คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2243/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เรือของกองทัพเรือโจทก์จมลง ต่อมาโจทก์กู้เรือขึ้นมาซ่อมพร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่ง คณะกรรมการสอบสวนได้รายงานผู้บัญชาการทหารเรือตามบันทึกลงวันที่ 25พฤษภาคม 2524 โจทก์ได้รับบันทึกเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2524เจ้ากรมสารบัญทหารเรือได้บันทึกเสนอต่อโจทก์ว่าการสอบสวนยังไม่สมบูรณ์ โจทก์ได้สั่งสอบสวนเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม2524 จึงฟังได้ว่ากองทัพเรือได้ทราบถึงผู้ที่ต้องรับผิดทางแพ่งแล้วคือจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 สำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 แม้คณะกรรมการจะได้มีความเห็นว่าไม่ต้องรับผิดในทางแพ่งแต่การที่จะวินิจฉัยความรับผิดของผู้ใดนั้นเป็นเรื่องที่ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดในที่สุด รายงานของคณะกรรมการสอบสวนที่โจทก์ตั้งขึ้นครั้งแรกจึงได้แสดงให้รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่งแล้วว่าคือผู้ใดบ้าง คณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งได้สอบสวนเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2524 จึงฟังได้ว่าโจทก์ทราบถึงตัวผู้ต้องรับผิดทางแพ่งแล้วก่อนวันที่ 15 ธันวาคม 2524อายุความก็ต้องเริ่มนับแต่วันนั้นเป็นต้นไป โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2527 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นประจำหมู่เรือที่ 7 และต้นกล (ต.ก.) หมู่เรือที่ 7 กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการมีหน้าที่กำกับการในการระมัดระวังดูแลรักษาเรือ ต.22 จำเลยที่ 2เป็นหัวหน้าช่าง หมวดช่างท่อ โรงงานซ่อมเครื่องเย็นและเครื่องปรับอากาศ แผนกโรงงานเครื่องกล กองโรงงาน กรมโรงงานฐานทัพเรือสัตหีบ มีหน้าที่รับผิดชอบในการซ่อมหม้อระงับเสียงของเรือ ต.22 จำเลยที่ 3 เป็นพันจ่าปืนเรือ ต.22 กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ มีหน้าที่ตรวจตรากวดขันการปฏิบัติหน้าที่ของจ่ายามประจำวันให้ปฏิบัติหน้าที่โดยเคร่งครัดในการตรวจตราดูแลเรือ ต.22 จำเลยที่ 4 เป็นจ่าปืนเรือ ต.22 กองเรือตรวจอ่าวกองเรือยุทธการทำหน้าที่เป็นจ่ายาม ประจำวัน มีหน้าที่ตรวจตราเกี่ยวกับความปลอดภัยของเรือ ต.22 และทหารประจำเรือทุกต้นชั่วโมง จำเลยที่ 5 เป็นจ่าปืนเรือ กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการทำหน้าที่เป็นจ่ายามประจำวัน มีหน้าที่ดูแลตรวจตราเกี่ยวกับความปลอดภัยของเรือ ต.22 และทหารประจำเรือ จำเลยที่ 6 เป็นพันจ่าช่างกลหมวดเรือแผนกขนส่งกองพลาธิการ กองเรือยุทธการมีหน้าที่ซ่อมเรือ ต.22 ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา คือ จำเลยที่ 1และมีหน้าที่ตรวจตราดูแลรักษาเรือ ต.22 จำเลยที่ 7 เป็นหัวหน้าช่างผู้ปฏิบัติงาน 2 หมวดช่างท่อ กรมโรงงานฐานทัพเรือสัตหีบทำหน้าที่หัวหน้าชุดช่างโดยเป็นผู้ดำเนินการถอดหม้อระงับเสียงของเรือ ต.22 ออกไปซ่อมในโรงงาน และมีหน้าที่ระมัดระวังดูแลรักษาเรือ ต.22 ไม่ให้เกิดความเสียหาย จำเลยที่ 1เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 จำเลยทั้งเจ็ดมีหน้าที่ในการซ่อม ทำและดูแลรักษาเรือ ต.22 ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อกล่าวคือ ขณะที่เรือ ต.22จอดอยู่ที่ท่าเทียบเรือ ตำบลสัตหีบ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2523จำเลยที่ 1 ได้สั่งการให้จำเลยที่ 7 ถอดหม้อระงับเสียงของเรือต.22 ออกไปซ่อมในโรงงาน แต่ไม่ดำเนินการอุดท่อแก๊สเสียเพื่อป้องกันน้ำเข้าเรือ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าเรือ ต.22 ไม่มีลิ้นกันกลับสำหรับกันน้ำเข้าเรือจำเลยที่ 2 ไม่ควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 7 ให้จำเลยที่ 7 อุดท่อแก๊สเสียของเรือ ต.22 ให้ถูกต้อง จำเลยที่ 3 ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมกวดขันให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรยามโดยเคร่งครัดเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่อยู่เวรยามตรวจตราระมัดระวังดูแลรักษาเรือ ต.22 ตามหน้าที่ ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ทราบดีอยู่แล้วว่าเรือ ต.22 กำลังอยู่ในระหว่างซ่อมเครื่องจักรใหญ่จะต้องได้รับการตรวจตราดูแลเป็นพิเศษแต่จำเลยที่ 4 และที่ 5 กลับเข้านอนเมื่อเวลา 22 นาฬิกา ของวันที่17 สิงหาคม 2523 ตื่นเมื่อเวลา 6 นาฬิกา ของวันที่ 18 สิงหาคม2523 จึงไม่ทราบว่าน้ำเข้าเรือ ต.22 มากจนไม่สามารถแก้ไขได้ทันเหตุการณ์ หากจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรยามโดยเคร่งครัด ย่อมจะรู้ว่าน้ำเข้าเรือ ต.22 และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบและแก้ไขได้ทันเหตุการณ์เรือ ต.22 ก็จะไม่จมลงจำเลยที่ 6 ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2523 ให้อุดท่อแก๊สเสียของเรือ ต.22ไม่ทำการอุดท่อแก๊สเสียในวันนั้นแต่ทำการอุดในวันที่ 6 สิงหาคม2523 โดยไม่ถูกต้องตามวิธีการเป็นเหตุให้น้ำเข้าเรือ ต.22ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 6 รู้อยู่แล้วว่าเรือ ต.22 ไม่มีลิ้นกันกลับสำหรับกันน้ำเข้าเรือ จำเลยที่ 7 เป็นหัวหน้าชุดช่างผู้ดำเนินการถอดหม้อระงับเสียงของเรือ ต.22 ออกไปซ่อมในโรงงาน เมื่อถอดหม้อระงับเสียงออกไปแล้วไม่ทำการอุดท่อแก๊สเสียเพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าเรือ ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 7 รู้อยู่แล้วว่าเรือ ต.22ไม่มีลิ้นกันกลับสำหรับกันน้ำเข้าเรือ เป็นเหตุให้น้ำไหลเข้าเรือต.22 มากจนไม่สามารถสูบออกได้ทันและจมลงเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม2523 โดยได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดชำระเงินค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดให้การว่า จำเลยทั้งเจ็ดมิได้ประมาทเลินเล่อฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7ร่วมกันชำระเงินจำนวน 116,540.50 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2523 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 6 โจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินจำนวน 251,560 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18สิงหาคม 2523 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เรือต.22 เป็นเรือในหมู่เรือที่ 7 กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการจำเลยที่ 1 เป็นประจำหมู่เรือที่ 7 กองเรือตรวจอ่าวกองเรือยุทธการ จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าช่างหมวดช่างท่อโรงงานแผนกโรงงานเครื่องกล กองโรงงาน กรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบจำเลยที่ 3 เป็นพันจ่าปืนเรือ ต.22 จำเลย ที่ 4 เป็นจ่าปืนเรือต.28 จำเลยที่ 5 เป็นจ่าปืนเรือ ต.21 จำเลยที่ 3, 4 และ 5เป็นจ่ายามประจำวันปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา ของวันที่ 17 สิงหาคม 2523 ถึงเวลา 8 นาฬิกา ของวันที่ 18 สิงหาคม2523 จำเลยที่ 6 เป็นจ่าช่างกลประจำเรือ ต.22 ส่วนจำเลยที่ 7เป็นหัวหน้าชุดช่างผู้ทำการซ่อมหม้อระงับเสียงของเรือ ต.22เรือ ต.22 ได้จมลงขณะที่จอดอยู่ที่ท่าเทียบเรือของโจทก์ ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม2523 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา ก่อนเรือ ต.22 จะจมลงนั้น จำเลยที่ 2ได้รับคำสั่งจากนายช่างวางแผนงาน กองโรงงาน กรมโรงงานฐานทัพเรือสัตหีบ ให้ตรวจซ่อมท่อแก๊สเสียและหม้อระงับเสียงของเครื่องจักรใหญ่ทั้งซ้ายและขวาของเรือ ต.22 จำเลยที่ 2 สั่งจำเลยที่ 7 ไปทำการซ่อม จำเลยที่ 7 ถอดท่อแก๊สเสียของเรือ ต.22ไปซ่อมที่โรงงานเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2523 และถอดหม้อระงับเสียงของเรือ ต.22 ไปซ่อมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2523 โดยมิได้อุดท่อแก๊สเสียและช่องที่ถอดหม้อระงับเสียง จำเลยที่ 6ได้รายงานให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 6ดำเนินการอุดท่อนั้นเสีย จำเลยที่ 6 ไม่ใช้ลูกอุดตามวิธีการแต่ใช้กระสอบพับและยัดเข้าไปในช่องนั้นจากทางด้านในของเรือ เมื่อมีคลื่นลมแรง น้ำทะเล จึงไหลเข้าทางช่องดังกล่าว จำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5 ซึ่งเป็นยามสังเกตเห็นเรือ ต.22 มีระดับต่ำผิดปกติเมื่อเวลาประมาณ 5 นาฬิกา ของวันที่ 18 สิงหาคม 2523 รีบลงไปตรวจดูพบว่าน้ำเข้าเรือจึงรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อแก้ไขเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขโดยผูกเรือ ต.22เข้ากับเรือข้างเคียงและใช้เครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง สูบน้ำออกแต่เครื่องสูบน้ำ 3 เครื่องใช้การไม่ได้ อีก 1 เครื่องใช้การได้ไม่ดี เรือ ต.22 จึงจมลง ต่อมาโจทก์กู้เรือ ต.22 ขึ้นมาซ่อมพร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่ง คณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งได้รายงานผู้บัญชาการทหารเรือตามบันทึกลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2524 กองทัพเรือได้รับบันทึกดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2524 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.5 ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 เป็นผู้ต้องรับผิดชอบทางแพ่งในการที่เรือ ต.22 จม ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ จึงไม่ต้องรับผิดทางแพ่งด้วย และได้ความตามบันทึกกรมสารบัญทหารเรือลงวันที่ 1เมษายน 2526 เอกสารหมาย จ.3 และบันทึกลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2526เอกสารหมาย จ.4 ว่าเจ้ากรมสารบัญทหารเรือได้บันทึกเสนอกองทัพเรือว่าการสอบสวนยังไม่สมบูรณ์ กองทัพเรือได้สั่งสอบสวนเพิ่มเติมปรากฏตามเอกสารหมาย จ.18 และ จ.24 ว่ามีการสอบสวนเพิ่มเติมเรือเอกถวิล (จำเลยที่ 1) และจ่าเอกทวีชัย (จำเลยที่ 6)เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2524 ต่อมาเจ้ากรมสารบัญทหารเรือได้บันทึกลงวันที่ 1 เมษายน 2526 ขอเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งเนื่องจากกรรมการสอบสวน 2 นาย ไปราชการต่างประเทศผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือรับคำสั่งผู้บัญชาการทหารเรือได้อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงกรรมการสอบสวน ปรากฏตามบันทึกเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนได้เสนอรายงานต่อกองทัพเรือและเจ้ากรมสารบัญทหารเรือได้เสนอกองทัพเรือเมื่อวันที่ 11สิงหาคม 2526 ปรากฏตามบันทึกเอกสารหมาย จ.4
