คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5124/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ทายาทของพนักงานซึ่งถึงแก่ความตายเพื่อตอบแทนคุณงามความดีที่พนักงานผู้นั้นปฏิบัติงานให้โจทก์เป็นเวลานานทั้งเพื่อเป็นการอุปการะเลี้ยงดูทายาทของพนักงานผู้นั้นด้วย มีลักษณะเป็นเงินบำเหน็จถือได้ว่าเป็นรายจ่ายที่จำเป็นและมีเหตุอันควร ทั้งการจ่ายเงินรายนี้ก็เป็นการจ่ายตามระเบียบ กฎเกณฑ์ที่โจทก์วางไว้ตามมติที่ประชุมกรรมการโจทก์ จึงไม่เป็นการให้โดยเสน่หาตามความหมายของมาตรา 65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากร แม้โจทก์จะลงบัญชีที่เรียกว่า สตาฟ รีไทร์เมนท์ เบเนฟิต รายจ่ายส่วนนี้ก็ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี
รายจ่ายค่าซ่อมแซมอาคาร แม้โจทก์จะทราบความเสียหายของอาคารในปี พ.ศ.2519 และตกลงให้ พ.รับซ่อมแซม แต่โจทก์เพิ่งทำสัญญาจ้าง พ.ทำการซ่อมแซมอาคารให้โจทก์ในปี พ.ศ.2520 โดยให้แล้วเสร็จในปีเดียวกัน สิทธิเรียกร้องของ พ.จึงเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2520 หน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องจ่ายเงินให้ พ.เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2520 เช่นเดียวกัน โจทก์ซึ่งใช้เกณฑ์สิทธิจะต้องลงรายจ่ายดังกล่าวในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.2520 การที่โจทก์นำรายจ่ายค่าซ่อมแซมอาคารไปลงบัญชีเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาปี พ.ศ.2519 จึงไม่ชอบและต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิและ 65 ตรี (9)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี พ.ศ.๒๕๑๙ จากโจทก์รวมทั้งเงินเพิ่มเป็นเงิน ๕๓๖,๔๐๐ บาท โดยอ้างว่าโจทก์นำค่าใช้จ่ายที่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ ทวิ และ ๖๕ ตรี จำนวน ๑,๖๑๙,๗๙๒ บาทมาลงบัญชีเป็นรายจ่าย โจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ชอบ โจทก์จึงได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคณะกรรมการ ดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้วซึ่งโจทก์ก็เห็นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบจึงได้นำคดีมาฟ้อง ขอให้พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์กับให้ลดหรืองดเงินเพิ่ม
จำเลยให้การว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วย กฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า การประเมินของเจ้าพนักงานตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๓ ที่เจ้าพนักงานประเมินนำเอาเงินจำนวน ๔๘๖,๐๐๐ บาท ไปปรับปรุงคำนวณกำไรสุทธิให้โจทก์เสียภาษีนั้นเป็นการไม่ชอบให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๔ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับเงินจำนวน ๔๘๖,๐๐๐ บาท ที่โจทก์จ่ายให้ทายาทของนายวัง เวงมี นั้น นางอรุณี โคมทอง พยานโจทก์เบิกความว่าการจ่ายเงินให้ทายาทของนายวัง เวงมี เนื่องจากการตายของนายวัง เวงมี นั้นเป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการของโจทก์ จำนวนเงินที่จ่ายนั้นคิดเป็นเงินร้อยละ ๖๐ ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานมา ปรากฏว่า นายวัง เวงมี มีเงินเดือนเดือนสุดท้ายในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโจทก์เดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท ทำงานให้โจทก์มา ๒๗ ปี เมื่อคิดออกมาแล้วเป็นจำนวนเงิน ๔๘๖,๐๐๐ บาท ต่อมาโจทก์ได้จ่ายเงินทำนองเดียวกันนี้ให้พนักงานรายอื่น ๆ ด้วย โจทก์มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด นอกจากนี้ปรากฏตามรายงานการประชุมคณะกรรมการของโจทก์ครั้งที่ ๓๔ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๑๘ หมาย จ.