คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5066/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้วโจทก์ย่อมได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทจากผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยและโจทก์ยังเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อจำเลยทั้งสองในจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ใช้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง แม้ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานตำรวจติดตามยึดรถยนต์พิพาทคืนแก่โจทก์แล้ว ถือได้ว่ารถยนต์พิพาทที่โจทก์ได้รับคืนมาเป็นการบรรเทาความเสียหายที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนไป โจทก์ย่อมมีอำนาจที่จะจำหน่ายรถยนต์พิพาทไปได้ แต่เมื่อโจทก์ได้รับเงินจากการจำหน่ายน้อยกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่ผู้รับประโยชน์ไป จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ขาด ถือได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนเกินจำนวนราคารถยนต์พิพาทที่โจทก์ประมูลขายไปเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้งสองแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 445,116.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 434,579.44 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายรวิภาส และยึดรถยนต์ดังกล่าวเป็นของกลางเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 และเจ้าพนักงานตำรวจคืนรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์ไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ต่อมาวันที่ 7 ธันวาคม 2554 โจทก์ได้ประมูลขายรถยนต์ดังกล่าวไปในราคา 2,065,420.56 บาท เมื่อหักยอดเงิน 2,500,000 บาท ที่โจทก์จ่ายแก่บริษัทภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ยังขาดเงินอยู่อีก 434,579.44 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 434,579.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 มีนาคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ต้องจ่ายเงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทมหาชนจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 โจทก์ประกอบธุรกิจประกันภัย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างประกอบกิจการศูนย์บริการล้าง ทำความสะอาดรถยนต์ ขัดเคลือบสีและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดรถยนต์ ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ “โปลิ – เคม” จำเลยที่ 2 เช่าพื้นที่ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า สาขาปิ่นเกล้า เปิดเป็นศูนย์บริการโปลิ – เคม (ปิ่นเกล้า) จำเลยที่ 2 สั่งซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดรถยนต์จากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ใช้ชื่อเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ “โปลิ – เคม” เป็นชื่อทางการค้าของร้าน ให้ใช้แบบฟอร์มพนักงานและแบบฟอร์มเอกสาร โดยจำเลยที่ 2 ต้องใช้ระบบและรูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจตามรูปแบบที่จำเลยที่ 1 กำหนด บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ทำสัญญาเช่ารถยนต์พิพาทยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู หมายเลขทะเบียน ฎฐ xxxx กรุงเทพมหานคร จากบริษัทภัทรลิสซิ่งจำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2553 และบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สเอบีเอเอส จำกัด ได้เอาประกันภัยรถยนต์พิพาทไว้กับโจทก์ เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 9 มกราคม 2554 สิ้นสุดวันที่ 9 มกราคม 2555 คุ้มครองรถยนต์สูญหาย 2,500,000 บาท มีบริษัทภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับประโยชน์ ปรากฏตามสำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2554 นายบุญเลิศ พนักงานของบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ผู้เอาประกันภัยนำรถยนต์พิพาทไปให้พนักงานของจำเลยที่ 2 ที่ศูนย์บริการโปลิ – เคม (ปิ่นเกล้า) ล้างรถ แต่ในวันเดียวกันพนักงานของจำเลยที่ 2 ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อส่งมอบรถยนต์พิพาทแก่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่บุคคลที่มีสิทธิรับรถยนต์พิพาท ทำให้รถยนต์พิพาทสูญหาย ผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย พนักงานของจำเลยที่ 2 จึงกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัย และจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยและโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย ทั้งจำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตนเองแสดงว่าศูนย์บริการล้างรถของจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อผู้เอาประกันภัยในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 และมาตรา 821 ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2554 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย 2,500,000 บาท แก่ผู้รับประโยชน์ ปรากฏตามสำเนาเช็ค ลงวันที่ 24 มีนาคม 2554 สำเนาใบเสร็จรับเงิน ลงวันที่ 7 เมษายน 2554 และสำเนาหนังสือที่ผู้เอาประกันภัยปลดเปลื้องความรับผิดชอบเกี่ยวกับรถยนต์พิพาท และให้โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันชำระเงินแล้ว และวันที่ 4 ตุลาคม 2554 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายรวิภาส พร้อมกับยึดรถยนต์พิพาทเป็นของกลาง ต่อมาวันที่ 7 ตุลาคม 2554 โจทก์ในฐานะผู้รับโอนรถยนต์พิพาทจากผู้รับประโยชน์ได้ขอรับรถยนต์พิพาทคืนมาจากเจ้าพนักงานตำรวจ และโจทก์มีหนังสือถึงนายบุญเลิศพนักงานของผู้เอาประกันภัยว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ข้อ 2.1 และข้อ 2.1.1 ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิที่จะขอรับรถยนต์คืน แต่ผู้เอาประกันภัยจะต้องคืนจำนวนเงินเอาประกันที่โจทก์ได้ชดใช้ไปแล้วแก่โจทก์ และหากปรากฏว่ารถยนต์พิพาทได้รับความเสียหาย โจทก์มีหน้าที่ซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยก่อนส่งมอบคืน ปรากฏตามสำเนาหนังสือ ซึ่งผู้เอาประกันภัยแจ้งขอสละสิทธิที่จะรับรถยนต์พิพาทคืน โจทก์จึงได้ดำเนินการประมูลขายรถยนต์พิพาท จำเลยทั้งสองได้รับแจ้งจากโจทก์แล้ว แต่มิได้เข้าร่วมการประมูลและห้างหุ้นส่วนจำกัด เด่น ออโต้เทรด ได้เสนอราคาซื้อสูงสุดเป็นเงิน 2,065,420.56 บาท โจทก์จึงได้ขายรถยนต์พิพาทไปปรากฏตามสำเนาใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี ซึ่งจำนวนเงินที่โจทก์ขายได้เป็นจำนวนต่ำกว่าค่าสินไหมทดแทน 2,500,000 บาท ที่โจทก์ได้ชดใช้แก่ผู้รับประโยชน์อยู่จำนวน 434,579.44 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ขาดอยู่จำนวน 434,579.44 บาท แก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยคือการคืนรถยนต์หากคืนไม่ได้ต้องใช้ราคาตามราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในเวลาที่สูญหายแทน ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นเจ้าพนักงานตำรวจสามารถติดตามยึดรถยนต์กลับคืนมาได้โดยไม่ปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าวเสียหายหรือชำรุดแต่อย่างใด และโจทก์ติดต่อขอรับรถยนต์คืนจากพนักงานสอบสวนแล้ว สิทธิเรียกร้องใด ๆ ที่มีต่อจำเลยทั้งสองในมูลละเมิดจึงระงับไป จำเลยทั้งสองย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 441 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปย่อมเข้ารับช่วงสิทธิได้เพียงเท่าที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์มีอยู่กับจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์มาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามมาตรา 880 ได้อีก และข้อตกลงตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ผู้เอาประกันภัยใช้สิทธิเลือกว่าจะรับรถยนต์คืนหรือรับค่าสินไหมทดแทนที่รับไปแล้วไม่ผูกพันจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เมื่อผู้เอาประกันภัยเลือกไม่รับรถยนต์คืนถือว่าโจทก์ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนกลับคืนมาเป็นรถยนต์โจทก์จึงไม่ใช่ผู้รับประกันภัยซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไป ไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิตามกฎหมาย ทั้งเป็นข้อตกลงที่โจทก์ยอมเข้าเสี่ยงภัยเองจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องเงินค่าสินไหมทดแทนที่ขาดอยู่นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดในเหตุละเมิดที่ทำให้รถยนต์พิพาทที่อยู่ในความครอบครองของผู้เอาประกันภัยสูญหาย ผู้เอาประกันภัยจึงมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ และโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2,500,000 บาท แก่ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้เงินดังกล่าวแก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว โจทก์ย่อมได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทจากผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยและโจทก์ยังเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อจำเลยทั้งสองในจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ใช้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ไป ตามมาตรา 880 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว เพราะเป็นจำนวนเงินที่โจทก์ได้จ่ายไปตามความรับผิดที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งในเวลาที่โจทก์รับประกันภัยย่อมต้องตรวจสอบแล้วว่ารถที่รับประกันภัยสมควรมีราคาเพียงใด เพื่อมิให้ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเกินความเสียหายที่แท้จริง โดยระยะเวลาที่มีการทำสัญญาประกันภัยจนถึงวันที่รถสูญหายมีระยะเวลาไม่ห่างกันมากนัก ทั้งไม่ปรากฏว่ารถคันดังกล่าวก่อนการสูญหายมีการแจ้งการเกิดอุบัติเหตุที่จะทำให้มูลค่าของรถลดลงจากที่มีการประเมินราคาไว้ในตอนที่โจทก์ตกลงรับประกันภัย จึงเห็นว่าจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้รับประโยชน์เหมาะสมกับสภาพรถแล้ว และเป็นจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการละเมิดของจำเลยทั้งสอง แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่า ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานตำรวจติดตามยึดรถยนต์พิพาทคืนแก่โจทก์แล้วก็ตาม แต่ตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ถือว่าในขณะนั้นรถยนต์พิพาทเป็นทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยต่อไปแล้ว เพราะการคุ้มครองรถยนต์พิพาทเป็นอันสิ้นสุดลงนับแต่โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัยแล้ว ทั้งเมื่อผู้เอาประกันภัยสละสิทธิไม่ขอรับรถยนต์พิพาทคืนตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย ถือได้ว่ารถยนต์พิพาทที่โจทก์ได้รับคืนมาเป็นการบรรเทาความเสียหายที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแก่ผู้รับประโยชน์แล้ว และโจทก์ย่อมมีอำนาจที่จะจำหน่ายรถยนต์พิพาทไปได้ แต่เมื่อโจทก์ได้รับเงินจากการจำหน่ายไม่เท่ากับจำนวนเงิน 2,500,000 บาท ที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่ผู้รับประโยชน์ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระส่วนที่ขาด จำเลยทั้งสองจะอ้างว่า เมื่อรถยนต์พิพาทได้คืนมายังโจทก์แล้ว ความรับผิดในเหตุที่เกิดขึ้นย่อมระงับไปด้วยนั้น ไม่อาจรับฟังได้เพราะหากไม่มีเหตุละเมิดเกิดขึ้นจากลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2,500,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัยแก่ผู้รับประโยชน์ และโจทก์ไม่จำต้องจำหน่ายรถยนต์พิพาทแต่อย่างใด ถือได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนเกินจำนวนราคารถยนต์พิพาทที่โจทก์ประมูลขายไปเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แล้ว จากที่วินิจฉัยตามลำดับ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ขาดอยู่จำนวน 434,579.44 บาท แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share