แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตหรือเกษียณอายุก่อนกำหนด แม้จะเรียกว่าเป็นเงินช่วยเหลือแต่ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ และเบี้ยหวัดของข้าราชการที่รัฐบาลได้จ่ายให้แก่ข้าราชการที่พ้นจากราชการไปแล้ว ตลอดจนคู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ของบุคคลนั้นซึ่งตามกฎหมายมีสิทธิได้รับเงินจำนวนนี้เพื่อเลี้ยงชีพ ย่อมไม่ตกอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์ขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและอายัดทรัพย์บางส่วนไว้แล้ว
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุตามโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเกษียณก่อนกำหนด และมีสิทธิจะได้รับเงินขวัญถุง และเงินช่วยเหลือรายเดือนผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ร.บ.) เงินจำนวนดังกล่าวสามารถยึดหรืออายัดมาชำระหนี้โจทก์ได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดหรืออายัดทรัพย์ดังกล่าว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เงินที่โจทก์ขอให้อายัดเป็นเงินประเภทเดียวกับเงินที่รัฐจ่ายให้ในลักษณะของเงินบำเหน็จที่เบิกจ่ายจากงบประมาณของแผ่นดิน กรณีต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘๖ (๒) ไม่ตกอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี กรณีจึงไม่ต้องทำการไต่สวน ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๓ ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตหรือเกษียณก่อนกำหนดนั้น รัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับสัดส่วนและลดขนาดกำลังคนในภาครัฐให้เหมาะสม แต่มีพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพสูงโดยจูงใจให้ข้าราชการออกจากราชการก่อนเกษียณอายุโดยมีสิ่งจูงใจคือ
(๑) ส่วนที่เป็นตัวเงิน
(๑.๑) เงินขวัญถุง ให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับเงินขวัญถุงเป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้าย X ๗ โดยจะแบ่งจ่าย ๒ งวด ปีละงวด เป็นจำนวนเงินเท่า ๆ กัน
(๑.๒) เงินเพิ่มจากบำนาญ ให้เงินเพิ่มเพื่อให้ได้รับบำนาญสูงขึ้นเสมือนหนึ่งผู้เข้าร่วมโครงการมีเวลาราชการเพื่อคำนวณบำนาญถึงวาระเกษียณ (นับเวลาราชการที่เหลือ) โดยจ่ายเงินเพิ่มเป็นรายเดือนพร้อมกับบำนาญปกติ เท่ากับ
เงินเพิ่มเท่ากับอัตราเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีเวลาราชการที่เหลือหารด้วยห้าสิบ
ทั้งนี้ เงินเพิ่มจะต้องไม่สูงกว่าร้อยละ ๒๐ ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย
.ฯลฯ
ต่อมาได้มี พ.ร.ฎ. เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๘ บัญญัติว่า “ให้ข้าราชการซึ่งได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุตามโครงการ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนและหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑)ในกรณีที่ผู้นั้นรับบำเหน็จ ให้ได้รับเงินช่วยเหลือในอัตราเจ็ดเท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย โดยแบ่งจ่ายเป็นสองงวดในจำนวนเท่ากันและจ่ายให้ปีละงวด
(๒) ในกรณีที่ผู้นั้นรับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ ให้ได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนและหลักเกณฑ์ตาม (๑) รวมทั้งเงินช่วยเหลือรายเดือนผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเรียกโดยย่อว่า “ช.ร.บ.” ซึ่งคำนวณจากอัตราเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีเวลาราชการที่เหลือหารด้วยห้าสิบ ทั้งนี้ จำนวนเงิน ช.ร.บ. นี้ ต้องไม่สูงกว่าร้อยละยี่สิบของเงินเดือนเดือนสุดท้าย และเมื่อนำไปรวมกับเบี้ยหวัดหรือบำนาญหรือเงินเพิ่มอื่น ๆ แล้ว จะต้องไม่สูงกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้าย
เงินเดือนเดือนสุดท้ายให้หมายความรวมถึงเงินเดือนที่ได้เลื่อนในวันที่ ๓๐ กันยายน ของปีที่ลาออกจากราชการตามโครงการด้วย”
ดังนั้น เงินที่จำเลยที่ ๑ จะได้รับจากโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตหรือเกษียณอายุก่อนกำหนด แม้จะเรียกว่าเป็นเงินช่วยเหลือแต่ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ และเบี้ยหวัดของข้าราชการที่รัฐบาลได้จ่ายให้แก่ข้าราชการที่พ้นจากราชการไปแล้ว ตลอดจนคู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ของบุคคลนั้นซึ่งตามกฎหมายมีสิทธิได้รับเงินจำนวนนี้เพื่อเลี้ยงชีพ ย่อมไม่ตกอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘๖ (๒)
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.