แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนฟ้องหน่วยงานทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ในการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี ๒๕๕๓ เห็นว่า คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หากกฎหมายบัญญัติไม่ให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองหรือศาลอื่น คดีนั้นย่อมอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๘ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดจากการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตามคำสั่งของ ศอฉ. ในขณะที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งมาตรา ๑๖ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งไม่ให้ศาลปกครองมีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๘
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๖/๒๕๕๗
วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๔ นางสะกัน กุสุมาร โจทก์ ยื่นฟ้องกระทรวงการคลัง ที่ ๑ กระทรวงกลาโหม ที่ ๒ กองทัพบก ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๙๒/๒๕๕๔ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓ มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เรียกร้องให้รัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยในวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ นายอภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ ๑/๒๕๕๓ จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อแก้ไขสถานการณ์ โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการ มีการใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ของรัฐประกอบด้วยทหารบกเป็นส่วนใหญ่ใช้อาวุธสงครามเพื่อควบคุมฝูงชน ขัดขวางและสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. หลายครั้ง เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้ร่วมชุมนุม ประชาชนทั่วไป และเจ้าหน้าที่ของรัฐ และในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยการสั่งการบังคับบัญชาของนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ และ ศอฉ. ใช้ความรุนแรงและอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณแยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียง มีการใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่ฝูงชน โดยไม่เลือกเป้าหมายเป็นเหตุให้นายพรสวรรค์ นาคะไชย บุตรของโจทก์ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อวิธีปฏิบัติในการควบคุม ฝูงชนตามหลักสากลที่ไม่ให้ใช้อาวุธสงครามหรือกระสุนจริงในการปฏิบัติงาน และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และมาตรา ๑๗ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมกระชับพื้นที่และขอคืนพื้นที่การชุมนุมในพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายโดยสุจริตไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุ ทั้งไม่เกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์และไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัย ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๑๗ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่จึงไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง หน่วยงานของรัฐไม่ว่าหน่วยงานใด ก็ไม่ต้องรับผิดในทางแพ่งตามกฎหมายด้วยเช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ฟ้องโจทก์จะเป็นเรื่องที่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ที่เกิดจากการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณสี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงตามคำสั่งของ ศอฉ. ในขณะที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่ามีสิทธิที่จะเรียกร้องความเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๗ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ แต่เนื่องจากพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๑๖ บัญญัติว่า “ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง” ดังนั้น กรณีไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใด ๆ ตามพระราชกำหนดนี้ ย่อมไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมาย ว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองทั้งสิ้น สำหรับการกระทำตามฟ้อง ก็ถือว่าเป็น “การกระทำตามพระราชกำหนดนี้” ตามความในมาตรา ๑๖ ด้วยจึงไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ลงวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ และมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ ๑/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นหน่วยงานพิเศษ ประกอบด้วยผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้อำนวยการ และผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ โดยมีข้าราชการทหารซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในเขตท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงหลายตำแหน่ง และได้ออกประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดต่าง ๆ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการเพื่อให้เป็นไปตามประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดต่าง ๆ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ดังนั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าได้รับความเสียหายจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดดังกล่าว กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อย่างไรก็ตาม แม้มาตรา ๑๖ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวจะบัญญัติให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์เจตนารมณ์ในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า พระราชกำหนดดังกล่าวได้ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการกรณีไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปกติ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับปัญหาความมั่นคงของรัฐที่อาจกระทบต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต และอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศจึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ มาตรา ๑๖ ดังกล่าว จึงบัญญัติให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดดังกล่าว ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง แต่เมื่อกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนหมดสิ้นไป ผู้ได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ได้ตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชกำหนดเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เมื่อพิเคราะห์มาตรา ๑๖ ประกอบกับมาตรา ๑๗ ดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า ผู้เสียหายอาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากทางราชการต่อศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมได้ ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องว่าได้รับความเสียหายจากนายกรัฐมนตรีในการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และได้รับความเสียหายจากการกระทำของรองนายกรัฐมนตรีผู้ได้รับมอบหมาย ผู้บัญชาการทหารบก รองผู้บัญชาการทหารบก และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทหาร กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่เป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ได้นำข้อพิพาทยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งหลายคดี โดยคดีที่มีการโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาล จำนวน ๖ คดี ได้แก่คดีตามความเห็นของศาลแพ่ง ที่ ๑๕/๒๕๕๕ ที่ ๖๘/๒๕๕๕ ที่ ๖๙/๒๕๕๕ ที่ ๑๓๘/๒๕๕๕ ที่ ๑๓๙/๒๕๕๕ และที่ ๑/๒๕๕๖ และความเห็นของศาลปกครองกลาง ที่ ๕๗/๒๕๕๕ ที่ ๑๙๕/๒๕๕๕ ที่ ๑๑/๒๕๕๖ ที่ ๓๒/๒๕๕๖ ที่ ๖๗/๒๕๕๖ และที่ ๖๘/๒๕๕๖ ซึ่งทั้งสองศาลเห็นพ้องกันว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เมื่อมูลความแห่งคดีนี้เป็นเรื่องที่มีข้อเท็จจริงเดียวกันและมีคำขอให้ศาลพิพากษาและออกคำบังคับเช่นเดียวกันกับข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง การให้คดีที่มีข้อเท็จจริงเดียวกันพิจารณาโดยศาลต่างศาลกัน ผลแห่งคำพิพากษาอาจขัดแย้งกันจนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งไม่เป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ต้องการให้คดีเรื่องเดียวกันได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยศาลเดียวกัน
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุพิพาท มาตรา ๒๑๘ บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ดังนั้น คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หากกฎหมายบัญญัติไม่ให้ อยู่ในอำนาจของศาลปกครองหรือศาลอื่น คดีนั้นย่อมอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๘ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสาม รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดจากการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณสี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียง ตามคำสั่งของ ศอฉ. ในขณะที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งมาตรา ๑๖ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง อันเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งไม่ให้ศาลปกครองมีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ในการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายได้บัญญัติยกเว้นอำนาจของศาลปกครองในการควบคุมตรวจสอบไว้ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๘
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสะกัน กุสุมาร โจทก์ กระทรวงการคลัง ที่ ๑ กระทรวงกลาโหม ที่ ๒ กองทัพบก ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