คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5113/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยที่1ทำสัญญาจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินเอกสารท้ายฟ้องต่อมาจำเลยที่1กลับจดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่4โดยความยินยอมของจำเลยที่2และที่3ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นทางให้เสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนระหว่างจำเลยที่1กับจำเลยที่4นั้นเมื่อสิทธิของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิซึ่งมีสิทธิเพียงที่จะบังคับให้จำเลยที่1ไปทำการโอนขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้นโจทก์หามีทรัพย์สิทธิที่จะไปบังคับแก่จำเลยที่4ผู้ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จากจำเลยที่1แต่อย่างใดไม่ดังนี้โจทก์จึงมิใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1300จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6856 เนื้อที่ 14 ตารางวา ได้ร่วมกับบริษัทอัญชลี คุณาพร จำกัด และนายสมศักดิ์ แซ่ตั้ง ดำเนินการก่อสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินแปลงดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1ได้มอบให้บริษัทอัญชลี คุณาพร จำกัด หรือนายสมศักดิ์ แซ่ตั้งเป็นตัวแทนทำสัญญาขายให้แก่บุคคลภายนอก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2532โจทก์ได้ตกลงซื้ออาคารพาณิชย์ 3.75 ชั้น จากบริษัทอัญชลี คุณาพรจำกัด ในราคา 2,500,000 บาท กำหนดชำระเงินเป็นงวด ๆ รวม 6 งวดงวดละ 200,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระเมื่อไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์ได้ชำระเงินตามข้อตกลงต่อมาเมื่ออาคารพาณิชย์สร้างใกล้เสร็จ จำเลยที่ 1 และบริษัทอัญชลี คุณาพร จำกัด โดยนายสมศักดิ์ตัวแทนได้นัดให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2533แต่ปรากฏว่าทางฝ่ายจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โดยทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ความกว้างไม่ถึง 4 เมตร และลึกเพียง 10 เมตรซึ่งไม่ถูกต้องในวันนัดจึงไม่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์พร้อมสิ่งปลูกสร้างกัน แต่โจทก์ได้ขออายัดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้ที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายต่อไป แต่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้เยาว์โดยได้กระทำไปโดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 และที่ 3ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครอง โดยจำเลยทั้งสี่ทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีภาระผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ ซึ่งโจทก์เป็นผู้อยู่ในฐานะในอันที่จะได้รับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 1 อยู่ก่อนแล้วการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต เป็นเหตุให้โจทก์เสียเปรียบและได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6856 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าว ระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ใช้อำนาจปกครองให้กลับคืนมาเป็นของจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์และจำเลยทั้งสี่ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกันมาก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นอกจากนี้การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 นั้น เป็นการกระทำโดยมีค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานโดยสุจริตมาโดยตลอด มิได้ทำให้โจทก์เสียหายแต่ประการใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 4 รับโอนที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์โดยไม่สุจริตนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์เสียก่อนว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้แม้จะมิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ ตามสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ต่อมาจำเลยที่ 1 กลับจดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 4โดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นทางให้เสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 4 นั้น เห็นว่าสิทธิของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิซึ่งมีสิทธิเพียงที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ไปทำการโอนขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น โจทก์หามีทรัพย์สิทธิที่จะไปบังคับแก่จำเลยที่ 4ผู้ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่โจทก์จึงมิใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ได้
พิพากษายืน

Share