คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในวันที่จำเลยที่ 1 อ้างตนเองเข้าเบิกความต่อศาลชั้นต้น ก. ได้นั่งฟังอยู่ในห้องพิจารณาด้วยอันเป็นการผิดระเบียบ แต่เมื่อคำเบิกความของ ก. มีเหตุผลน่าเชื่อฟัง ศาลย่อมฟังคำเบิกความของ ก. เพื่อประกอบการพิจารณาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114 วรรคสอง
การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยเนื่องในโอกาสที่จำเลยทั้งสองสมรสกันเพื่อให้ใช้ทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวสืบไป มิใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารหลักฐานการจดทะเบียนที่ระบุว่าเป็นการให้โดยเสน่หาเพราะเป็นการนำสืบให้เห็นถึงมูลเหตุจูงใจที่โจทก์ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองว่าเป็นการให้เนื่องในโอกาสใด
โจทก์ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองในการสมรส ไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะได้ประพฤติเนรคุณโจทก์หรือไม่ โจทก์ก็จะฟ้องขอถอนคืนการให้ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 535(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมของโจทก์และนายชม เพชรฉวาง สามีของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2527 โจทก์ยกที่ดินตามน.ส. 3 ก. เลขที่ 193 และ 449 ให้จำเลยทั้งสอง ต่อมาเมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน2540 จำเลยทั้งสองประพฤติเนรคุณโจทก์โดยด่า หมิ่นประมาทและทำร้ายร่างกายโจทก์รวมทั้งบอกปัดไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ขณะที่โจทก์เจ็บป่วย จำเลยทั้งสองมีรายได้จากการทำสวนยางพาราและสวนปาล์มในที่ดินที่โจทก์ยกให้ ส่วนโจทก์ไม่มีรายได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 193 และ449 ตำบลเพหลา อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ คืนแก่โจทก์ และให้ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นชื่อของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสองในการสมรสโจทก์ไม่มีสิทธิถอนคืนการให้ จำเลยไม่เคยประพฤติเนรคุณโจทก์โดยด่า หมิ่นประมาท ทำร้ายร่างกายหรือบอกปัดที่จะไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ ทั้งโจทก์ก็มีเงินฝากในธนาคาร จำนวน200,000 บาท จึงไม่ยากไร้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2527 ตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย ล.2 และในวันเดียวกันนั้นโจทก์ได้จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองตามสำเนาหนังสือสัญญาให้เอกสารหมาย จ.9 และสำเนาสารบัญจดทะเบียนท้าย น.ส. 3 ก. เอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าที่โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองเป็นการให้ในการสมรสตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ จำเลยทั้งสองได้อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่าขณะที่จำเลยที่ 1 อายุประมาณ 25 ปีโจทก์ได้ไปสู่ขอจำเลยที่ 2 ให้มาเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ตกลงยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยทั้งสองซึ่งหลังจากจดทะเบียนสมรสกันเสร็จแล้ว ในวันเดียวกันนั้นโจทก์ก็ได้จดทะเบียนยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองมีนายกลม เพชรฉวาง พี่สามีของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ไปติดต่อทาบทามจำเลยที่ 2 ให้มาเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 กับนางวอน คงภักดี ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายจำเลยที่ 2 ซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์การสู่ขอครั้งนั้นมาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่าในวันสู่ขอจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 นั้น มีการตกลงกันว่าขอตกที่ดินกัน 2 แปลง ซึ่งหมายถึงโจทก์จะต้องยกที่ดิน 2 แปลง ให้คู่สมรส ส่วนพยานฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ขณะที่โจทก์ไปสู่ขอจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานแท้ ๆ ของโจทก์ให้มาเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 นั้น ฝ่ายบิดามารดาของจำเลยที่ 2 เรียกค่าสินสอดเป็นเงิน30,000 บาท เท่านั้น ไม่มีการเรียกเงินค่าสินสอดเป็นที่ดินด้วย โดยโจทก์มีนายจรัญแก้วศรีสด น้องชายของโจทก์กับนางระเบียบ แก้วศรีสด น้องสะใภ้ของโจทก์และนางกั้นสุทธิเกิดน้องสาวของโจทก์เป็นพยานเบิกความสนับสนุน เห็นว่า พยานฝ่ายโจทก์ล้วนแต่เป็นญาติสนิทข้างโจทก์ทั้งสิ้น ย่อมจะต้องเบิกความให้สมประโยชน์แก่โจทก์เป็นธรรมดา จึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนพยานฝ่ายจำเลยนั้นนอกจากมีพยานบุคคลดังกล่าวแล้วยังมีพยานเอกสารคือใบสำคัญการสมรสตามเอกสารหมาย ล.2 เป็นพยานสนับสนุนว่าจำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนสมรสกันในวันเดียวกับที่โจทก์ จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองดังปรากฏตามสำเนาสารบัญจดทะเบียนท้าย น.