แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยจำเลยยกเหตุแห่งการปฏิเสธว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากการทำงานของโจทก์ไม่มีประสิทธิภาพ การปฏิบัติงานของโจทก์ทำให้จำเลยเสียหายจึงไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม การที่จำเลยขอแก้ไขคำให้การเป็นเหตุประการที่สองว่า โจทก์ตกลงเลิกสัญญากับจำเลยซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงเลิกสัญญาจ้างกัน เห็นได้ว่าหากจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยจำเลยแสดงเจตนาฝ่ายเดียวตามเหตุประการแรกก็ไม่อาจมีกรณีตกลงเลิกสัญญาด้วยการแสดงเจตนาของโจทก์จำเลยร่วมกันทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นพร้อมกันอีก คำให้การที่จำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมที่อ้างว่า มีการตกลงเลิกสัญญาจ้างกันแล้วจึงเป็นเพียงเหตุผลสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยที่ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะการทำงานของโจทก์ไม่มีประสิทธิภาพเท่านั้นหรืออีกนัยหนึ่งจำเลยอ้างว่า เมื่อโจทก์ไม่ลาออกจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ เหตุแห่งการปฏิเสธที่ว่า โจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญากันจึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดี ดังนั้นที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมเพราะไม่มีเหตุอันสมควรในการเลิกจ้างตามเหตุแห่งการปฏิเสธในคำให้การของจำเลยประการแรกโดยไม่วินิจฉัยเหตุที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้ประการที่สองจึงชอบแล้ว
อุทธรณ์ของจำเลยเกี่ยวกับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยเมื่อไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ศาลไม่จำต้องวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งเลขานุการผู้จัดการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2525 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2541 โดยโจทก์ไม่มีความผิด ไม่เคยถูกตักเตือนเป็นหนังสือหรือทำความเสียหายให้จำเลย นอกจากนี้จำเลยยังรับบุคคลอื่นเข้าทำงานในตำแหน่งแทนที่โจทก์ การเลิกจ้างดังกล่าวจึงไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 โจทก์ไม่อาจทำงานร่วมกับจำเลยต่อไปได้ ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นจำนวน 144 เดือนของเงินเดือนเดือนสุดท้ายเป็นเงิน 5,776,128 บาท เงินสะสม 5 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน 144 เดือน เป็นเงิน 288,806.40 บาท เงินโบนัสพนักงานปีละ 2 เท่าของเงินเดือนรวม 12 ปี เป็นเงิน 962,688 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 7,027,622.40 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2541 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่ปี 2525 ตำแหน่งพนักงานธุรการ ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2536 จำเลยมอบหมายให้โจทก์ทำงานตำแหน่งเลขานุการ การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ของโจทก์ไม่มีประสิทธิภาพมาแต่ต้นไม่มีความรู้เพียงพอในการใช้คอมพิวเตอร์ ไม่มีการพัฒนาความรู้ทางด้านธุรกิจธนาคาร การเขียนจดหมายธุรกิจ การแปลเอกสารจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ ผลการประเมินการทำงานของโจทก์ในปี 2540 และปี 2541 ไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงไม่ได้รับพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์ทำการสัมภาษณ์โจทก์โดยระบุในรายงานการสัมภาษณ์เพื่อให้โจทก์รับผิดชอบการทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นการตักเตือนด้วยวาจาและเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการทำงานของโจทก์แล้ว นอกจากนี้การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายต่อจำเลย โดยโจทก์ประมาทเลินเล่อไม่ต่อวีซ่าของบุคคลในครอบครัวผู้บริหารภายในเวลาที่กำหนด 2 ครั้ง ทำให้บุคคลในครอบครัวของผู้บริหารต้องเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังประเทศใกล้เคียงแล้วเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยใหม่เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งมีผลทำให้จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางจำนวนประมาณ 50,000 บาท ผู้บังคับบัญชาของโจทก์จึงแนะนำให้โจทก์ลาออก โจทก์แจ้งว่าสมัครใจเขียนใบลาออก แต่ภายหลังโจทก์ปฏิเสธไม่ลาออก จำเลยจึงยื่นหนังสือเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 ด้วยสาเหตุจากการทำงานของโจทก์ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกเท่ากับอายุการทำงานที่เหลืออีก 12 ปี เป็นค่าเสียหายในอนาคตที่ไม่แน่นอนเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทย ปัจจุบันจำเลยอาจมีความจำเป็นต้องพิจารณาลดเงินเดือนของลูกจ้างหรืองดจ่ายเงินโบนัสดังเช่นธุรกิจหลายแห่งดำเนินอยู่ในขณะนี้ ค่าเสียหายจึงสูงเกินสมควร โจทก์ได้รับค่าชดเชยจากจำเลยครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนวันสืบพยานจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายนำพยานเข้าสืบก่อน จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตจำเลยโต้แย้งคำสั่งศาลแรงงานกลาง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่ปี 2525 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2541 และวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 ผู้บังคับบัญชาของโจทก์แนะนำให้โจทก์ลาออก โจทก์ไม่ยอมลาออก จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 การเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 โดยอ้างว่าโจทก์ไม่สามารถประสานงานระหว่างผู้บริหารได้ตามเอกสารหมาย จ.1ไม่มีเหตุอันสมควรในการเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยขอแก้ไขคำให้การให้บริบูรณ์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโดยอ้างว่า จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยให้การในข้อ 2 และข้อ 3 บรรยายข้อเท็จจริงถึงการทำงานของโจทก์ที่จำเลยเห็นว่าไม่มีประสิทธิภาพและเป็นการปฏิบัติงานที่ทำให้จำเลยเสียหาย กับในย่อหน้าสุดท้ายของคำให้การข้อ 3 ระบุว่า จำเลยใช้ดุลพินิจเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 ด้วยสาเหตุจากการทำงานของโจทก์จึงไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ส่วนคำให้การข้อ 4 จำเลยบรรยายว่า ความจริงมีอยู่ว่านายโอซามุ โคบายาชิ (รองผู้จัดการสาขาของจำเลย) เรียกโจทก์ไปพบเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2541เพื่อแจ้งให้ทราบว่า จำเลยประสงค์จะเลิกจ้างโจทก์ด้วยสาเหตุจากการทำงานของโจทก์ นายโอซามุ โคบายาชิ แนะนำให้โจทก์เขียนใบลาออกเพื่อไม่ให้เสียประวัติการทำงาน ในวันนั้นโจทก์สมัครใจจะเขียนใบลาออก จำเลยจึงนัดหมายกับโจทก์ลงชื่อในใบลาออกในวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 โจทก์แจ้งผู้ร่วมงานว่าลาออกในวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 ผู้ร่วมงานจึงจัดงานเลี้ยงอำลาและให้ของขวัญโจทก์ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 แต่โจทก์ไม่ยอมลงชื่อในใบลาออกอันเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงว่าในวันที่ 13 และ 17 กรกฎาคม 2541 มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น สำหรับคำให้การที่จำเลยขอเพิ่มเติมเป็นข้อ 5 มีใจความว่าการที่โจทก์แจ้งวันลาออกต่อผู้ร่วมงานและผู้ร่วมงานจัดงานเลี้ยงอำลาโจทก์ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 แสดงให้เห็นว่าอยู่ในตัวว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม2541 โจทก์จำเลยทำความตกลงเลิกสัญญาจ้างต่อกันโดยให้มีผลเลิกจ้างนับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2541 โดยโจทก์จะทำหนังสือลาออก การเลิกสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยจึงมีผลบังคับนับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2541 แล้ว โจทก์เพียงฝ่ายเดียวจะยกเลิกข้อตกลงเลิกสัญญาโดยไม่ยอมลงชื่อในใบลาออกไม่ได้ เมื่ออ่านคำให้การเดิมกับคำให้การที่จำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมแล้วได้ความว่า จำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์ที่อ้างว่า จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยจำเลยยกเหตุแห่งการปฏิเสธ 2 ประการ คือประการแรก จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 เนื่องจากการทำงานของโจทก์ไม่มีประสิทธิภาพ การปฏิบัติงานของโจทก์ทำให้จำเลยเสียหายจึงไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว และประการที่สอง เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2541 โจทก์ตกลงเลิกสัญญากับจำเลยโดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 17 กรกฎาคม 2541ไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงเลิกสัญญาจ้างกัน จากเหตุที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้โจทก์นั้น เห็นได้ว่าหากจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยจำเลยแสดงเจตนาฝ่ายเดียว ตามเหตุประการแรกก็ไม่อาจมีกรณีตกลงเลิกสัญญาด้วยการแสดงเจตนาของโจทก์จำเลยร่วมกันทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นพร้อมกันอีกตามเหตุประการที่สอง คำให้การของจำเลยที่อ้างว่า มีการตกลงเลิกสัญญาจ้างกันแล้วนั้นจึงเป็นเพียงเหตุสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยที่ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะการทำงานของโจทก์ไม่มีประสิทธิภาพเท่านั้นหรืออีกนัยหนึ่งจำเลยอ้างว่า เมื่อโจทก์ไม่ลาออกจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 เหตุแห่งการปฏิเสธประการที่สองที่ว่า โจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญากันดังกล่าวข้างต้นจึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดีนี้ ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมเพราะไม่มีเหตุอันสมควรในการเลิกจ้างตามเหตุแห่งการปฏิเสธในคำให้การของจำเลย ประการแรกโดยไม่วินิจฉัยเหตุที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้ประการที่สองจึงชอบแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติม คำให้การของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน