คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 507/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฝ่ายหนึ่งจำเลยที่ 1 กับ ส.อีกฝ่ายหนึ่งเข้าหุ้นกันลงทุนซื้อหุ้นบริษัท น.เพื่อแบ่งกำไรหรือเงินปันผลจากการถือหุ้น การที่จำเลยที่ 1 กับ ส.มีชื่อถือหุ้นนั้น ถือได้ว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำนวนหุ้นของบริษัท น.จึงเป็นทรัพย์สินของหุ้นส่วนที่จะต้องนำมาแบ่งตามสัญญาเมื่อเลิกกัน ไม่ใช่จะแบ่งเฉพาะเงินลงทุนค่าหุ้น ตราบใดที่ยังไม่มีการชำระบัญชีหรือตกลงแบ่งกันโดยวิธีอื่นโจทก์ในฐานะหุ้นส่วนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งเงินปันผลในปี 2510 และ ปีต่อ ๆ ไปจนกว่าจะชำระบัญชีหรือตกลงแบ่งกันเสร็จ
โจทก์ฟ้องเรียกทุนของหุ้นส่วน ซึ่งเป็นหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนและขอแบ่งเงินปันผลในปี 2511 ซึ่งศาลล่างก็รับพิจารณาสืบพยานทั้งสองฝ่ายจนสิ้นกระแสความแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะรื้อฟื้นให้ชำระบัญชีใน เรื่องดังกล่าวอีก ศาลย่อมวินิจฉัยถึงจำนวนทุนและพิพากษาให้แบ่งเงินปันผลในปี 2511 ไปทีเดียวได้ และการบังคับให้แบ่งกำไรในปี 2511 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการและทายาทผู้รับมรดกของ ส.ต้องรับผิดร่วมกัน
จำเลยมิได้ฟ้องแย้งเรียกเงินภาษีที่อ้างว่าเสียเพิ่มเติมคืนจึงไม่เป็นประเด็นในคดี
เมื่อ พ.ผู้เป็นหุ้นส่วนตาย ห้างย่อมเลิกกันโดยศาลไม่ต้องสั่งอีก และกรณีนี้ศาลไม่ควรพิพากษาให้จำเลยแบ่งเงินปันผลและคืนเงินค่าหุ้นให้โจทก์โดยไม่ตั้งผู้ชำระบัญชี

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน
สำนวนแรกโจทก์ของให้บังคับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันแบ่งเงินปันผลประจำปี ๒๕๑๑ ที่บริษัทน้อมมิตร จำกัด จ่ายให้หุ้นส่วนจำนวน ๑๕๓,๕๕๖ บาทให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ สำนวนที่สองโจทก์ของให้พิพากษาเลิกสัญญาหุ้นส่วนตามสำเนาเอกสารหมาย ๑ และ ๒ ให้โจทก์จำเลยร่วมกันชำระบัญชีหรือตั้งบุคคลที่โจทก์และจำเลยที่ ๑ เห็นชอบให้เป็นผู้ชำระบัญชี นำหุ้นบริษัทน้อมมิตรจำกัด ๗,๗๒๐ หุ้นมาแบ่งกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้หรือแบ่งไม่ได้ ให้แบ่งโดยวิธีประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลย หรือขายทอดตลาดแล้วแบ่งกัน โดยโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทุนคืน ๖๑๗,๖๐๐ บาท จำเลยทั้งหกได้รับเงินทุนคืน ๑๕๕,๔๐๐ บาท ถ้าราคาหุ้นเกินกว่ามูลค่าหุ้นละ ๑๐๐ บาทเท่าใด ให้โจทก์จำเลยมีสิทธิฝ่ายละครึ่ง ถ้าราคาหุ้นต่ำกว่า ๑๐๐ บาท ให้แบ่งกันตามส่วนของทุนที่ออกเงินลงทุน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การต่อสู้คดี และฟ้องแย้งในสำนวนแรก
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันแบ่งเงินปันผลปี ๒๕๑๑ ให้โจทก์ ๑๕๓,๕๖๖ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้หุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ กับพันเอกสนั่นเลิกกัน ให้ตั้งบุคคลที่โจทก์จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตกลงกันเป็นผู้ชำระบัญชี หากตกลงกันไม่ได้ ให้ตั้งหัวหน้ากองบังคับคดีแพ่งกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ชำระบัญชี โดยแบ่งหุ้นส่วนในจำนวน ๗,๗๒๐ หุ้นตามเอกสารหมายท้ายฟ้องให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทุนคืน ๖๑๗,๖๐๐ บาท จำเลยทั้งหกมีสิทธิได้รับเงินทุนคืน ๑๕๔,๔๐๐ บาท ถ้ามูลค่าหุ้นเกินกว่าหุ้นละ ๑๐๐ บาทให้โจทก์จำเลยมีสิทธิในส่วนเกินฝ่ายละครึ่ง ถ้าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าหุ้นละ ๑๐๐ บาทให้แบ่งตามส่วนของเงินที่แต่ละฝ่ายลงทุน ถ้าไม่ตกลงแบ่งหุ้น ๗,๗๒๐ หุ้นได้ ก็ให้ประมูลกันระหว่างโจทก์จำเลย หากไม่ตกลงก็ให้ขายทอดตลาดหุ้นทั้งหมด แบ่งเงินกันตามส่วนดังกล่าว คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า หุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และพันเอกสนั่นได้เลิกกันแล้วด้วยเหตุแห่งการตายของพันเอกสนั่นผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง ให้จำเลยที่ ๑ แบ่งเงินปันผลในหุ้นของบริษัทน้อมมิตร จำกัด ประจำปี ๒๕๑๑ ให้แก่โจทก์ ๙๓,๘๘๔ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ ๒ แบ่งเงินปันผลในหุ้นของบริษัทน้อมมิตร จำกัด ประจำปี ๒๕๑๑ ให้แก่โจทก์ ๕๙,๖๗๓ บาท (น่าจะเป็น ๕๙,๖๗๒ บาท) พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินทุนค่าหุ้นให้โจทก์ ๓๗๗,๖๐๐ บาท และให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ร่วมกันรับผิดคืนเงินทุนค่าหุ้นในส่วนความรับผิดของพันเอกสนั่นให้โจทก์ ๒๔๐,๐๐๐ บาท โดยไม่ต้องตั้งผู้ชำระบัญชีอีก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทุกคนทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อหุ้นส่วนคนหนึ่งตาย เป็นผลให้ห้างหุ้นส่วนเลิกกันนั้น กรณีห้างหุ้นส่วนคดีนี้มีความจำเป็นต้องชำระบัญชีหรือไม่ เห็นว่าสัญญาหุ้นส่วนระหว่างโจทก์ฝ่ายหนึ่งจำเลยที่ ๑ และพันเอกสนั่นอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นสัญญาหุ้นส่วนลงทุนซื้อหุ้นบริษัทน้อมมิตร จำกัด เพื่อแบ่งปันกำไรหรือเงินปันผลจากการถือหุ้น การที่จำเลยที่ ๑ และพันเอกสนั่นมีชื่อถือหุ้นนั้นย่อมถือได้ว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำนวนหุ้นของบริษัทน้อมมิตร จำกัด จึงเป็นทรัพย์สินของหุ้นส่วนที่จะต้องนำมาแบ่งตามสัญญาเมื่อเลิกกัน หาใช่จะแบ่งเฉพาะเงินลงทุนค่าหุ้นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาไม่ ตราบใดที่ยังไม่มีการชำระบัญชีหรือตกลงแบ่งกันโดย วิธีอื่น โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งเงินปันผลในปี ๒๕๑๐ และปีต่อ ๆ ไป จนกว่าจะชำระบัญชีหรือตกลงแบ่งกันเสร็จ ที่โจทก์ฟ้องเรียกทุนของหุ้นส่วนคดีนี้ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน และขอแบ่งเงินปันผลในปี ๒๕๑๑ นั้น ศาลล่างก็รับพิจารณาสืบพยานทั้งสองฝ่ายมาจนสิ้นกระแสความแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะรื้อฟื้นให้ชำระบัญชีในเรื่องดัง กล่าวอีก ศาลย่อมวินิจฉัยถึงจำนวนทุนและพิพากษาให้แบ่งเงินปันผลในปี ๒๕๑๑ ไปทีเดียวได้ และการบังคับให้แบ่งกำไรในปี ๒๕๑๑ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้จัดการ และทายาทผู้รับมรดกของพันเอกสนั่นต้องรับผิดร่วมกันเพราะจำเลยที่ ๑ และพันเอกสนั่นเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนร่วมกันดังกล่าวแล้ว หาใช่มีความรับผิดแยกจากกันดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ส่วนผลประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากกิจการหุ้นส่วนดังกล่าวต่อจากปี ๒๕๑๑ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีจำนวนแน่นอนเท่าใดสมควรให้จัดการชำระบัญชี
ที่จำเลยฎีกาว่าเนื่องจากจำเลยที่ ๑ และพันเอกสนั่นรับเงินปันผลมาจ่ายให้โจทก์ตามสัญญา ซึ่งเงินปันผลนี้ก็ถูกหักภาษีชั้นต้นไว้ ณ ที่จ่ายแล้ว แต่ต่อมากรมสรรพากรได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้จากจำเลยที่ ๑ และพันเอกสนั่น ตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ ถึง ๒๕๐๙ เพิ่มเติมอีก คือจำเลยที่ ๑ ต้องเสียภาษีเพิ่มอีก ๑๑๑,๒๔๐.๒๒ บาท พันเอกสนั่นเสียภาษีเพิ่มอีก ๑๓๓,๑๓๕ บาท ๑๕ สตางค์ ควรจะหักให้ฝ่ายจำเลยในการชำระบัญชีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยอ้างว่าโจทก์รับเงินปันผลปี ๒๕๐๐ ถึง ๒๕๐๙ ไปแล้วไม่ถูกต้องเพราะคิดหักการเสียภาษีขาดไป แต่จำเลยมิได้ฟ้องแย้งเรียกเงินภาษีที่อ้างว่าเสียเพิ่มเติมดังกล่าวคืนไม่เป็นประเด็นในคดี จึงไม่วินิจฉัยให้
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า หุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และพันเอกสนั่นได้เลิกกันแล้วด้วยเหตุการตายของพันเอกสนั่นผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งโดยศาลไม่จำเป็นต้องสั่งให้ หุ้นส่วนดังกล่าวเลิกกันอีกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยแต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ แยกกันแบ่งเงินปันผลให้โจทก์และให้จำเลยทั้งหกคืนเงินทุนค่าหุ้นให้โจทก์ โดยไม่ต้องตั้งผู้ชำระบัญชีนั้นยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
จึงพิพากษาแก้ เป็นให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่ข้อที่ให้ห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ กับพันเอกสนั่นเลิกกันและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share