ส.3 ก. เอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 กับสำเนาหนังสือสัญญาให้เอกสารหมาย จ.9 การที่โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 แทนที่จะจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตนเพียงคนเดียวในวันเดียวกันกับวันที่จำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรส เป็นพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าที่โจทก์ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสองนั้น น่าจะเป็นการยกให้ในโอกาสพิเศษคือ เนื่องในโอกาสที่จำเลยทั้งสองได้สมรสกันยิ่งกว่าจะเป็นการยกให้โดยเสน่หาตามธรรมดา สำหรับนายกลมพยานจำเลยทั้งสองปรากฏว่าเป็นพี่ชายของสามีโจทก์และเป็นผู้ไปติดต่อทาบทามจำเลยที่ 2 ให้มาเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ในฐานะญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด น่าเชื่อว่านายกลมเบิกความไปตามความสัตย์จริง แม้จะปรากฏว่าในวันที่จำเลยที่ 1 อ้างตนเองเข้าเบิกความต่อศาลชั้นต้น นายกลมได้นั่งฟังอยู่ในห้องพิจารณาด้วยอันเป็นการผิดระเบียบ แต่เมื่อคำเบิกความของนายกลมมีเหตุผลน่าเชื่อฟัง ศาลย่อมฟังคำเบิกความของนายกลมเพื่อประกอบการพิจารณาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114 วรรคสอง แม้โจทก์จะนำนายมงคลโกยดุลย์ เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน จังหวัดกระบี่ซึ่งเคยรับราชการอยู่ที่สำนักงานที่ดินอำเภอคลองท่อมระหว่างปี 2522 ถึง 2539 และเป็นผู้บันทึกถ้อยคำของโจทก์ในขณะที่โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองมาเป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำตามเอกสารหมาย จ.5 ว่า โจทก์ตกลงยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยทั้งสองโดยเสน่หา หากเป็นการให้ในการสมรส บันทึกถ้อยคำดังกล่าวจะต้องระบุไว้ให้ชัดว่าเป็นการให้ในการสมรสซึ่งเป็นระเบียบของสำนักงานที่ดินและค่าธรรมเนียมในการโอนก็ต่างกัน เห็นว่า โจทก์เป็นหญิงชาวชนบทอาจไม่รู้ระเบียบปฏิบัติของทางราชการ จึงได้ให้ถ้อยคำแต่เพียงว่าโจทก์ขอให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 เท่านั้น การที่โจทก์มิได้ให้ถ้อยคำระบุโดยชัดแจ้งว่าเป็นการให้ในการสมรสจึงมิใช่ข้อบ่งชี้ว่าโจทก์มิได้ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองเนื่องในโอกาสที่จำเลยทั้งสองสมรสกัน นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.1 อีกว่า ขณะที่โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองนั้น โจทก์มีอายุเพียง 51 ปีเศษ เท่านั้นยังไม่ถึงกับแก่เฒ่า ส่วนจำเลยที่ 1 มีอายุเพียง 23 ปีเศษ หากโจทก์มิได้รับการร้องขอจากบิดามารดาของจำเลยที่ 2 ให้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสองในขณะที่โจทก์ไปสู่ขอจำเลยที่ 2 ให้มาอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 ก็ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะยอมยกที่ดินพิพาทที่ตนใช้ทำมาหากินให้แก่บุตรหลานของตนไปเช่นนั้น ตามพฤติการณ์จึงมีเหตุผลน่าเชื่อตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่จำเลยทั้งสองเนื่องในโอกาสที่จำเลยทั้งสองสมรสกันเพื่อให้ใช้ทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวสืบไปและการที่จำเลยทั้งสองนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวก็หาใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารหลักฐานการจดทะเบียนที่ระบุว่าเป็นการให้โดยเสน่หาตามที่โจทก์ฎีกาไม่ เพราะเป็นการนำสืบให้เห็นถึงมูลเหตุจูงใจที่โจทก์ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองว่าเป็นการให้เนื่องในโอกาสใด จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบได้ เมื่อคดีฟังได้ว่าโจทก์ให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่จำเลยทั้งสองในการสมรส ดังนั้นไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะได้ประพฤติเนรคุณโจทก์ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ก็ตามโจทก์ก็จะฟ้องขอถอนคืนการให้ไม่ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 535(4) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share