คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5122/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ อ. ขออนุมัติถอนมาจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นแคชเชียร์เช็คระบุชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้รับเงิน เพื่อนำไปฝากยังธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 สาขาสุวินทวงศ์ ไม่ได้มีการนำเข้าฝากที่สาขาดังกล่าว แต่กลับนำไปฝากที่ธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ในบัญชีชื่อของ พ. ที่สาขาดิอเวนิว โดยไม่ปรากฏเหตุที่จะอ้างโดยชอบ จากนั้นมีการโอนเงินไปยังบุคคลต่าง ๆ แม้เงินที่ฝากจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับฝากคือธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 แต่เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินจำนวนเดียวกับที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ถูกถอนออกมาและนำไปฝากโดยผิดวัตถุประสงค์ บุคคลอื่นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากตามจำนวนที่เบิกถอนมาจากบัญชีของผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่ชอบดังกล่าวย่อมไม่อาจอ้างสิทธิใดได้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายในคดีอาญามีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งเงินของตนจาก อ. กับพวกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แม้ต่อมาจะมีการถ่ายโอนเงินของผู้คัดค้านที่ 1 หรือนำไปดำเนินการอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นการนำไปซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่น ทรัพย์สินต่าง ๆ เหล่านั้นก็ไม่ตกเป็นของแผ่นดินและต้องถูกดำเนินการเพื่อให้ได้เงินมาคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้มีสิทธิที่แท้จริงจนครบจำนวน
ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินรายการที่ 42 เป็น “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินที่ได้จากการที่ผู้คัดค้านที่ 7 และ อ. กับพวกได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) (18) โอนเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 7 แล้วผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินที่รับโอนมาดังกล่าวซื้อทรัพย์สินรายการที่ 42 แล้วขายฝากทรัพย์สินนั้นไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 และไม่ไถ่คืนในกำหนด เมื่อผู้คัดค้านที่ 9 ซื้อฝากทรัพย์สินรายการที่ 42 นี้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ในระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 9 ศาลย่อมสั่งคืนทรัพย์สินรายการนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51/1 ทรัพย์สินรายการนี้จึงไม่ตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้องของผู้ร้อง แต่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายจากการกระทำของผู้คัดค้านที่ 7 กับพวก ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิติดตามและเอาทรัพย์คืนจากผู้คัดค้านที่ 7 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินของผู้คัดค้านที่ 1 ไปซื้อทรัพย์สินรายการที่ 42 ผู้คัดค้านที่ 7 จึงไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์สินรายการนี้ไว้ แต่ต้องคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อต่อมาผู้คัดค้านที่ 7 นำทรัพย์สินรายการนี้ไปขายฝากไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 แม้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินรายการนี้จะตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 แต่เมื่อผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิติดตามและเอาทรัพย์คืนดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของผู้คัดค้านที่ 7 จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่ 7 ซึ่งเป็นลูกหนี้ในทรัพย์สินรายการนี้แทนผู้คัดค้านที่ 7 กรณีนี้เพื่อคุ้มครองผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงควรให้ดำเนินการเสมือนมีการใช้สิทธิไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากจากผู้คัดค้านที่ 9 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 9 จึงไม่อาจให้ทรัพย์สินรายการนี้ตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 ผู้รับซื้อฝากได้ แต่ควรให้ผู้คัดค้านที่ 9 ได้รับเงินค่าสินไถ่ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาขายฝากโดยนำทรัพย์สินนี้ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระสินไถ่แก่ผู้คัดค้านที่ 9 และคืนส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1
เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการที่ 42 เป็นส่วนของวิธีการที่จะให้ทรัพย์สินนั้นถูกนำไปคืนแก่ผู้เสียหาย ขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้รับโอนทรัพย์สินโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน สินไถ่ดังกล่าวจึงไม่ใช่หนี้เงินที่แท้จริงซึ่งหากลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดก็ให้คิดดอกเบี้ยตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรไม่กำหนดดอกเบี้ยในสินไถ่ให้ผู้คัดค้านที่ 9

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียก ผู้ร้องทั้งสามสำนวนว่า “ผู้ร้อง” ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3 และที่ 2 ในสำนวนที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับว่า “ผู้คัดค้านที่ 1” ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 4 และที่ 3 ในสำนวนที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับว่า “ผู้คัดค้านที่ 2” ผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 5 และที่ 4 ในสำนวนที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับว่า “ผู้คัดค้านที่ 3” ผู้คัดค้านที่ 4 ในสำนวนที่ 1 ว่า “ผู้คัดค้านที่ 4” ผู้คัดค้านที่ 5 เฉพาะทรัพย์สินรายการที่ 56 ในสำนวนที่ 1 ว่า “ผู้คัดค้านที่ 5” ผู้คัดค้านที่ 6 ในสำนวนที่ 1 ว่า “ผู้คัดค้านที่ 6” ผู้คัดค้านที่ 7 ที่ 2 และที่ 5 ในสำนวนที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับว่า “ผู้คัดค้านที่ 7” ผู้คัดค้านที่ 8 และที่ 6 ในสำนวนที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับว่า “ผู้คัดค้านที่ 8” ผู้คัดค้านที่ 9 ในสำนวนที่ 1 ว่า “ผู้คัดค้านที่ 9” และผู้คัดค้านที่ 10 ที่ 1 และที่ 1 ในสำนวนที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับว่า “ผู้คัดค้านที่ 10”
ผู้ร้องทั้งสามสำนวนยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินรวม 108 รายการ ราคาประเมินรวมประมาณ 263,583,103.42 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1, 3, 7, 8, 10 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง และสั่งคืนทรัพย์สินเงินฝากรายการที่ 1 ที่ 9 ที่ 12 ที่ 24 ถึงที่ 26 และที่ 35 ตามสำเนาบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฟ.26/2558 ของศาลชั้นต้น ทรัพย์สินรายการที่ 8 ที่ 11 ถึงที่ 14 ที่ 17 ที่ 19 และที่ 20 ตามสำเนาบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฟ.43/2558 ของศาลชั้นต้น ทรัพย์สินรายการที่ 25 และที่ 26 ตามสำเนารายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฟ.60/2558 ของศาลชั้นต้นแก่ผู้คัดค้านที่ 2
ผู้คัดค้านที่ 4 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องหรือให้ผู้คัดค้านที่ 4 ได้รับชำระหนี้จำนองก่อนทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้คัดค้านที่ 5 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คืนเงินจากการขายทอดตลาดรถยนต์ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 เป็นเงิน 4,850,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ผู้คัดค้านที่ 6 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านที่ 6
ผู้คัดค้านที่ 9 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้คัดค้านที่ 5 ยื่นคำร้องขอถอนคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาต จำหน่ายคดีเฉพาะผู้คัดค้านที่ 5
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินพร้อมดอกผลตามสำเนาบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฟ.26/2558 ฟ.43/2558 และ ฟ.60/2558 ของศาลชั้นต้นตามลำดับ ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง ยกเว้นทรัพย์สินรายการที่ 9 ที่ 12 ที่ 24 ถึงที่ 26 และที่ 35 ตามสำเนาบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฟ.26/2558 ของศาลชั้นต้น รายการที่ 11 ถึงที่ 14 และที่ 19 ตามสำเนาบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฟ.43/2558 ของศาลชั้นต้น ให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 2 รายการที่ 42 ตามสำเนาบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฟ.26/2558 ของศาลชั้นต้น ให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 9 ส่วนรายการที่ 51 และที่ 52 ตามสำเนาบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฟ.26/2558 ของศาลชั้นต้น ให้นำออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง นำเงินที่ได้ชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 4 จำนวน 70,428.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ของต้นเงิน 66,500 บาท นับถัดจากวันที่ 23 มิถุนายน 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้ตกเป็นของแผ่นดินกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสอง คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้อง ผู้ค้ดค้านที่ 1 ที่ 3 ที่ 7 และที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และคืนทรัพย์สินทั้งหมดรวม 108 รายการ ตามสำเนาบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน พร้อมดอกผลแก่ผู้คัดค้านที่ 1 เฉพาะทรัพย์สินรายการที่ 42 ที่ดินโฉนดเลขที่ 42005 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง บ้านเลขที่ 98/43 และเฟอร์นิเจอร์ให้นำออกขายทอดตลาด นำเงินที่ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 จำนวน 29,470,000 บาท เงินที่เหลือ (หากมี) ให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ส่วนทรัพย์สินรายการที่ 51 และที่ 52 ที่ดินโฉนดเลขที่ 41581 และ 13527 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง (หากมี) ให้นำออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง นำเงินที่ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 4 จำนวน 70,428.