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 เป็นประเด็นแรกว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด คดีนี้คณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งกรณีเรือ ต.22 จม เสนอผลการสอบสวนต่อกองทัพเรือเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2524 กองทัพเรือได้รับรายงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2524 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.5 ต่อมาวันที่ 26 เมษายน 2526 มีบันทึกข้อความขออนุมัติเปลี่ยนตัวกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งบันทึกดังกล่าวอ้างว่ากรรมการสอบสวนได้เสนอผลการสอบสวนมายังกองทัพเรือแล้ว แต่ปรากฏว่าการสอบสวนยังไม่บริบูรณ์จำเป็นต้องสอบสวนข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพิ่มเติม และต่อมาขอเปลี่ยนตัวกรรมการสอบสวน เจ้ากรมสารบัญทหารเรือได้เสนอบันทึกดังกล่าวต่อกองทัพเรือ ซึ่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือได้อนุมัติโดยอ้างรับคำสั่งผู้บัญชาการทหารเรือเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2522 ปรากฏตามบันทึกข้อความเอกสารหมายจ.2 และตามบันทึกดังกล่าวนั้นระบุว่ารายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งได้ส่งมายังกองทัพเรือแล้วแสดงให้เห็นว่ารายงานผลการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งเอกสารหมาย ล.5 น่าจะได้เสนอตามลำดับชั้นผู้รับผิดชอบจนถึงผู้บัญชาการทหารเรือทราบ และมีการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมซึ่งข้อนี้จำเลยมีนาวาเอกสมบูรณ์ สุขพันธ์ กรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งเบิกความว่า เมื่อกองทัพเรือได้รับสำนวนการสอบสวนแล้ว ได้เสนอความเห็นตามลำดับต่อผู้บัญชาการทหารเรือเพื่อขออนุมัติให้สอบสวนเพิ่มเติม ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้อนุมัติ จึงฟังได้ว่ากองทัพเรือได้ทราบถึงผู้ที่ต้องรับผิดทางแพ่งแล้ว คือจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 สำหรับจำเลยที่ 3ที่ 4 และที่ 5 แม้คณะกรรมการจะได้มีความเห็นว่าไม่ต้องรับผิดในทางแพ่ง โดยแสดงเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้ง แต่การที่จะวินิจฉัยความรับผิดของผู้ใดนั้นเป็นเรื่องที่ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดในที่สุด ศาลฎีกาเห็นว่า ตามรายงานของคณะกรรมการที่โจทก์ตั้งขึ้นครั้งแรกได้แสดงให้รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง แล้วว่าคือผู้ใดบ้างตามสำนวนการสอบสวนผู้รับผิดทางแพ่ง คณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งได้สอบสวนเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2524ปรากฏตามบันทึกการสอบสวนเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.18 และ จ.24จึงฟังได้ว่าโจทก์ทราบถึงตัวผู้ต้องรับผิดทางแพ่งแล้วก่อนวันที่ 15 ธันวาคม 2524 อายุความ ก็ต้องเริ่มนับแต่วันนั้นเป็นต้นไป โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2527คดีโจทก์จึงขาดอายุความ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 3ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share