คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 510/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่1กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน51,000บาทและรับเงินไปในวันทำสัญญาแล้วการที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่1ไม่ได้รับเงินไปในวันทำสัญญาโดยเดิมภริยาของจำเลยที่1เคยกู้เงินยืมโจทก์ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่1ได้ทำความตกลงหนี้ส่วนที่ภริยาของจำเลยที่1กู้ยืมเงินโจทก์ปรากฏว่าภริยาของจำเลยที่1เป็นหนี้โจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน51,000บาทจำเลยที่1จึงทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้โดยจำเลยที่2เข้าทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวเป็นการนำสืบถึงมูลหนี้เดิมก่อนที่จะนำเอามูลหนี้นั้นมาทำเป็นสัญญากู้ซึ่งเป็นรายละเอียดโจทก์ไม่จำต้องบรรยายถึงมูลหนี้เดิมมาในฟ้องก็ได้การนำสืบของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นการนำสืบแตกต่างกันหรือขัดแย้งกับคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2530 จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากโจทก์จำนวน 51,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ชำระเงินคืนในวันที่ 25 มีนาคม2533 โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน ครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1ไม่ชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 36,337 บาท จำเลยที่ 1 จึงค้างชำระเงินให้โจทก์รวมเป็นเงิน 87,337 บาท แต่ก่อนฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้โจทก์ 20,000 บาท จึงคงค้างชำระ 67,337 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้โจทก์ 67,337 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 51,000 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อประมาณปี 2530 จำเลยที่ 1กู้เงินโจทก์ 20,000 บาท ได้ลงชื่อในช่องผู้กู้ในสัญญากู้และจำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญาค้ำประกันโดยไม่ได้กรอกข้อความหลังจากกู้แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้โจทก์รวมทั้งสิ้น50,000 บาท ต่อมาเมื่อต้นปี 2535 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินอีก 20,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ชำระโจทก์จึงกรอกข้อความในแบบพิมพ์สัญญาเงินกู้และสัญญาค้ำประกันโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยทั้งสองแล้วนำมาฟ้อง สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันจึงเป็นสัญญาปลอม ใช้บังคับจำเลยทั้งสองไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 67,337 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2ชำระแทน จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง คดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินยืมโจทก์ เมื่อวันที่30 มิถุนายน 2530 จำนวน 51,000 บาท และรับเงินไปในวันทำสัญญาแต่จากการนำสืบของโจทก์กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินไปในวันทำสัญญา ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาจึงต่างกับที่โจทก์ฟ้องศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องนั้นในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าเดิมภริยาของจำเลยที่ 1 เคยกู้ยืมเงินโจทก์ ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำความตกลงหนี้ส่วนที่ภริยาของจำเลยที่ 1กู้ยืมเงินโจทก์ ปรากฏว่า ภริยาของจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 51,000 บาท จำเลยที่ 1จึงทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ไว้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน2530 โดยจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.2 เห็นว่า การนำสืบของโจทก์ดังกล่าว เป็นการนำสืบถึงมูลหนี้เดิมก่อนที่จะนำเอามูลหนี้นั้นมาทำเป็นสัญญากู้ซึ่งเป็นรายละเอียด โจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายถึงมูลหนี้เดิมมาในฟ้องก็ได้ การนำสืบของโจทก์ดังกล่าว จึงไม่เป็นการนำสืบแตกต่างหรือขัดแย้งกับคำฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาจึงไม่เกินคำขอท้ายฟ้องดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา”
พิพากษายืน

Share