คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ว่า บาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ได้รับจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กาย และจำเลยทั้งสี่ได้กระทำความผิดฐานบุกรุกเพราะประสงค์จะเจรจากับผู้เสียหายที่ 2 ที่ทำร้ายร่างกายบุตรหลานของจำเลยทั้งสี่ถือว่ามีเหตุอันควรอันเป็นการฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดตามคำฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การรับสารภาพแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟ้องได้ดังฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรม กล่าวคือ จำเลยทั้งห้าร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านพักอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนางบุญสี ไชยมาตร์ ผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้ อันเป็นการรบกวนการครอบครองเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 โดยปกติสุข จากนั้นจำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายนายประวิน ไชยบูรณ์ ผู้เสียหายที่ 2 โดยใช้กำปั้นชกผู้เสียหายที่ 2 ถูกบริเวณศีรษะจำนวน 1 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย ส่วนจำเลยที่ 2 ทำร้ายร่างกาย นางสุมาลี ไชยมาตร์ ผู้เสียหายที่ 3 โดยใช้เท้าเตะผู้เสียหายที่ 3 ถูกบริเวณลำตัวจำนวน 1 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอัตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 295, 362, 364, 365
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 5 โดยให้ฟ้องเป็นคดีใหม่ เนื่องจากจำเลยที่ 5 ขณะกระทำความผิดอายุ 15 ปี
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) (ที่ถูกมาตรา 365 (2) (3)) ประกอบด้วยมาตรา 362 (ที่ถูก มาตรา 364), 83 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) (3) จำคุกคนละ 8 เดือน ฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายจำคุกคนละ 3 เดือน ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำคุกคนละ 8 เดือน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทงแรกคนละ 4 เดือน กระทงที่สองคนละ 1 เดือน 15 วัน ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 คงจำคุกคนละ 4 เดือน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 362 (ที่ถูกประกอบมาตรา 364) จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 1 เดือน ฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 2 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 3 เดือน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 รับสารภาพลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 เดือน 15 วัน จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 15 วัน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกาว่า บาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ได้รับจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กาย และจำเลยทั้งสี่ได้กระทำความผิดฐานบุกรุกเพราะประสงค์จะเจรจากับผู้เสียหายที่ 2 ที่ทำร้ายร่างกายบุตรหลานของจำเลยทั้งสี่ ถือว่ามีเหตุอันควรอันเป็นการฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดตามคำฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การรับสารภาพแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ดังฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นไม่ได้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในข้อนี้จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เพียงว่า สมควรลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในสถานเบาและรอการลงโทษให้หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านเป็นเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 ในเวลากลางคืน แล้วร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายนั้น เป็นการกระทำไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย เป็นการคุกคามต่อสวัสดิภาพในเคหสถานของผู้อื่น พฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงเป็นเรื่องร้ายแรง การที่จะรอการลงโทษจำคุกให้ยังไม่เหมาะสมกับสภาพความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ได้ปรานีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ด้วยการลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในสถานเบา และเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทนอันเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มากอยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share