถึง 6และโจทก์กำหนดเบี้ยปรับ 2 เท่า ไว้เพื่อเป็นสภาพบังคับให้จำเลยที่ 1ปฏิบัติตามข้อตกลง นิติกรรมการซื้อขายจึงเป็นนิติกรรมอำพรางโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขาย หากฟังว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขาย แต่โจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และมิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์เสียหายอย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 สัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า โจทก์จะไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนอันจะทำให้สัญญาค้ำประกันมีผลให้จำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วมเมื่อโจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2ทำไว้กับโจทก์จึงไม่มีผลบังคับ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทและให้จำเลยทั้งสองนำสืบก่อน
ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2541 ก่อนถึงวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองนัดแรก จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การโดยขอสละข้อต่อสู้ที่ว่าโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และมิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์เสียหายอย่างใดและขอเพิ่มเติมคำให้การว่า สัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาซื้อขาย มิใช่สัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยทั้งสอง ส่วนเบี้ยปรับในสัญญาดังกล่าวไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์มิได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนตามสัญญาซื้อขาย แต่เป็นการอำพรางการกู้ยืมเงินที่คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ สัญญาค้ำประกันตามฟ้องไม่สมบูรณ์เนื่องจากเป็นการทำสัญญาค้ำประกันที่เป็นการอำพรางการกู้ยืมเงินที่คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดโจทก์จึงไม่มีสิทธินำสัญญาดังกล่าวมาฟ้อง
โจทก์ไม่คัดค้านคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยทั้งสองศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองแก้ไขคำให้การแล้วสืบพยานจำเลยทั้งสองจนเสร็จ ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 11 มีนาคม 2542
เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การครั้งที่สองโดยเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1ทำหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2537 ให้นายศักดิ์สินปุญชลักข์ มีอำนาจขายที่ดินทั้งสี่แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวในราคา 5,500,000 บาท และให้มีอำนาจซื้อคืนในราคา6,500,000 บาท ซึ่งนายศักดิ์สินกับโจทก์ต้องไปจดทะเบียนการซื้อขายต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่นายศักดิ์สินกลับไปทำเป็นสัญญาจะซื้อจะขายโดยมีเงื่อนไขจะไปโอนกรรมสิทธิ์กันภายหลัง ซึ่งผิดไปจากการมอบหมายของจำเลยที่ 1 นายศักดิ์สินไม่มีอำนาจทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์ ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 4 มีนาคม 2537ทั้งที่ดิน 1 ใน 4 แปลง ที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้นายศักดิ์สินขายคือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 7792 แต่นายศักดิ์สินกลับนำที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 7794 ไปขาย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว สัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในการกู้ยืมเงินที่มีดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์5,500,000 บาท กำหนดชำระคืนภายใน 4 เดือน รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 6,500,000 บาท ซึ่งคิดเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ72.72 ต่อปี โดยโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ออกเช็คล่วงหน้าเป็นประกันไว้6,500,000 บาท กับให้นายศักดิ์สินทำสัญญาค้ำประกันไว้อีกชั้นหนึ่งแต่นายศักดิ์สินมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2สัญญาค้ำประกันทั้งสองฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2537 ก็เป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่มีดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์คัดค้านว่า จำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และมิใช่เป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การครั้งที่สองภายหลังวันชี้สองสถานและหลังจากสืบพยานจำเลยทั้งสองซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนเสร็จสิ้นแล้ว
คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า คำร้องขอแก้ไขคำให้การดังกล่าวเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองขอแก้ไขคำให้การในประเด็นที่ว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างฉบับพิพาทเป็นนิติกรรมที่ทำโดยผู้มีอำนาจหรือไม่ และหากทำโดยผู้ไม่มีอำนาจ สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะหรือไม่ และหากเป็นโมฆะจำเลยที่ 1 จำต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ นอกจากนี้ยังขอแก้ไขคำให้การในประเด็นที่ว่า สัญญาค้ำประกันเป็นโมฆะหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับเอากับจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ ซึ่งการขอแก้ไขคำให้การดังกล่าวล้วนแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่า การขอแก้ไขคำให้การดังกล่าวเป็นการขอแก้ไขครั้งที่สองหลังจากสืบพยานจำเลยทั้งสองซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งหากอนุญาตให้จำเลยทั้งสองแก้ไขคำให้การได้ตามขอ การพิจารณาคดีในส่วนของจำเลยทั้งสองก็ไม่สิ้นสุดลงเสียที แม้จำเลยทั้งสองจะอ้างว่า คำให้การที่ขอแก้ไขนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม ก็หามีผลลบล้างพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองที่นำสืบไปเสร็จสิ้นแล้วแต่อย่างใดไม่กรณีไม่มีเหตุอนุญาตให้แก้ไขคำให้การ
พิพากษายืน