คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5123/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 76 และ 77 บัญญัติห้ามผู้ถือประทานบัตรยอมให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมือง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมาย และให้ผู้ถือประทานบัตรยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ และให้รัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้มีการรับช่วงการทำเหมืองให้ตามที่จะพิจารณาเห็นสมควร บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงมิได้ห้ามการรับช่วงทำเหมืองโดยเด็ดขาด หากรัฐมนตรีอนุญาตก็ย่อมรับช่วงการทำเหมืองได้ ดังนั้นสัญญาเช่าช่วงหรือรับช่วงทำเหมืองพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเกิดขึ้นแล้วและมีผลใช้บังคับ ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีจะอนุญาตหรือไม่เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งหากรัฐมนตรีไม่อนุญาต การชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวก็อาจเป็นพ้นวิสัยเท่านั้น แม้โจทก์จะมีบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือไม่ก็ตามก็เป็นเพียงเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตของรัฐมนตรี เมื่อรัฐมนตรียังไม่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการเช่าช่วงทำเหมืองพิพาท สัญญาเช่าช่วงหรือรับช่วงทำเหมืองพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยก็มีผลผูกพันให้คู่สัญญาไปดำเนินการยื่นคำขออนุญาตรับช่วงทำเหมืองพิพาทตามกฎหมายต่อไป
การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญารับช่วงทำเหมืองหิน และขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย โดยอ้างเหตุที่จำเลยเข้าทำเหมืองเสียเองเป็นการละเมิดก็ตามเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ตามสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา193/30 จำเลยบอกเลิกสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม2522 นับถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

Share