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ของต้นเงิน 66,500 บาท นับถัดจากวันที่ 23 มิถุนายน 2558 เป็นต้นไป จนกว่าผู้คัดค้านที่ 4 จะได้รับชำระเสร็จ เงินที่เหลือ (หากมี) ให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 8 และที่ 9 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ฝากเงินไว้ที่ธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หลายบัญชีแต่ถูกเบิกถอนและนำไปใช้โดยไม่ถูกต้อง ไม่ตรงตามเจตนาของผู้คัดค้านที่ 1 รวมประมาณกว่า 1,200,000,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแล้ว ผู้ร้องคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องผู้คัดค้านที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 และนางสาวอำพรกับพวกเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต พร้อมมีคำขอให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชดใช้เงินที่ได้ไปจากการกระทำผิดตามฟ้องแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1992/2558 และ อ.6499/2558 ของศาลจังหวัดมีนบุรี ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการธุรกรรมมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ 10 และนางสาวอำพรกับพวกเป็นผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิดและได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยปรากฏหลักฐานว่าเงินของผู้คัดค้านที่ 1 ที่สูญหายทั้งหมด โอนผ่านบัญชีของผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 10 ทั้งที่ผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 10 ไม่ได้เป็นพนักงานของผู้คัดค้านที่ 1 และคณะกรรมการธุรกรรมเห็นว่ามีพยานหลักฐานเชื่อได้ว่าทรัพย์สินรวม 108 รายการในคดีนี้ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนางสาวอำพรและผู้คัดค้านที่ 10 กับพวก ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์หรือยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ จึงมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินรวม 56 รายการ ราคาประเมินประมาณ 74,645,076.74 บาท ทรัพย์สินรวม 21 รายการ ราคาประเมินประมาณ 173,467,339.54 บาท และทรัพย์สินรวม 31 รายการ ราคาประเมินประมาณ 15,470,691.14 บาท ตามสำเนาบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฟ.26/2558, ฟ.43/2558 และ ฟ.60/2558 ของศาลชั้นต้นตามลำดับ พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ต่อมาได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินบางรายการตามสำเนาบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ฎีกาเฉพาะทรัพย์สินรายการที่ 9 ที่ 12 ที่ 24 ถึงที่ 26 และที่ 35 ตามสำเนาบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฟ.26/2558 ของศาลชั้นต้น และตามสำเนาบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฟ.43/2558 ของศาลชั้นต้น รายการที่ 11 ถึงที่ 14 และที่ 19 ว่าสมควรสั่งให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 2 ตามที่ฎีกาหรือไม่ เห็นว่า ทรัพย์สินตามสำเนาบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฟ.26/2558 และในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฟ.43/2558 ของศาลชั้นต้น รายการที่ 11 ถึงที่ 14 และที่ 19 ว่าสมควรสั่งคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 2 ตามที่ฎีกาหรือไม่ เห็นว่า ทรัพย์สินตามสำเนาบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฟ.26/2558 และในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฟ.43/2558 ของศาลชั้นต้น ตามรายการที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกานั้น เป็นกรณีสืบเนื่องจากนางสาวอำพร ถอนเงินจากบัญชีของผู้คัดค้านที่ 1 ไปแล้วไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้คัดค้านที่ 1 โดยขออนุมัติว่าจะนำไปฝากที่ธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 สาขาบิ๊กซีศรีนครินทร์ ที่ผู้คัดค้านที่ 10 เป็นผู้จัดการสาขา เพราะจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่า ผู้คัดค้านที่ 1 จึงอนุมัติ ซึ่งต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 พบข้อพิรุธที่หน้าเล่มของสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 สาขาบิ๊กซีศรีนครินทร์ ชื่อบัญชี “สถาบันเทคโนโลยี พ.” มีร่องรอยขูดลบ เมื่อตรวจสอบแล้วเป็นบัญชีเงินฝากในชื่อผู้คัดค้านที่ 10 ที่ปิดบัญชีมานานแล้ว แต่นำมาปลอมรายการเคลื่อนไหวในสมุดบัญชีเงินฝาก โดยไม่มีการฝากเงินเข้าบัญชีจริง และบัญชีเงินฝากดังกล่าวเป็นชื่อผู้คัดค้านที่ 10 ที่มีการขูดลบแก้ไขให้เป็นชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ตรวจสอบแล้วพบว่าเงินของผู้คัดค้านที่ 1 ที่นางสาวอำพรขออนุมัติถอนมาจากสองบัญชีข้างต้นนั้นทำเป็นแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายผู้คัดค้านที่ 1 ที่ในขณะขออนุมัติระบุวัตถุประสงค์ที่เบิกถอนเพื่อนำไปฝากยังธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ที่สาขาสุวินทวงศ์ นั้น ไม่ได้มีการนำเข้าฝากที่สาขาดังกล่าว