แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๒/๒๕๕๓
วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๓
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดน่าน
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่
การส่งเรื่องต่อคระกรรมการ
ศาลจังหวัดน่านโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ นางจันทร์สม วงค์คำ ที่ ๑ นายปอน สุภา ที่ ๒ นายเกษมศานติ์ กุศล ที่ ๓ โจทก์ ยื่นฟ้องกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ที่ ๑ พันตำรวจโท อนุชาต ทองอาภรณ์ ที่ ๒ นายเลิศพร ประพฤติธรรม ที่ ๓ นายสุธี วงศ์โต ที่ ๔ นายลิขิต วิชา ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดน่าน เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๙๖๑/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๙๗๖ ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๙๗๕ ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน โจทก์ที่ ๓ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๙๗๑ ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ที่ดินโจทก์ทั้งสามทางทิศใต้ติดแม่น้ำน่าน ต่อมาที่ดินของโจทก์ทั้งสามเกิดที่งอกริมตลิ่ง โจทก์ทั้งสามจึงเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่งอกริมตลิ่งด้วยความสงบเปิดเผยและไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน โดยปลูกพืชทางการเกษตรจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาหลายสิบปี โดยโจทก์ทั้งสามยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินที่เป็นที่งอกริมตลิ่งต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดน่าน สาขาท่าวังผา แต่ยังไม่ได้รับโฉนดที่ดิน จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานราชการและเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าพนักงานกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ และเป็นผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ ๑ จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ ๑ สาขาจังหวัดแพร่ จำเลยที่ ๔ เป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งหัวหน้าศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ ๗ จำเลยที่ ๕ เป็นราษฎร ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ร่วมกับจำเลยที่ ๕ ได้ใช้และจ้างวานบริวารหลายคนพร้อมรถขุดตักดินบุกรุกที่ดินและที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ทั้งสาม ทำการขุดตักดินบริเวณดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งห้าทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสามและที่งอกริมตลิ่งได้รับความเสียหายกลายเป็นทางเดินน้ำ ตลอดจนพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๔๐๗,๕๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๓๐๘,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๓ เป็นเงิน ๑๐๖,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งห้าให้การว่า ที่ดินส่วนพิพาทที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าเป็นที่งอกริมตลิ่งนั้น เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดน่าน สาขาท่าวังผา มีคำสั่งไม่ออกโฉนดที่ดินตามคำขอของโจทก์ ที่พิพาทที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้าง มิใช่ที่งอกริมตลิ่งแต่เป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การขุดลอกลำน้ำน่านไม่มีส่วนล่วงล้ำเข้าไปในแดนกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสาม การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นไปตามขั้นตอน วิธีปฏิบัติตามกฎหมายและตามอำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายและโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้อง และไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า มูลคดีที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งห้า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดน่านพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยทั้งห้าจะให้การต่อสู้คดีว่าเป็นการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่ประเด็นหลักที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งห้าโต้แย้งกันเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่า เป็นของโจทก์ทั้งสามหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อน จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของโจทก์ทั้งสามและข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งห้าว่า กระทำละเมิดตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวหาหรือไม่ และจะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามหรือไม่เพียงใด การพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสาม หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กับประมวลกฎหมายที่ดินเป็นหลักซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยทั้งห้าดำเนินการขุดลอกแม่น้ำน่านตามโครงการพัฒนาและฟื้นฟูแม่น้ำน่าน จังหวัดน่าน ของจำเลยที่ ๑ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย จำเลยที่ ๑ บุกรุกที่ดินและที่งอกของโจทก์ทั้งสาม ขุดตักที่ดินบริเวณดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นกรมและมีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๕ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอท่าวังผาในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อจำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและขุดลอกร่องน้ำ ทางเรือเดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบและทะเลภายในน่านน้ำไทยตามมาตรา ๑๒๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ประกอบกับข้อ ๒ (๑) ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ และดำเนินการตามที่จำเลยที่ ๑ มอบหมาย ส่วนจำเลยที่ ๕ เป็นผู้ใหญ่บ้านปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอท่าวังผา ตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ชายตลิ่งและทางน้ำอันเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามข้อ ๕ (๒) ประกอบกับข้อ ๔ (๒) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๔ ดังนั้น การดำเนินการขุดลอกลำน้ำน่านของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองและปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินกิจการทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งห้าดำเนินการขุดลอกลำน้ำน่านโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้พืชผลทางการเกษตรของโจทก์ทั้งสามและที่ดินที่พิพาทเสียหาย ไม่ว่าที่พิพาทจะเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ก็ตาม กรณีตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามจึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) ประกอบกับมาตรา ๗๑ (๑) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
สำหรับประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาท หรือที่พิพาทดังกล่าวเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่อยู่ในการดูแลรักษาของจำเลยทั้งห้า นั้น เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบในการพิจารณาข้อหาการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย แม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีไว้โดยเฉพาะ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้
นอกจากนี้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิใช่ผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือผู้ทรงสิทธิครอบครองที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพียงแต่มีกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ทางปกครองดำเนินการดูแล รักษาและขุดร่องน้ำ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องอาศัยและใช้อำนาจเหนือเอกชน เมื่อโจทก์ทั้งสามอ้างว่าจำเลยทั้งห้าดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ขุดลอกลำน้ำน่านโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามและทำให้โจทก์ทั้งสามเสียหาย ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสามอ้างว่า เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๙๗๖, ๘๙๗๕ และ ๘๙๗๑ ตามลำดับ โดยต่อมาที่ดินดังกล่าวได้เกิดที่งอกริมตลิ่ง และเป็นที่งอกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อีกทั้งได้เกิดขึ้นติดกับที่ดินเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินของโจทก์ทั้งสามโดยมิอาจแบ่งแยกได้ ซึ่งต่อมาโจทก์ทั้งสามต่างได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โดยสงบและเปิดเผย ต่อมาจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ร่วมกับจำเลยที่ ๕ ได้บุกรุกเข้ามาในที่งอกริมตลิ่งพิพาทดังกล่าว เพื่อทำการขุดตักดินออกไปจากบริเวณที่งอกริมตลิ่งเป็นเหตุให้ที่ดินและที่งอกริมตลิ่งบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหายกลายเป็นทางน้ำ ตลอดจนพืชผลการเกษตรของโจทก์ทั้งสามที่ปลูกไว้ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม ส่วนจำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยทั้งห้ามีหน้าที่ในการขุดลอกและรักษาร่องน้ำทางเรือ ตามระบียบและกฎหมายซึ่งให้อำนาจหน้าที่ไว้ ในการขุดลอกที่พิพาทดังกล่าวเป็นการกระทำไปตามระเบียบที่ราชการกำหนดไว้ และที่ดินพิพาทดังกล่าวก็มิใช่ที่งอกริมตลิ่งดังโจทก์ทั้งสามกล่าวอ้าง แต่เป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อีกทั้งการขุดลอกลำน้ำไม่มีส่วนล่วงล้ำเข้าไปในแดนกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสาม การกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม และมิได้ก่อให้เกิดความเสียหาย การกระทำของจำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า กรณีตามคำฟ้องโจทก์นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเหนือที่งอกริมตลิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๘ อันเป็นผลให้โจทก์ทั้งสามเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเหนือที่พิพาทดังกล่าวด้วยผลของกฎหมาย การที่จำเลยได้กระทำการขุดตักดินในที่พิพาทเป็นการบุกรุกเข้าไปในที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ส่วนจำเลยเองก็โต้แย้งว่าที่พิพาทดังกล่าวมิใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสาม แต่ที่พิพาทดังกล่าวก็เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ การกระทำของจำเลย ทั้งห้าเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น คดีนี้ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสามหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางจันทร์สม วงค์คำ ที่ ๑ นายปอน สุภา ที่ ๒ นายเกษมศานติ์ กุศล ที่ ๓ โจทก์ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ที่ ๑ พันตำรวจโท อนุชาต ทองอาภรณ์ ที่ ๒ นายเลิศพร ประพฤติธรรม ที่ ๓ นายสุธี วงศ์โต ที่ ๔ นายลิขิต วิชา ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