แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยป่วยเป็นโรคจิตชนิดจิตเภทเรื้อรัง วันเกิดเหตุ โจทก์ร่วมนอนเล่นอยู่บนบ้าน จำเลยไปที่ใต้ถุนบ้านโจทก์ร่วมและพูดคนเดียวโดยไม่มีใครรู้สาเหตุว่า คนแก่อะไร พูดไม่เป็นคำพูด โจทก์ร่วมได้ยินเสียงจำเลยจึงลุกไปที่ประตูถามจำเลยว่าพูดว่าอะไร จำเลยตอบว่าไม่ให้โจทก์ร่วมสนใจและอย่าใช้เสียงดังมิฉะนั้นจะฆ่าให้ตาย แล้วจำเลยเดินไปใช้ไม้ขีดไฟจุดเผาหลังคายุ้งข้าวของโจทก์ร่วม พฤติการณ์เช่นนี้ไม่อาจรับฟังได้ว่าสาเหตุคดีนี้เกิดขึ้นเพราะโจทก์ร่วมได้ว่ากล่าวจำเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยโกรธแค้นขึ้นมาอย่างฉับพลัน การกระทำของจำเลยเป็นเรื่องผิดปกติวิสัย ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าบุคคลผู้มีจิตเป็นปกติจะกระทำเช่นนั้นได้ จำเลยมีอาการทางประสาทมาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ คือชอบนั่งคอตก ไม่พูดกับใคร ทำงานไม่ได้ ไล่ชกต่อมารดาและเคยจะฟันพี่ชาย พูดด้วยไม่รู้เรื่อง บางครั้งต้องใช้โซ่ล่ามไว้พฤติการณ์เช่นนี้ ฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในขณะที่มีจิตบกพร่อง หรือเป็นโรคจิตแต่ยังสามารถรู้ผิดชอบหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้างตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยวางเพลิงเผาบ้านและทรัพย์สินอื่นของผู้เสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๘
จำเลยให้การปฏิเสธแล้วเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นส่งตัวจำเลยไปให้แพทย์ตรวจรักษาอาการตามที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ และให้จำหน่ายคดีชั่วคราว ต่อมาแพทย์ได้รายงานว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ ศาลชั้นต้นจึงให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป
ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพจิตของจำเลยซึ่งเคยเข้ารับการรักษาอาการทางประสาทหลอนมาแล้ว วางโทษจำคุกตลอดชีวิต กรณีมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๒๕ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๘,๖๕ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก ๑ ปี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาว่าในวันเกิดเหตุ (วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ เวลากลางวัน) จำเลยได้จุดไฟเผายุ้งข้าวของโจทก์ร่วมและไฟได้ลามไปไหม้โรงเรือนของโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายเป็นเงินรวม ๙๑,๘๖๐ บาท คดีมีปัญหาในชั้นนี้เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะที่ยังรู้สึกผิดชอบและบังคับตนเองได้ดังเช่นคนปกติหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ได้ความว่าในระหว่างพิจารณาคดีนี้เมื่อศาลสืบพยานโจทก์ไปแล้ว ๑ ปาก ทนายจำเลยซึ่งเป็นทนายความที่ศาลขอแรงให้ช่วยว่าความยื่นคำร้องต่อศาลว่าทนายได้สอบถามข้อเท็จจริงจากจำเลยหลายครั้งแล้ว แต่จำเลยพูดจาไม่รู้เรื่อง ได้แต่ยิ้มกับพยักหน้า เมื่อสอบถามญาติของจำเลยจึงทราบว่าจำเลยวิกลจริต เคยไปรักษาที่โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยเป็นโรคจิตเมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๒๔ ขอให้ศาลส่งตัวจำเลยไปรับการรักษาก่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปให้โรงพยาบาลดังกล่าวตรวจดูอาการของจำเลย ต่อมาโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ส่งรายงานการวินิจฉัยโรคต่อศาลโดยนายแพทย์ธำรง ทัศนาญชลี แพทย์ผู้ตรวจจำเลยได้มาให้ถ้อยคำต่อศาลชั้นต้นประกอบความเห็นเป็นหนังสือว่าจำเลยมีอาการป่วยทางจิตชนิด จิตเภทเรื้อรังและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลลงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ชั่วคราว และให้ส่งตัวจำเลยส่งตัวจำเลยไปรับการบำบัดรักษา หลังจากนั้นเป็นเวลา ๓ ปีเศษ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์มีหนังสือแจ้งว่าอาการของจำเลยทุเลาลงและสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตชนิดจิตเภทเรื้อรังปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ขณะมีจิตบกพร่องหรือเป็นโรคจิตหรือไม่ได้ความจากโจทก์ร่วมและนางสาววิมล สมศักดิ์ บุตรสาวโจทก์ร่วมซึ่งเป็นพยานโจทก์ว่าพยานทั้งสองรู้จักจำเลยมาตั้งแต่จำเลยยังเล็ก ๆ และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย นอกจากนี้ขณะเกิดเหตุก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยทะเลาะโต้เถียงกันแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นเรื่องผิดปกติวิสัย ไม่น่าเชื่อว่าบุคคลผู้มีจิตเป็นปกติจะกระทำเช่นนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่าวันเกิดเหตุจำเลยเดินไปที่บ้านโจทก์ร่วมและถูกโจทก์ร่วมว่ากล่าว เป็นเหตุให้จำเลยเกิดความโกรธแค้นโจทก์ร่วมโดยฉับพลันและขาดความยั้งคิด จึงกระทำความผิดขึ้นจะถือว่าจำเลยวิกลจริตไม่ได้นั้นได้ความจากโจทก์ร่วมและนางสาววิมลพยานโจทก์เพียงว่า วันเกิดเหตุโจทก์ร่วมนอนเล่นอยู่บนบ้าน จำเลยไปที่ใต้ถุนบ้านโจทก์ร่วม และพูดคนเดียวโดยไม่มีใครรู้สาเหตุว่า “คนแก่อะไร พูดไม่เป็นคำพูด” โจทก์ร่วมได้ยินเสียงจำเลยดังกล่าวจึงลุกขึ้นไปที่ประตู ถามจำเลยว่า “เมื่อตะกี้มึงพูดว่าอะไร” จำเลยตอบว่า “เรื่องอะไรเกิดขึ้นไม่สนใจ อย่าใช้เสียงดัง ถ้าส่งเสียงดังจะฆ่าให้ตาย” หลังจากนั้นจำเลยเดินไปใช้ไม้ขีดไฟจุดเผาหลังคายุ้งข้าวของโจทก์ร่วมแล้วหลบหนีไป เช่นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าสาเหตุคดีนี้เกิดขึ้นเพราะโจทก์ร่วมได้ว่ากล่าวจำเลย จนเป็นเหตุให้จำเลยโกรธแค้นขึ้นมาอย่างฉับพลันดังฎีกาของโจทก์ นอกจากนี้ นายชาญยุทธ์ คเชนทร์ภักดี พยานจำเลยซึ่งเป็นพี่ชายของจำเลยก็มาเบิกความว่าจำเลยมีอาการทางประสาทมาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุคดีนี้แล้ว คือชอบนั่งคอตก ไม่พูดกับใคร ทำงานไม่ได้ ไล่ชกต่อยมารดา เคยจะฟันพยานด้วย อาการดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวคราวละประมาณ ๓๐ นาที พูดด้วยไม่รู้เรื่อง บางครั้งก็ต้องใช้โซ่ล่ามจำเลยไว้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงรับฟังได้ว่า จำเลยซึ่งป่วยเป็นโรคจิตเภทชนิดเรื้อรังได้กระทำความผิดในขณะที่มีจิตบกพร่องหรือเป็นโรคจิต แต่จำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๕ วรรคสอง
พิพากษายืน