คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5074/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การขอแก้ไขคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 จำเลยจะต้องทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย หรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นชี้สองสถานไปแล้วต่อมาระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การเดิมโดยอ้างเพิ่มเติมว่า สัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องไม่มีผลผูกพันจำเลย เนื่องจากขณะที่ทำสัญญาดังกล่าวจำเลยมีอายุเพียง 17 ปี ยังเป็นผู้เยาว์กระทำนิติกรรมโดยมิได้รับความเห็นชอบหรือความยินยอมจากมารดาซึ่งเป็นผู้ปกครอง จึงมีผลเป็นโมฆียะกรรม และขอถือเอาคำให้การที่ขอแก้ไขนี้เป็นการบอกล้างโมฆียกรรมประกอบกับจำเลยได้บอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว ดังนั้นคำให้การที่ขอแก้ไขดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่จำเลยหยิบยกเรื่องความเป็นโมฆียะกรรมของสัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องขึ้นโต้เถียงโจทก์ซึ่งการกล่าวอ้างว่านิติกรรมที่ทำเป็นโมฆียะกรรมโดยจะบอกล้างหรือไม่ก็ตามมิใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะอยู่ในข้อยกเว้นที่พึงอนุญาตให้จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การภายหลังล่วงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ากรณีล่วงเลยระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว ประกอบกับทนายโจทก์คัดค้าน จึงไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 5 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ
จำเลยที่ 5 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 บัญญัติว่า “การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้วให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย หรือข้อผิดหลงเล็กน้อย” คดีนี้โจทก์ฟ้องและจำเลยทั้งเจ็ดยื่นคำให้การ โดยในวันที่ 17 สิงหาคม 2543 ศาลชั้นต้นได้ทำการชี้สองสถานไปแล้ว ต่อมาระหว่างศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 จำเลยที่ 5 เพิ่งยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ อันเป็นกรณียื่นคำร้องเข้ามาภายหลังการชี้สองสถานล่วงพ้นกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 5 อ้างในฎีกาว่า เป็นกรณีการขอแก้ไขคำให้การในเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งมิได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 5 ขอแก้ไขคำให้การเดิมโดยอ้างเพิ่มเติมว่า สัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 5 เนื่องจากขณะที่ทำสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 5 มีอายุเพียง 17 ปี ยังเป็นผู้เยาว์ กระทำนิติกรรมโดยมิได้รับความเห็นชอบหรือความยินยอมจากมารดาซึ่งเป็นผู้ปกครองจึงมีผลเป็นโมฆียะกรรม และขอถือเอาคำให้การที่ขอแก้ไขนี้เป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม ประกอบกับจำเลยที่ 5 ได้บอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว ดังนั้น คำให้การที่ขอแก้ไขดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 5 หยิบยกเรื่องความเป็นโมฆียะกรรมของสัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องขึ้นโต้เถียงโจทก์ซึ่งการกล่าวอ้างว่านิติกรรมที่ทำเป็นโมฆียะกรรมโดยจะบอกล้างหรือไม่ก็ตามมิใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะอยู่ในข้อยกเว้นที่พึงอนุญาตให้จำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำการภายหลังล่วงพ้นกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการอนุญาตให้แก้ไขจะทำให้โจทก์เสียเปรียบหรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 5 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าวชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share