คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5127/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งผู้ออกตั๋วได้ลงข้อความในด้านหน้าของตั๋วว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” ดังนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นย่อมจะโอนกันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 917 วรรคสอง ประกอบมาตรา 985การโอนสามัญคือ การโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือ มิฉะนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ และการโอนนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนโดยคำบอกกล่าวหรือความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือด้วย การที่ลูกหนี้ที่ 1ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความในด้านหน้าว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้”ให้กับ ธ.ต่อมาธ. สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้เจ้าหนี้โดยมิได้ทำเป็นหนังสือ แม้ ธ. จะได้ทำหนังสือแจ้งการสลักหลังให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบพร้อมทั้งโอนตั๋วสัญญาใช้เงินให้เจ้าหนี้ก็ตาม เจ้าหนี้ก็ยังไม่เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงิน จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ได้

ย่อยาว

เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดนายอติชาติ เจ้าหนี้จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย จำนวน 197,042.01 บาท โดยไม่มีผู้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นว่าควรยกคำขอรับชำระหนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ลูกหนี้ที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ เอ.0006479 ลงวันออกตั๋ว 15 สิงหาคม 2527 เปลี่ยนมือไม่ได้จำนวนเงิน 675,629.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ6 ต่อปี ให้แก่นายธาตรี พาราพิบูลย์ ซึ่งครบกำหนดจ่ายเงินพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวให้นายธาตรี วันที่ 15 สิงหาคม 2530 ตามเอกสารหมาย จ.1 ต่อมานายธาตรีได้สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้แก่นายอติชาตเจ้าหนี้โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือ แต่นายธาตรีได้ทำหนังสือลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2528 ถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 แจ้งการสลักหลังและการโอนตั๋วสัญญาใช้เงิน และว่าได้ส่งมอบตั๋วสัญญาใช้เงินให้นายอติชาตเจ้าหนี้แล้วตามเอกสารหมาย จ.2 นายอติชาตเจ้าหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ที่ 1 จำนวนเงิน 500,000 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้นายอติชาตเจ้าหนี้อยู่ตามจำนวนที่ขอรับชำระหนี้นายอติชาตเจ้าหนี้จึงได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รายนี้
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้รายนี้ตามคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ ที่เจ้าหนี้ฎีกาว่า เมื่อคดีรับฟังได้ว่า เจ้าหนี้ได้รับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินต่อจากนายธาตรี นายธาตรีได้แจ้งการสลักหลังและส่งมอบตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ก็เท่ากับว่าได้แจ้งการโอนไปยังลูกหนี้ที่ 1 แล้ว การโอนตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างนายธาตรีและเจ้าหนี้จึงชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 ผู้ออกตั๋วคือลูกหนี้ที่ 1ได้ลงข้อความในด้านหน้าของเอกสารดังกล่าวว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้”จึงมีผลบังคับว่า ย่อมจะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 917 วรรคสอง และมาตรา 985 ได้บัญญัติให้นำไปบังคับใช้ในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย การโอนสามัญคือการโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 ซึ่งบัญญัติว่า “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้น ท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ” ดังนั้นการที่นายธาตรีสลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 และโอนตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้เจ้าหนี้ ไม่ใช่เป็นการทำหนังสือโอนหนี้ให้เจ้าหนี้ แม้การที่นายธาตรีลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.2 แจ้งการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ทราบ ก็ไม่ถือว่าเป็นการทำหนังสือโอนหนี้ เป็นแต่เพียงการกระทำให้มีผลว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้เท่านั้น แต่การจะยกเป็นข้อต่อสู้ดังกล่าวได้ก็ต้องมีการกระทำอันเป็นการโอนหนี้ในตอนแรกให้ถูกต้องก่อนคือทำเป็นหนังสือ เมื่อคดีรับฟังได้ว่านายธาตรีไม่ได้ทำหนังสือโอนหนี้ให้เจ้าหนี้ เจ้าหนี้รายนี้จึงยังไม่เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงิน ไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ได้”
พิพากษายืน

Share