แต่กลับนำไปฝากที่ธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ในบัญชีชื่อของนายพูนศักดิ์ ที่สาขาดิอเวนิว ถนนแจ้งวัฒนะ จากนั้นมีการโอนเงินไปยังบุคคลต่าง ๆ แม้เงินที่ฝากจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับฝากคือธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 ดังที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา แต่เงินที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 2 ดังกล่าวนั้นหมายถึงเงินตราที่นำเข้าฝาก แต่เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินจำนวนเดียวกับที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ถูกถอนออกมาและนำไปฝากโดยผิดวัตถุประสงค์ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ฝากเงินไว้กับธนาคารไม่ว่าธนาคารใดก็ตามสิทธิของผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมมีอยู่ตลอดเวลาที่ฝากเงินในการที่จะถอนเงินที่ฝากนั้นได้ โดยธนาคารผู้รับฝากต้องคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เต็มจำนวนที่ฝาก ส่วนดอกเบี้ยจะกำหนดอย่างไรย่อมเป็นไปตามที่มีหลักเกณฑ์กำหนดและตกลงกันระหว่างผู้ฝากกับผู้รับฝาก การกระทำใด ๆ ที่เป็นผลให้สิทธิของผู้คัดค้านที่ 1 หมดสิ้นไปย่อมเป็นการไม่ชอบ และผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับเงินจำนวนที่เสียหายไปตามสิทธินั้นคืน การที่ธุรกรรมทางการเงินที่นางสาวอำพรถอนเงินแล้วทำเป็นแคชเชียร์เช็คระบุชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้รับเงิน แต่เมื่อนำเข้าฝากกลับนำเข้าฝากในชื่อของบุคคลอื่น โดยไม่ปรากฏเหตุที่จะอ้างโดยชอบอย่างไร บุคคลอื่นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากตามจำนวนที่เบิกถอนมาจากบัญชีของผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่ชอบดังกล่าวย่อมไม่อาจอ้างสิทธิใดได้ ผู้ที่ดำเนินการโดยไม่ชอบทั้งหมดย่อมต้องรับผิดต่อผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในเงินจำนวนนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 เองว่า เงินของผู้คัดค้านที่ 1 ถูกถอนออกมาจากบัญชีธนาคาร เมื่อธนาคารนั้นบันทึกรายการว่ามีการเบิกถอนออกไปย่อมทำให้สิทธิของผู้คัดค้านที่ 1 ที่จะเรียกให้ธนาคารผู้รับฝากคืนเงินจำนวนนั้นพร้อมดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 หมดสิ้นไปจากบัญชีนั้น เมื่อเบิกถอนออกมาแล้วนำเข้าฝากที่ธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 โดยไม่ชอบ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับชดใช้คืนเพราะเหตุที่เกิดจากการกระทำอันไม่ชอบนั้น เมื่อเงินจำนวนนี้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาที่มีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งเงินของตนจากนางสาวอำพรกับพวกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 และเป็นเงินจำนวนเดียวกับที่ผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่าตนมีสิทธิในฐานะผู้รับฝาก แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตามหากเป็นการรับฝากโดยชอบผู้รับฝากก็ยังคงมีหน้าที่ต้องคืนแก่ผู้มีสิทธิโดยชอบที่แท้จริง เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีนี้ขอให้ศาลสั่งคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเมื่อต้องคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 แล้วย่อมไม่มีเงินใดที่จะนำมาคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 2 ตามที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาได้ เมื่อเงินของผู้คัดค้านที่ 1 ที่เสียหายไปทั้งหมดถูกผู้คัดค้านอื่นกับพวกที่เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1992/2558 และ อ.6499/2558 ของศาลจังหวัดมีนบุรี เอาไปด้วยการกระทำอันมิชอบ และมีการถ่ายโอนหรือนำไปดำเนินการอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นการนำไปซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ หุ้น ฯลฯ หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่น ทรัพย์สินต่าง ๆ เหล่านั้นจึงไม่ตกเป็นของแผ่นดินและต้องถูกดำเนินการเพื่อให้ได้เงินมาคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 จนครบจำนวน และเมื่อต้องนำมาคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงแล้ว ย่อมไม่มีทรัพย์สินใดที่จะต้องคืนให้แก่บุคคลอื่นใดที่มีชื่อเป็นผู้รับทรัพย์สินเดียวกันนี้โอนผ่านในนามของแต่ละคนนั้นได้อีก กรณีของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นกรณีในคดีใดล้วนมีลักษณะเดียวกันคือเป็นกรณีที่มีผู้นำเงินของผู้คัดค้านที่ 1 ไปโดยมิชอบแล้วนำมาเข้าฝากที่ธนาคารของผู้คัดค้านที่ 2 และมีการจำหน่ายจ่ายโอนเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่น เมื่อตรวจสอบและพบว่าเงินของผู้คัดค้านที่ 1 ไปตกเป็นสิทธิของผู้ใดหรือถูกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินใดก็ตามย่อมต้องถูกติดตามเอาคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิที่แท้จริงจนครบจำนวน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาว่าทรัพย์สินตามที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกามาให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งหมดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 