คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9840-9841/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 43 ให้ยกเลิกความในวรรคหกของมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ในกรณีตามวรรคหนึ่งถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหายในความผิดมูลฐานให้เลขาธิการขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินด้วยในคราวเดียวกันและเมื่อศาลมีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้ให้ผู้เสียหายตามวรรคนี้แล้ว ให้สำนักงานดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาลโดยเร็ว” ดังนี้ แม้พนักงานอัยการจะไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืนหรือชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย แต่เมื่อคดีนี้ผู้คัดค้านที่ 3 กระทำความผิดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (4) แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ท. เป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานนั้น และผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ท. ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ท. ผู้ล้มละลาย แม้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 4 และผู้คัดค้านที่ 4 ไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็ไม่อาจมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากจะเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์จะคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐานนั้นก่อน เมื่อไม่มีผู้เสียหายแล้วจึงจะมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินต่อไป โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าผู้เสียหายจะยื่นคำร้องหรือไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียก ผู้คัดค้านที่ 1 ในสำนวนแรกและผู้คัดค้านที่ 1 ในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกผู้คัดค้านที่ 2 ในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เรียกผู้คัดค้านที่ 3 ในสำนวนแรกและผู้คัดค้านที่ 2 ในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้านที่ 3 และเรียกผู้คัดค้านที่ 4 ในสำนวนแรกและผู้คัดค้านที่ 3 ในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้านที่ 4
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 3 กับพวกว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการและรองกรรมการผู้จัดการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด กระทำความผิดข้อหาเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของบริษัทกระทำผิดหน้าที่หรือกระทำการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด ด้วยการอนุมัติสินเชื่อประเภทอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินวงเงิน 100,000,000 บาท ให้แก่บริษัทอาร์ เอส กรุ๊ป จำกัด โดยผู้คัดค้านที่ 3 ทราบดีว่า บริษัทอาร์ เอส กรุ๊ป จำกัด มีทุนจดทะเบียนเพียง 10,000 บาท และร่วมกันวิเคราะห์สินเชื่อบริษัทอาร์ เอส กรุ๊ป จำกัด ว่ามีผลประกอบการดี อันเป็นความเท็จ การอนุมัติสินเชื่อนี้ไม่มีหลักประกันใดที่จะเรียกให้ชำระหนี้ได้ เป็นการก่อภาระผูกพันโดยการรับรองตั๋วเงิน โดยมิได้เสนอคณะกรรมการสินเชื่ออนุมัติ ทั้งเป็นการอนุมัติเกินกว่าที่ตนมีอำนาจ เป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบวิธีปฏิบัติ ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่าผู้คัดค้านที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 75 ตรี และมาตรา 75 สัตต ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 จำคุก 6 ปี และให้ผู้คัดค้านที่ 3 กับพวกร่วมกันคืนเงิน 82,240,030.52 บาท แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด ผู้คัดค้านที่ 3 จึงเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2547 เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตรวจค้นบ้านผู้คัดค้านที่ 3 และยึดทรัพย์สินหลายรายการรวมทั้งทรัพย์สิน 12 รายการในคดีนี้ คือ
ทรัพย์สินรายการที่ 1 รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นคัมรี่ 1 คัน หมายเลขทะเบียน ภล 7506 กรุงเทพมหานคร เป็นชื่อของผู้คัดค้านที่ 1
ทรัพย์สินรายการที่ 2 เงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 001-2-90XXXX จำนวน 5,553,329.36 บาท
ทรัพย์สินรายการที่ 3 สลากออมสินพิเศษ เลขที่ เอ็น 5130462 – เอ็น 5170461 จำนวน 40,000 หน่วย เป็นเงิน 2,000,000 บาท มีชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ฝาก
ทรัพย์สินรายการที่ 4 สลากออมสินพิเศษ เลขที่ แอล 3667344 -แอล 3677343 สำนักพหลโยธิน จำนวน 10,000 หน่วย เป็นเงิน 1,000,000 บาท มีชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ฝาก
ทรัพย์สินรายการที่ 5 พันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติ ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2545 อายุ 10 ปี พันธบัตรเลขที่ 11041205 – 11041354 เป็นเงิน 1,500,000 บาท มีชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ทรง
ทรัพย์สินรายการที่ 6 หุ้นสามัญธนาคารทหารไทย จำกัด เลขที่ใบหุ้น 00680100039114 จำนวน 89,982 หุ้น ราคาหุ้นละ 4.78 บาท เป็นเงิน 430,113.96 บาท มีชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น
ทรัพย์สินรายการที่ 7 ที่ดินโฉนดเลขที่ 164010 แขวงสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 0-0-16 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 116/235 หมู่ที่ 14 แขวงสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 1,800,000 บาท มีชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
ทรัพย์สินรายการที่ 8 ที่ดินโฉนดเลขที่ 164046 และเลขที่ 147632 แขวงสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 0-0-16.2 ไร่ และเนื้อที่ 0-0-3.2 ไร่ ตามลำดับ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 116/206 หมู่ที่ 14 แขวงสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 1,200,000 บาท มีชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
ทรัพย์สินรายการที่ 9 หุ้นบริษัทคอมฟอร์ม จำกัด เลขที่ 223 จำนวน 1,750 หุ้น หมายเลข 82601-84350 เป็นเงิน 1,750,000 บาท มีชื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้น
ทรัพย์สินรายการที่ 10 หุ้นบริษัทคอมฟอร์ม จำกัด เลขที่ 224 จำนวน 600 หุ้น หมายเลข 84351-84950 เป็นเงิน 600,000 บาท มีชื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้น
ทรัพย์สินรายการที่ 11 หุ้นบริษัทคอมฟอร์ม จำกัด เลขที่ 225 จำนวน 700 หุ้น หมายเลข 84951-85650 เป็นเงิน 700,000 บาท มีชื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้น
ทรัพย์สินรายการที่ 12 ที่ดินโฉนดเลขที่ 49872 ตำบลประชาธิปัตย์ (คลองรังสิตฝั่งเหนือ) อำเภอธัญบุรี (กลางเมือง) จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 2 งาน 9 เศษ 6 ส่วน 10 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 338/21 หมู่บ้านปรีชา หมู่ที่ 1 ตำบลประชาธิปัตย์ (คลองรังสิตฝั่งเหนือ) อำเภอธัญบุรี (กลางเมือง) จังหวัดปทุมธานี ตามอัตราส่วนที่ได้นำเงิน 4,000,000 บาท ไปชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวมค่าตกแต่งและก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 3,500,000 บาท
ต่อมาคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้านที่ 3 จึงมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามคำร้องพร้อมดอกผลอันเกิดมีขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49, 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 4 ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตกเป็นของผู้ล้มละลาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ ที่ดินโฉนดเลขที่ 164010, 164046 และ 147632 แขวงสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 116/235 และเลขที่ 116/206 ตามบัญชีทรัพย์สิน รายการที่ 7 และที่ 8 หุ้นบริษัทคอมฟอร์ม จำกัด เลขที่ 223 จำนวน 1,750 หุ้น หมายเลข 82601 – 84350 และหุ้นเลขที่ 225 จำนวน 700 หุ้น หมายเลข 84951 – 85650 ตามบัญชีทรัพย์สิน รายการที่ 9 และที่ 11 และที่ดินโฉนดเลขที่ 49872 ตำบลประชาธิปัตย์ (คลองรังสิตฝั่งเหนือ) อำเภอธัญบุรี (กลางเมือง) จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 338/21 ตามอัตราส่วนที่ได้นำเงิน 4,000,000 บาท ไปชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งค่าตกแต่งและก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 2,200,000 บาท ตามบัญชีทรัพย์สิน (ทรัพย์สินรายการที่ 12) ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 4 ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่ผู้คัดค้านที่ 4 ส่วนค่าคำร้องในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ (ที่ถูก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 4 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ)
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในชั้นฎีกาโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า ระหว่างปี 2530 ถึงปี 2540 ผู้คัดค้านที่ 3 ดำรงตำแหน่งกรรมการและรองกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2536 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อ โดยให้คณะกรรมการมีหน้าที่ประชุมพิจารณาวงเงินสินเชื่อตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ตามคำสั่ง วันที่ 30 มีนาคม 2536 คณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อประเภทอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินแก่บริษัทอาร์ เอส กรุ๊ป จำกัด ในวงเงิน 100 ล้านบาท โดยไม่มีหลักประกัน ตามสำเนาตั๋วสัญญาใช้เงิน ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นกรรมการคนหนึ่งที่ลงลายมือชื่อกระทำการแทนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2537 ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ถือปฏิบัติและออกระเบียบในเรื่องการรับเงินและการจ่ายเงิน ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด จึงออกระเบียบวิธีปฏิบัติในการกู้ยืมเงินว่าการให้สินเชื่อวงเงินตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องนำเสนอรายงานการวิเคราะห์สินเชื่อต่อคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไป และได้ส่งระเบียบให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบตามสำเนาหนังสือและระเบียบพิธีปฏิบัติ ภายหลังออกระเบียบบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด ผู้คัดค้านที่ 3 ลงนามอนุมัติก่อภาระผูกพันขยายระยะเวลาสินเชื่อรวมทั้งรับรองตั๋วสัญญาใช้เงินและตั๋วแลกเงินให้แก่บริษัทอาร์ เอส กรุ๊ป จำกัด หลายครั้งโดยไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อ ต่อมาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด ถูกระงับกิจการ ธนาคารแห่งประเทศไทยและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และนายสุรพล ในความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 และความผิดฐานร่วมกันยักยอก ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผู้คัดค้านที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 75 ตรี และ 75 สัตต ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 จำคุก 6 ปี ส่วนนายสุรพลมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 จำคุก 3 ปี และให้ร่วมกันคืนเงิน 82,240,031.52 บาท แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด ตามสำเนาคำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ 2831-2832/2546 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้คัดค้านที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 75 ตรี 75 สัตต 75 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 354 จำคุก 6 ปี และปรับ 600,000 บาท ส่วนนายสุรพล มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 จำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ของศาลฎีกา คดีอาญาที่ผู้คัดค้านที่ 3 ถูกฟ้อง ศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20355-20356/2556 พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้คัดค้านที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 75 ตรี และมาตรา 75 สัตต ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 และ 354 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 75 สัตต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี โดยไม่ลงโทษปรับ นายสุรพล มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบมาตรา 86 จำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในส่วนของการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาแล้วมีมติให้ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 และบุคคลที่เกี่ยวข้อง จากการตรวจสอบทรัพย์สินเชื่อว่ามีทรัพย์สินหลายรายการเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว และมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ตามบัญชีทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2544 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด ผู้ล้มละลาย ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยาของผู้คัดค้านที่ 3 และทำงานที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2515 