คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 507/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความที่จำเลยกล่าวว่า”สำหรับอ.นั้นขอให้พิจารณาเป็นพิเศษด้วยเดินหากินจุ้นจ้านที่ศาลเพราะสำนักงานร้างไปแล้ว”คำว่า”จุ้นจ้าน”เป็นคำกริยาตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2525มีความหมาย2นัยนัยแรกคือเข้าไปยุ่งเกี่ยวในสถานที่หรือนัยที่สองเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ของตัวจนน่าเกลียดเมื่อพิจารณาทั้งประโยคที่ว่า”เดินหากินจุ้นจ้านที่ศาล”จึงน่าจะมีความตามความนัยแรกคือโจทก์เข้าไปเดินหากินยุ่งเกี่ยวในศาลในลักษณะพลุกพล่านยุ่มย่ามจนน่าเกลียดเพราะสำนักงานร้างไปแล้วเมื่อได้ความว่าจำเลยได้ติดต่อให้โจทก์เป็นทนายความที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชและจำเลยเอาเงินค่าจ้างว่าความส่วนหนึ่งไปให้โจทก์ที่บ้านโดยไม่ได้ความชัดว่าโจทก์มีสำนักงานทนายความแยกจากบ้านที่พักอาศัยหรือไม่ส่วนจำเลยไม่เคยติดต่อโจทก์ที่สำนักงานทนายความของโจทก์ดังนั้นการที่จำเลยกล่าวว่าโจทก์ไปเดินหากินจุ้นจ้านที่ศาลเพราะสำนักงานร้างไปแล้วจึงเป็นการกล่าวไปตามความเข้าใจของจำเลยว่าโจทก์ไม่มีสำนักงานเป็นหลักแหล่งต้องใช้ศาลเป็นที่ทำมาหากินมิได้มีความหมายไปในทางที่ว่าโจทก์เป็นทนายความที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตหรืออาศัยวิชาชีพหลอกลวงฉ้อโกงจำเลยหรือประชาชนจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาใส่ความโจทก์ให้เสียหายหรือถูกดูหมิ่นเกลียดชังคำกล่าวดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำคุก 3 เดือน และปรับ 1,500 บาทคำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือนและปรับ 1,000 บาท ไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยกระทำผิดมาก่อน ประกอบกับจำเลยป่วย ต้องไปพบแพทย์เป็นประจำโทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์มีอาชีพเป็นทนายความ เดิมผู้มีชื่อได้ฟ้องขับไล่จำเลยให้รื้อถอนห้องแถวออกจากที่ดินต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินและห้องแถวเป็นของจำเลย ในการดำเนินคดีแพ่งดังกล่าวจำเลยแต่งตั้งโจทก์ให้เป็นทนายความแก้ต่าง ในระหว่างสืบพยานโจทก์คดีแพ่งดังกล่าวโจทก์กับจำเลยมีความเห็นไม่ตรงกัน โจทก์จึงถอนตัวจากการเป็นทนายความ ศาลชั้นต้นในคดีนั้นพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี ต่อมาจำเลยได้เขียนหนังสือด้วยลายมือของตนเอง ลงวันที่8 พฤษภาคม 2534 ขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี ตามเอกสารหมาย จ.4กล่าวอ้างว่าโจทก์และคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีไม่ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย โดยเฉพาะโจทก์ซึ่งเป็นทนายความได้รับเงินค่าจ้างว่าความไปจากจำเลยบางส่วนแล้วไม่คืนให้จำเลย มีพฤติการณ์ประพฤติผิดมารยาททนายความและในหนังสือดังกล่าวมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า “สำหรับนายอัมพร ณ สงขลา นั้น ขอให้พิจารณาเป็นพิเศษด้วยเดินหากินจุ้นจ้านที่ศาลเพราะสำนักงานร้างไปแล้ว ข้าพเจ้าได้สืบทราบว่า คุณอัมพรนั้นเขาเรียกทนายโจร ฯลฯ” สำนักเลขาธิการนกยกรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือเอกสารหมาย จ.4 ไปให้สภาทนายความดำเนินการต่อไป สภาทนายความได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ในข้อหาประพฤติผิดมารยาททนายความ
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยว่า จำเลยเขียนหนังสือเอกสารหมาย จ.4 ไปยังบุคคลที่สามมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า “สำหรับนายอัมพร ณ สงขลานั้น ขอให้พิจารณาเป็นพิเศษด้วย เดินหากินจุ้นจ้านที่ศาล สำนักงานร้างไปแล้ว” ซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2525 ว่า โจทก์เข้าไปยุ่งเกี่ยวในสถานที่หรือในเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ของตัวจนน่าเกลียด เป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้ เป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ ส่วนข้อความที่ว่า “ข้าพเจ้าสืบทราบว่า คุณอัมพร นั้น เข้าเรียกว่าทนายโจร” ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยว่า อาจหมายความว่า โจทก์มักจะรับเป็นทนายความให้กับโจรผู้ร้าย จึงเรียกว่าทนายโจรก็ได้ ข้อความในส่วนนี้จึงไม่เป็นหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนนี้ดังนั้นคำกล่าวที่ว่าโจทก์เป็นทนายโรจเป็นหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์หรือไม่ จึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
คดีคงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกา ตามฎีกาของจำเลยแต่เพียงว่าข้อความที่จำเลยกล่าวว่า “สำหรับนายอัมพร ณ สงขลา นั้น ขอให้พิจารณาเป็นพิเศษด้วย เดินหากินจุ้นจ้านที่ศาล เพราะสำนักงานร้างไปแล้ว”เป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์หรือไม่ เห็นว่า คำว่า “จุ้นจ้าน”เป็นคำกริยาตามพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 มีความหมาย2 นัย นัยแรกคือเข้าไปยุ่งเกี่ยวในสถานที่หรือนัยที่สองเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ของตัวจนน่าเกลียด เมื่อพิจารณาทั้งประโยชน์ที่ว่า “เดินหากินจุ้นจ้านที่ศาล” จึงน่าจะมีความตามความนัยแรกคือ โจทก์เข้าไปเดินหากินยุ่งเกี่ยวในศาลในลักษณะพลุ่กพล่าน ยุ่มย่าม จนน่าเกลียด เพราะสำนักงานร้างไปแล้ว ชั้นพิจารณาโจทก์เบิกความว่า จำเลยได้ติดต่อให้โจทก์เป็นทนายความที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชและจำเลยเอาเงินค่าจ้างว่าความส่วนหนึ่งไปให้โจทก์ที่บ้าน โดยไม่ได้ความชัดว่าโจทก์มีสำนักงานทนายความแยกจากบ้านที่พักอาศัยหรือไม่ ส่วนจำเลยเบิกความว่าได้ติดต่อพบกับโจทก์ที่ศาล และสำนักงานที่ดินเสมอ ๆ แสดงว่าจำเลยไม่เคยติดต่อโจทก์ที่สำนักงานทนายความของโจทก์ ดังนั้นที่จำเลยกล่าวว่าโจทก์ไปเดินหากินจุ้นจ้านที่ศาล เพราะสำนักงานร้างไปแล้ว จึงเป็นการกล่าวไปตามความเข้าใจของจำเลยว่าโจทก์ไม่มีสำนักงานเป็นหลักแหล่งต้องใช้ศาลเป็นที่ทำมาหากินมิได้มีความหมายไปในทางที่ว่า โจทก์เป็นทนายความที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตหรืออาศัยวิชาชีพหลอกลวงฉ้อโกงจำเลยหรือประชาชน จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาใส่ความโจทก์ให้เสียหายหรือถูกดูหมิ่น เกลียดชัง คำกล่าวดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง

Share