9 ในกรณีทรัพย์สินรายการที่ 42 ตามสำเนาบัญชีรายการทรัพย์สินส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฟ.26/2558 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 42005 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง บ้านเลขที่ 98/43 กับเฟอร์นิเจอร์ว่าสมควรให้ตกเป็นของแผ่นดินตามที่ผู้ร้องฎีกาและแก้ฎีกา หรือควรให้ตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 เห็นว่า ทรัพย์สินรายการที่ 42 ดังกล่าว เป็น “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 7 ได้มาจากการนำเงินที่ผู้คัดค้านที่ 7 และนางสาวอำพรกับพวกได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) (18) แล้วโอนเงินที่ได้มาดังกล่าวนั้นเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 7 แล้วผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินที่รับโอนมาดังกล่าวมาซื้อทรัพย์สินรายการที่ 42 ที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 9 ฎีกานี้ แม้จะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้งและไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใดก็ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านที่ 9 ผู้รับโอนมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นผู้ที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (2) ผู้คัดค้านที่ 9 เป็นผู้ที่ซื้อฝากที่ดินทรัพย์สินรายการที่ 42 นี้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ในระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 9 ศาลย่อมต้องสั่งคืนทรัพย์สินรายการนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51/1 ทรัพย์สินรายการนี้จึงไม่ตกเป็นของแผ่นดิน ฎีกาและคำแก้ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายจากการกระทำของผู้คัดค้านที่ 7 กับพวก ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิติดตามและเอาทรัพย์คืนจากผู้คัดค้านที่ 7 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โดยเมื่อผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินของผู้คัดค้านที่ 1 ไปซื้อทรัพย์สินรายการที่ 42 ผู้คัดค้านที่ 7 จึงไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์สินรายการนี้ไว้ แต่ต้องคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อต่อมาผู้คัดค้านที่ 7 นำทรัพย์สินรายการนี้ไปขายฝากไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 แม้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินรายการนี้จะตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 แต่ผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิติดตามและเอาทรัพย์คืนดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของผู้คัดค้านที่ 7 จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่ 7 ซึ่งเป็นลูกหนี้ในทรัพย์สินรายการนี้แทนผู้คัดค้านที่ 7 กรณีนี้เพื่อคุ้มครองผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหาย จึงควรให้ดำเนินการเสมือนมีการใช้สิทธิไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากจากผู้คัดค้านที่ 9 ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 9 จึงไม่อาจให้ทรัพย์สินรายการนี้ตกไปเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 ผู้รับซื้อฝากได้ แต่ควรให้ผู้คัดค้านที่ 9 ได้รับเงินค่าสินไถ่ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาขายฝาก จึงเห็นควรให้นำทรัพย์สินรายการที่ 42 นี้ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระสินไถ่แก่ผู้คัดค้านที่ 9 เป็นเงิน 29,470,000 บาท เต็มจำนวนที่กำหนดในสัญญา และคืนส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่เพื่อความชัดเจนในการบังคับคดี หากการขายทอดตลาดได้เงินไม่ถึงจำนวนสินไถ่ดังกล่าว ส่วนที่ขาดก็ควรกำหนดให้เป็นพับไป สำหรับที่ผู้คัดค้านที่ 9 ฎีกาขอให้ได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนดไถ่ถอนด้วยนั้น เมื่อการขายทอดตลาดเป็นส่วนของวิธีการที่จะให้ทรัพย์สินนั้นถูกนำไปคืนแก่ผู้เสียหาย ขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้รับโอนทรัพย์สินโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนด้วย สินไถ่ดังกล่าวจึงไม่ใช่หนี้เงินที่แท้จริงซึ่งหากลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดก็ให้คิดดอกเบี้ยตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรไม่กำหนดดอกเบี้ยให้ ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 9 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ทรัพย์สินรายการที่ 42 ที่ดินโฉนดเลขที่ 42005 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง บ้านเลขที่ 98/43 และเฟอร์นิเจอร์ ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้ชำระสินไถ่ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 จำนวน 29,470,000 บาท เงินที่เหลือ (หากมี) ให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 แต่หากได้เงินไม่ถึงจำนวนดังกล่าว ส่วนที่ขาดให้ตกเป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share