ถึงปี 2545 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 เป็นหลานของผู้คัดค้านที่ 1 โดยผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ให้การอุปการะเลี้ยงดูและพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หรือไม่ เห็นว่า คดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องผู้คัดค้านที่ 3 และนายสุรพล เป็นจำเลยเกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 และประมวลกฎหมายอาญานั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 3 มีความผิด ทั้งในระหว่างพิจารณาคดีนี้ ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 20355-20356/2556 ว่า ผู้คัดค้านที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจ หลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 75 ตรี และมาตรา 75 สัตต ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 และ 354 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 75 สัตต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จึงฟังว่า ผู้คัดค้านที่ 3 กระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ในขณะที่ตนเป็นกรรมการซึ่งรับผิดชอบหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด อันเป็นสถาบันการเงินนั้น ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (4) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ผู้คัดค้านที่ 3 จึงเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐาน เมื่อมาตรา 75 สัตต แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 อันเป็นบทกฎหมายที่ผู้คัดค้านที่ 3 ต้องหาว่ากระทำความผิดได้บัญญัติองค์ประกอบความผิดของมาตรานี้ว่า “กรรมการ ผู้?จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของบริษัท กระทําการหรือไม่?กระทําการเพื่อแสวงหาประโยชน์?ที่มิควรได้?โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่บริษัทนั้น” กรณีจึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 3 ได้ไปซึ่งประโยชน์แห่งการกระทำนั้น และโดยที่มาตรา 51 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน?แห่งมาตรานี้ หากผู้?อ้?างว่?าเป็?นเจ้าของหรือผู้?รับโอนทรัพย์?สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้?องสัมพันธ์?กับผู้?กระทําความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมากก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่?อนว่?าบรรดาทรัพย์?สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต แล้วแต่กรณี” เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้านที่ 3 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 เป็นหลานของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งอาศัยอยู่บ้านเดียวกันและอยู่ภายใต้การอุปการะเลี้ยงดูของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 จึงถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐาน ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าบรรดาทรัพย์สินที่มีชื่อผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของนั้น เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงเป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต้องนำสืบให้รับฟังได้ว่าทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์นั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด กรณีหาใช่ว่า แม้ในคดีอาญาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังว่าผู้คัดค้านที่ 3 กระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้อย่างแจ้งชัดว่าผู้คัดค้านที่ 3 ได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินจากการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นจำนวนเท่าใด และมีพยานหลักฐานใดที่แน่ชัดหรือบ่งชี้ให้เห็นว่าผู้คัดค้านที่ 3 ได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินจากการกระทำความผิดดังกล่าว จึงฟังว่าทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ที่ผู้ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ ทั้งนี้ เพราะกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว และการร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 นี้ เป็นมาตรการในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน เป็นคนละส่วนกับการดำเนินการทางอาญา มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลในคดีนี้จะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 แต่การพิจารณาพิพากษาต้องเป็นไปตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ให้อำนาจศาลไต่สวนคำร้อง หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และคำร้องของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง ฟังไม่ขึ้น ให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 43 ให้ยกเลิกความในวรรคหกของมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ในกรณีตามวรรคหนึ่งถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ให้เลขาธิการขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินด้วยในคราวเดียวกันและเมื่อศาลมีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้ให้ผู้เสียหายตามวรรคนี้แล้ว ให้สำนักงานดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาลโดยเร็ว” ดังนี้ แม้พนักงานอัยการจะไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืนหรือชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย แต่เมื่อคดีนี้ผู้คัดค้านที่ 3 กระทำความผิดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (4) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด เป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานนั้น และผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด ผู้ล้มละลาย แม้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 4 และผู้คัดค้านที่ 4 ไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็ไม่อาจมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากจะเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์จะคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐานนั้นก่อน เมื่อไม่มีผู้เสียหายแล้วจึงจะมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินต่อไป โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าผู้เสียหายจะยื่นคำร้องหรือไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนทรัพย์สินรายการที่ 1 ถึงรายการที่ 11 ตามพร้อมดอกผล และทรัพย์สินรายการที่ 12 ในอัตราส่วน 67 ส่วน จาก 87 ส่วน พร้อมดอกผล ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share