แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้านายทะเบียนว่าจำเลยจะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เป็นรายเดือนจำเลยไม่ปฏิบัติตามโจทก์จึงฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าวแม้ภายหลังที่ยื่นฟ้องแล้วโจทก์จะได้ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของสามีใหม่แต่บุตรบุญธรรมก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่เกิดมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1578/28โจทก์ยังคงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กหญิง ณัฐวัณน์ อิงคตานุวัฒน์ ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2528 โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้านายทะเบียนเขต พระโขนง ว่า จำเลยจะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท และยกบ้านเลขที่ 53/7 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 65785 ซึ่งเป็นสินสมรสให้โจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร และให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 65785 พร้อมบ้านเลขที่ 53/7ให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยนัดให้จำเลยไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้าน และมิได้ตกลงจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้โจทก์จำเลยมิได้กระทำการใดเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2528 จนกว่าเด็กหญิง ณัฐวัณน์ อิงคตานุวัฒน์ จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์หรือบรรลุนิติภาวะ และให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 65785 พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ 53/7 ให้โจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเพิ่งทราบในภายหลังว่าเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2530 (ที่ถูกวันที่ 18 มิถุนายน2530) โจทก์ได้ยกเด็กหญิง ณัฐวัณน์ ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากโจทก์กับจำเลยให้เป็นบุตรบุญธรรมของนาย กิตติ มิตรศรัทธา สามีใหม่ของโจทก์ปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายฎีกา ดังนั้น นับแต่วันจดทะเบียนดังกล่าวอำนาจปกครองบุตรจึงตกแก่นาย กิตติ ผู้รับบุตรบุญธรรม โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตามฟ้อง และโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องดังฎีกาของจำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้จำเลยก็อ้างอิงปัญหานี้ในชั้นฎีกาได้และศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามสำเนาทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมท้ายฎีกาของจำเลยปรากฏว่านาย กิตติ จดทะเบียนรับเด็กหญิง ณัฐวัณน์ เป็นบุตรบุญธรรมเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2530 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้วอีกทั้งบุตรบุญธรรมก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/28 ด้วย ดังนั้นการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวหามีผลทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ ฎีกาของจำเลยในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน