คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5123/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 76 และ 77 บัญญัติห้ามผู้ถือประทานบัตรยอมให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมือง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมาย และให้ผู้ถือประทานบัตรยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ และให้รัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้มีการรับช่วงการทำเหมืองให้ตามที่จะพิจารณาเห็นสมควร บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงมิได้ห้ามการรับช่วงทำเหมืองโดยเด็ดขาด หากรัฐมนตรีอนุญาตก็ย่อมรับช่วงการทำเหมืองได้ ดังนั้นสัญญาเช่าช่วงหรือรับช่วงทำเหมืองพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเกิดขึ้นแล้วและมีผลใช้บังคับ ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีจะอนุญาตหรือไม่เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งหากรัฐมนตรีไม่อนุญาต การชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวก็อาจเป็นพ้นวิสัยเท่านั้น แม้โจทก์จะมีบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือไม่ก็ตามก็เป็นเพียงเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตของรัฐมนตรี เมื่อรัฐมนตรียังไม่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการเช่าช่วงทำเหมืองพิพาทสัญญาเช่าช่วงหรือรับช่วงทำเหมืองพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยก็มีผลผูกพันให้คู่สัญญาไปดำเนินการยื่นคำขออนุญาตรับช่วงทำเหมืองพิพาทตามกฎหมายต่อไป การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญารับช่วงทำเหมืองหินและขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย โดยอ้างเหตุที่จำเลยเข้าทำเหมืองเสียเองเป็นการละเมิดก็ตามเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ตามสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30จำเลยบอกเลิกสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 6กรกฎาคม 2522 นับถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2521 โจทก์ทำสัญญาจะเช่าเหมืองหินอ่อนกับจำเลย และจำเลยทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ไปดำเนินการขอออกประทานบัตร โจทก์ดำเนินการขอออกประทานบัตรด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์เองสัญญาจะเช่าเหมืองหินอ่อนดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาเมื่อได้รับประทานบัตรแล้วโจทก์กับจำเลยทำคำขอเช่าช่วงการทำเหมืองที่สำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดลำปาง และทำสัญญาเช่าช่วงกันเองอีก 1 ฉบับ ในระหว่างที่รออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่นั้น จำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงแก่โจทก์เมื่อวันที่ 6 กรกฏาคม 2522 พร้อมกันนั้นก็มีหนังสือขอยกเลิกคำขอใบอนุญาตเช่าช่วงการทำเหมืองถึงทรัพยากรธรณีจังหวัดตากในวันเดียวกันนั้นจำเลยก็ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเข้าทำเหมืองด้วยตนเอง และนำหินออกจำหน่ายตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยหยุดผลิตและจำหน่ายหิน ให้โจทก์เข้าดำเนินการทำเหมืองแต่เพียงผู้เดียวให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 344,697,600 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเช่าช่วงการทำเหมืองหินต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดตากแก่โจทก์ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้ทรัพยากรธรณีจังหวัดตากรับจดทะเบียนการเช่าช่วงการทำเหมืองให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ประทานบัตรอยู่ในความครอบครองของโจทก์ โจทก์และจำเลยทำสัญญาเช่าเหมืองพิพาทต่อมาโจทก์และจำเลยทำสัญญาเช่าช่วงทำเหมืองพิพาทฉบับใหม่ แต่จนบัดนี้โจทก์และจำเลยยังมิได้ตกลงราคาหินอ่อนซึ่งนับว่าเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาดังกล่าว สัญญาเช่าช่วงเหมืองหินพิพาทจึงยังไม่เกิดขึ้น ไม่มีผลผูกพันให้จำเลยต้องปฏิบัติตาม เมื่อเดือนพฤษภาคม 2522 โจทก์และจำเลยยื่นคำขอใบอนุญาตรับช่วงการทำเหมืองพิพาทต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดลำปาง แต่คำขอนั้นไม่สมบูรณ์และโจทก์มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนทรัพยากรธรณีจังหวัดลำปางจึงไม่รับจดทะเบียนคำขอให้แก่โจทก์และจำเลย สัญญาจะเช่าเหมืองพิพาทและสัญญาเช่าช่วงทำเหมืองพิพาทจึงไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา และถือว่าโจทก์และจำเลยยังมิได้มีสัญญาต่อกัน นอกจากนั้นสิทธิการทำเหมืองตามประทานบัตรก็เป็นสิทธิเฉพาะตัว จะยอมให้ผู้อื่นใช้สิทธิตามประทานบัตรแทนไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 สัญญาเช่าช่วงทำเหมืองพิพาทจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง หลังจากทำสัญญาเช่าช่วงเหมืองพิพาท โจทก์ก็ไม่เข้าไปดำเนินการผลิตและจำหน่ายหินทั้งไม่ชำระค่าเช่า จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินไปหากการที่จำเลยทำเหมืองพิพาทเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว โจทก์รู้ถึงการทำละเมิดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2522 โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 4 เมษายน 2531 เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการละเมิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ส่งมอบหนังสือประทานบัตรเลขที่ 20720/12487 หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ของกรมป่าไม้และหนังสืออนุญาตให้เปิดเหมืองรวม3 ฉบับ คืนแก่จำเลยภายในกำหนด 3 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 234/2527 ศาลจังหวัดสวรรคโลก สัญญาเช่าช่วงเหมืองพิพาทมีผลสมบูรณ์ และยังผูกพันจำเลยตามกฎหมาย โจทก์ไม่ได้ทำผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิยึดถือเอกสารทั้ง 3 ฉบับ ตามฟ้องแย้งไว้ได้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์คืนประทานบัตรเลขที่ 12720/12487 หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและหนังสืออนุญาตให้เปิดเหมืองของทรัพยากรธรณีจังหวัดตากแก่จำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกก่อนว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า สัญญาเช่าช่วงเหมืองพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.4 ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ที่ห้ามมิให้ผู้ถือประทานบัตรยอมให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีก่อนการที่ต้องได้รับคำสั่งอนุญาตจากรัฐมนตรีให้รับช่วงการทำเหมืองพิพาทนี้ เป็นบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญแห่งสัญญา ต้องตกลงกันหรือกระทำให้ได้ก่อน เมื่อยังมิได้ทำการเช่นนั้นถือว่าสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 ยังไม่เกิดขึ้นนั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 มาตรา 76 และ 77 บัญญัติห้ามผู้ถือประทานบัตรยอมให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมือง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมาย และให้ผู้ถือประทานบัตรยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ และให้รัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้มีการรับช่วงการทำเหมืองให้ตามที่จะพิจารณาเห็นสมควร บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงมิได้ห้ามการรับช่วงทำเหมืองโดยเด็ดขาด หากรัฐมนตรีอนุญาตก็ย่อมรับช่วงการทำเหมืองได้ ดังนั้นสัญญาเช่าช่วงหรือรับช่วงทำเหมืองพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารท้ายฟ้อง จึงเกิดขึ้นแล้วและมีผลใช้บังคับ ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีจะอนุญาตหรือไม่เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งหากรัฐมนตรีไม่อนุญาตการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวก็อาจเป็นพ้นวิสัยเท่านั้น หาใช่สัญญายังไม่เกิดดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ และข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์และจำเลยได้ยื่นคำขออนุญาตเช่าช่วงต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดลำปางแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่6 กรกฎาคม 2522 จำเลยได้ไปยื่นคำขอยกเลิกคำขออนุญาตให้รับช่วงการทำเหมืองพิพาทตามเอกสารหมาย จ.7 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่823/2526 ของศาลชั้นต้น โดยรัฐมนตรียังไม่ทันได้มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่ แม้โจทก์จะมีบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นเพียงเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตของรัฐมนตรีเท่านั้น ดังนั้นเมื่อรัฐมนตรียังไม่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการเช่าช่วงทำเหมืองพิพาทสัญญาตามเอกสารท้ายฟ้องก็มีผลผูกพันให้คู่สัญญาไปดำเนินการยื่นคำขออนุญาตรับช่วงทำเหมืองพิพาทตามกฎหมายต่อไป
ประเด็นข้อสุดท้ายมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญารับช่วงทำเหมืองหินและขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย แม้ฟ้องโจทก์จะอ้างเหตุที่จำเลยเข้าทำเหมืองเสียเองเป็นการละเมิดก็ตาม แต่ก็เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ตามสัญญาอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 จำเลยบอกเลิกสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2522 นับถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความเนื่องจากยังไม่ครบกำหนดตามอายุสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 นอกจากจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้วจำเลยยังต้องดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนการรับช่วงทำเหมืองให้แก่โจทก์ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่ตามคำขอของโจทก์ที่ขอให้ทรัพยากรธรณีจังหวัดตากรับจดทะเบียนการเช่าช่วงทำเหมืองให้แก่โจทก์นั้น เป็นการขอบังคับบุคคลภายนอกคดี ทั้งการรับช่วงทำเหมืองยังอยู่ในเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะอนุญาตหรือไม่อีกด้วย จึงไม่สามารถบังคับตามคำขอดังกล่าวได้
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน4,160,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญายื่นคำขอจดทะเบียนเช่าช่วงหรือรับช่วงการทำเหมืองต่อทรัพยากรธรณีจังหวัดตากให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share