๑ ข้อ ๒ ว่า คณะกรรมการตกลงจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายสำหรับหัวหน้าฝ่ายซึ่งทำงานเกิน ๑๒ ปี และตามรายงานประชุมคณะกรรมการโจทก์ครั้งที่ ๓๕ ลงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๑๘ หมาย จ.๑๑ ข้อ ๕ ระบุว่าพนักงานที่ทำงานกับโจทก์เกิน ๑๐ ปี จะได้รับเงินค่าตอบแทนเมื่อออกจากงาน สำหรับรายงานการประชุมของคณะกรรมการโจทก์ครั้งที่ ๓๒/๑ ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๙ หมาย จ.๑๒ ข้อ ๕ นั้น ระบุว่าโจทก์ตัดสินใจจ่ายเงินตอบแทนเนื่องจากออกจากงานจำนวน ๔๘๖,๐๐๐ บาท ให้แก่ทายาทของนายวัง เวงมี จึงเห็นได้ว่าเงินจำนวน ๔๘๖,๐๐๐ บาท ที่โจทก์จ่ายให้แก่ทายาทของนายวัง เวงมี นั้น เป็นการจ่ายเงินเพื่อตอบแทนคุณงามความดีของนายวัง เวงมี ที่ปฏิบัติงานให้โจทก์เป็นเวลานานทั้งเพื่อเป็นการอุปการะเลี้ยงดูทายาทของนายวัง เวงมี ด้วยจึงมีลักษณะเป็นเงินบำเหน็จ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรายจ่ายที่จำเป็นและมีเหตุอันควร การจ่ายเงินในลักษณะเช่นนี้หน่วยราชการต่าง ๆ ตลอดจนรัฐวิสาหกิจ และนิติบุคคลจำนวนมากก็ถือเป็นหลักปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่ข้าราชการและพนักงานโดยทั่วไปในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งการจ่ายเงินรายนี้ก็เป็นการจ่ายตามระเบียบ กฎเกณฑ์ที่โจทก์วางไว้และตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการโจทก์ หาเป็นการให้โดยเสห่หา ตามความหมายของมาตรา ๖๕ ตรี(๓) แห่งประมวลรัษฎากรตามที่จำเลยกล่าวอ้างและนำสืบไม่แม้การจ่ายเงินดังกล่าวโจทก์จะลงบัญชีที่โจทก์เรียกว่า สตาฟ รีไทร์เมนท์ เบเนฟิต ก็หาทำให้รายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามดังที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ รายจ่ายของโจทก์ส่วนนี้จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ ทวิ และ ๖๕ ตรี ดังนั้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบ
ในเรื่องเงินค่าซ่อมแซมอาคารที่โจทก์จ่ายไป ๑,๐๐๔,๐๐๐ บาท และโจทก์ลงบัญชีเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ.๒๕๑๙ นั้ นางอรุณี โคมทอง พยานโจทก์เบิกความว่า เหตุที่โจทก์ลงบัญชีเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.๒๕๑๙ ก็เพราะโจทก์สังเกตว่าอาคารเริ่มทรุดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นกรณีที่โจทก์ทราบความเสียหายในปีดังกล่าว และในปี พ.ศ.๒๕๑๙ นั้นเอง โจทก์ตกลงให้บริษัท พี แอนด์พี ไทยแลนด์ จำกัด เป็นผู้รับซ่อมแซมอาคาร แต่ปรากฏตามสัญญาหรือข้อตกลงหมาย ล.๑ ว่า สัญญาซ่อมแซมอาคารที่โจทก์จ้างบริษัทดังกล่าวซ่อมแซมอาคารให้โจทก์นั้น ลงวันที่ ๑๖ พฤภาคม ๒๕๒๐ สัญญาดังกล่าวระบุวันเริ่มงาน วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๐ และวันสิ้นสุดสัญญาคือวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๐ ตามสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่าสิทธิดังกล่าวเห็นได้ว่าสิทธิเรียกร้องของบริษัท พี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด เกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๒๐ หน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องจ่ายเงินให้บริษัทดังกล่าวก็ดีเกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๒๐ เช่นเดียวกัน โจทก์ซึ่งใช้เกณฑ์สิทธิจะต้องลงรายจ่ายดังกล่าวในรอบระยะบัญชีปี พ.ศ.๒๕๒๐ การที่โจทก์นำรายจ่ายค่าซ่อมแซมอาคารไปลงบัญชีเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.๒๕๑๙ จึงไม่ชอบ และต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๖๕ ทวิ และ ๖๕ ตรี (๙) ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินนำเงินดังกล่าวมาปรับปรุงเป็นรายรับของโจทก์เพื่อคำนวณหากำไรสุทธิให้โจทก์เสีย ภาษีนั้น ชอบแล้วการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share