คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 51/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยไม่ได้กำหนดระยะเวลาจ้างไว้ โจทก์และจำเลยจึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้ด้วยการบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง การที่จำเลย(นายจ้าง)ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบ ไม่ใช่เป็นการผิดสัญญา และไม่ใช่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์(ลูกจ้าง) โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
การบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างที่ไม่ได้กระทำให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเป็นเรื่องที่โจทก์ชอบจะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสี่, 121 วรรคสอง ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคสอง แล้วแต่กรณี และหากการเลิกจ้างนั้นเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ก็ชอบจะได้ค่าเสียหายตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 มิใช่ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด
ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยโจทก์ได้กู้ยืมเงินจากประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยรวม 2 ครั้ง โจทก์ตกลงผ่อนชำระโดยให้หักจากค่าจ้างโจทก์แต่ละเดือน และโจทก์ยังคงค้างชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว เหตุที่จำเลย ไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้แก่โจทก์เป็นเพราะเมื่อหักกลบลบหนี้เงินกู้แล้วโจทก์ยังเป็นหนี้ประธานกรรมการ ผู้จัดการบริษัทจำเลยอยู่อีกมากและโจทก์ไม่เคยทวงถาม จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยสามารถจะหักกลบลบหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยกับหนี้เงินกู้ดังกล่าวได้ แม้จำเลยไม่อาจหักกลบลบหนี้เงินกู้กับค่าจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 ก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชยและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวมเป็นเงิน 194,300 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2541 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าเสียหายที่ทำละเมิด เลิกจ้างไม่เป็นธรรม 4,536,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุผลอันสมควรไม่ใช่กลั่นแกล้ง ไม่เป็นการละเมิดและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวนสูงเกินสมควร และโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และจ่ายค่าจ้าง กับค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยไม่ได้กำหนดระยะเวลาจ้างไว้ โจทก์และจำเลยจึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้ด้วยการบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง การที่จำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบ ไม่ใช่เป็นการผิดสัญญา และไม่ใช่เป็นการ จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จำเลยจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ส่วนการบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างที่ไม่ได้กระทำให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็เป็นเรื่องที่โจทก์ชอบจะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือค่าชดเชยพิเศษ แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสี่, 121 วรรคสอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคสอง แล้วแต่กรณี และหากการเลิกจ้างนั้นเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโจทก์ก็ชอบจะได้รับค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 มิใช่ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อมามีว่า จำเลยต้องจ่ายเงินเพิ่มสำหรับค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยโจทก์ได้กู้ยืมเงินจากนายเคียวจิ โมชิซูกิ ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยรวม 2 ครั้ง โจทก์ตกลงผ่อนชำระโดยให้หักจากค่าจ้างโจทก์แต่ละเดือน ปัจจุบันโจทก์ยังค้างชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวประมาณ 330,000 บาท เหตุที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามฟ้องให้แก่โจทก์เพราะเมื่อหักกลบลบหนี้เงินกู้ตามบันทึกกู้ยืมเงินดังกล่าวแล้วโจทก์ยังเป็นหนี้ประธานกรรมการ ผู้จัดการบริษัทจำเลยอยู่อีกมากและโจทก์ไม่เคยทวงถาม ดังนี้จะเห็นได้ว่าจำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยสามารถจะหักกลบหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยกับเงินกู้ซึ่งโจทก์เป็นหนี้ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยได้ เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วโจทก์ยังเป็นหนี้อยู่อีกจำนวนมาก แม้จำเลยจะไม่อาจหักกลบลบหนี้เงินกู้กับค่าจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 ก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแล้วก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ที่ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดให้จำเลย จ่ายเงินเพิ่มแก่โจทก์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยบอกกล่าวล่วงหน้าถูกต้องตามกฎหมาย แต่จำเลยก็ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนธันวาคม 2541 และเงินโบนัสแก่โจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างของเดือนพฤศจิกายน 2541 จำนวน 30,300 บาท และของวันที่ 1 ถึง 8 ธันวาคม 2541 จำนวน 8,000 บาท ต่อมาโจทก์จำเลยแถลงรับ ข้อเท็จจริงกันว่าจำเลยยังคงค้างชำระค่าจ้างโจทก์เป็นเงิน 10,300 บาท ซึ่งศาลแรงงานกลางก็พิพากษาให้จำเลยจ่ายให้โจทก์แล้ว ส่วนค่าจ้างของวันที่ 9 ถึง 31 ธันวาคม 2541 และเงินโบนัสโจทก์ไม่ได้บรรยายและขอมาในคำฟ้อง โจทก์เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share