แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การลงโทษจำเลยที่กระทำความผิดหลายกรรมและให้เรียงกระทงลงโทษมิได้มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องแยกลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษภายหลัง การที่ศาลรวมโทษที่วางแต่ละกระทงแล้วจึงลดโทษจึงชอบด้วยกฎหมาย
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และ มาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และใช้ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 1.5 กรัม ขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 15 วรรคสอง ที่กำหนดเฉพาะปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไปเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าจะมีจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิมากน้อยเพียงใด ดังนั้น เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลย ส่วนในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนทั้งกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับ จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน 5 เม็ด น้ำหนัก 0.450 กรัม และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1 เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด โดยไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด การกระทำทั้งสองกรรมต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายเดิมที่ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท กรณีโทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจ ยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ และริบหลอดกาแฟของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองควรจะลดโทษแต่ละกรรมก่อนแล้วจึงค่อยรวมโทษที่ลงแก่จำเลยซึ่งจะเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่านั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การลงโทษจำเลยที่กระทำความผิดหลายกรรมและให้เรียงกระทงลงโทษนั้น มิได้มีกฎหมายบัญญัติให้แยกลดโทษแต่กระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษภายหลัง การที่ศาลล่างทั้งสองรวมโทษที่วางแต่ละกระทงแล้วจึงลดโทษให้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๘ และมาตรา ๑๙ ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ และมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และใช้ ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มาตรา ๑๕ วรรคสาม (๒) ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ ๓๗๕ มิลลิกรัม ขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวน ๑๕ หน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ ๑.๕ กรัม ขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แตกต่างจากฎหมายเดิมในมาตรา ๑๕ วรรคสอง ที่กำหนดเฉพาะปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ ๒๐ กรัม ขึ้นไปเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าจะมีจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิมากน้อยเพียงใด ดังนั้น เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมาย ที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลย ส่วนในความผิดฐานจำหน่าย เมทแอมเฟตามีน ซึ่งกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน ซึ่งต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับสำหรับคดีที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน ๕ เม็ด น้ำหนัก ๐.๔๕๐ กรัม และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน ๑ เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด โดยไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีน ดังกล่าว มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด การกระทำทั้งสองกรรมต่างเป็นความผิดตามมาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากมาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายเดิมที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ ห้าหมื่นบาทถึง ห้าแสนบาท ดังนั้นกรณีโทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่ แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่ เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง (เดิม), ๖๖ วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ให้จำคุกกระทงละ ๔ ปี รวม ๒ กระทง จำคุก ๘ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงจำคุก ๔ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