คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องเรียกราคารถส่วนที่ขาดเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อที่ระบุว่าเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันผู้เช่าซื้อคือจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนให้แก่เจ้าของคือโจทก์ในสภาพเรียบร้อยโดยพลัน หากส่งมอบคืนไม่ได้หรือคืนในสภาพเรียบร้อยไม่ได้ต้องชดใช้ราคาทรัพย์สินเท่าราคาค่าเช่าซื้อ ซึ่งมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดกรณีพิพาท หาใช่การฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีที่ทรัพย์สินที่เช่าซื้อเสียหาย เพราะการที่จำเลยที่ 1ใช้โดยไม่ชอบ ซึ่งมีอายุความ 6 เดือนตามมาตรา 563 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน270,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 165,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคหนึ่ง มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการเรียกราคารถยนต์ที่ขายได้เงินไม่คุ้มกับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องเรียกราคารถส่วนที่ขาดดังกล่าวเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 ที่ระบุว่าเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ผู้เช่าซื้อเลิกกัน ผู้เช่าซื้อคือจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนให้แก่เจ้าของคือโจทก์ในสภาพเรียบร้อยโดยพลัน หากส่งมอบคืนไม่ได้หรือคืนในสภาพเรียบร้อยไม่ได้ต้องชดใช้ราคาทรัพย์สินเท่าราคาค่าเช่าซื้อ ซึ่งมีอายความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดกรณีพิพาท หาใช่การฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีที่ทรัพย์สินที่เช่าซื้อทรัพย์สินที่เช่าซื้อเสียหายเพราะการที่จำเลยที่ 1 ใช้โดยไม่ชอบซึ่งมีอายุความ 6 เดือนตามมาตรา 563ไม่ ฟ้องโจทก์ในเรื่องนี้จึงไม่ขาดอายุความฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นที่ว่าศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายราคารถส่วนที่ขาดอยู่ไม่ถูกต้องและค่าขาดประโยชน์สูงเกินไป เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้าม ศาลฎีการับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share