แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินบางส่วนของที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนไปยังผู้อื่นภายใน 10 ปีจากโจทก์ แม้โจทก์จะได้สละการครอบครองและมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยครอบครอง ทั้งมีข้อตกลงว่าจะจดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนแล้ว ก็เป็นการซื้อมาและเข้าครอบครองภายในกำหนดเวลาห้ามโอน เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่พิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยพร้อมทั้งบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ และใช้ค่าเสียหายเดือนละ 200 บาทนับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์โดยตกลงกันว่าเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนแล้ว โจทก์จะไปจดทะเบียนซื้อขายและแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยทันที จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โดยปลูกบ้านอยู่อาศัยอย่างถาวรและปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นระยะเวลาเกินกว่า1 ปี โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่พิพาทพร้อมทั้งใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ100 บาท นับแต่วันฟ้อง (28 กันยายน 2532 ที่ถูก 29 กันยายน 2532)เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่พิพาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่าสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าจำเลยซื้อที่พิพาทมาจากโจทก์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2528 ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอน โจทก์สละการครอบครองให้จำเลยเข้าครอบครองโดยตกลงกันว่า โจทก์จะไปโอนให้จำเลยเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอน สัญญาซื้อขายจึงไม่ต้องห้ามตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ห้ามโจทก์ผู้ได้สิทธิครอบครองในที่ดินแปลงพิพาทโอนไปยังผู้อื่นภายใน 10 ปี ดังนั้น ถึงแม้จะฟังว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์โดยโจทก์สละการครอบครองก็เป็นการซื้อมาและเข้าครอบครองภายในกำหนดเวลาห้ามโอน เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 แม้จะโอนไปเพียงบางส่วนของที่ดินที่ห้ามโอนและมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยครอบครองแล้วทั้งมีข้อตกลงว่าจะจดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนแล้วก็ไม่อาจทำได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่พิพาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน