แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 มาขอไม่ให้ผู้เสียหายยื่นซองสอบราคาโดยจำเลยที่ 2 ก็อยู่ในบริเวณนั้น แต่ผู้เสียหายคงยืนยันจะยื่นซองสอบราคา จากนั้นจำเลยที่ 1 เดินมาพูดกับผู้เสียหายว่า “ไอ้น้อยมึงแน่หรือ” และตบหน้าผู้เสียหายที่บริเวณเบ้าตาขวาเป็นเหตุให้ผู้เสียหายตกจากเก้าอี้ล้มลงที่พื้น แล้วจำเลยที่ 2 กับพวกเข้าสมทบกับจำเลยที่ 1 รุมทำร้ายผู้เสียหาย โดยระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 พูดในเชิงข่มขู่ผู้เสียหายว่า “ไอ้น้อยมึงเก่งจริงมึงยื่นเลย” พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้โดยแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกรุมทำร้ายผู้เสียหายเพื่อเป็นการข่มขู่มิให้ผู้เสียหายยื่นซองสอบราคาจ้างเหมางานที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพี่ชายต่างบิดาของจำเลยที่ 2 ขอไม่ให้ผู้เสียหายยื่นในวันเกิดเหตุ ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295, 309 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นซองสอบราคาในวันเกิดเหตุตามที่จำเลยที่ 2 อ้างก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 ร่วมใช้กำลังประทุษร้ายต่อผู้เสียหายเพื่อให้จำยอมไม่เข้าร่วมในการเสนอราคาตามประกาศสอบราคาจ้างเหมาในเหตุคดีนี้จนผู้เสียหายต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ที่โรงพยาบาลและไม่กล้ายื่นซองสอบราคาภายในกำหนด ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 6 อีกฐานหนึ่งด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 309 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2542 มาตรา 3, 6
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 309 (ที่ถูก 309 วรรคแรก) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 6 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 ปีและปรับคนละ 140,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกินคนละ 2 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 จากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่เพียงไร โจทก์มีผู้เสียหายและนายโกวิทย์ ศรีสลับ เป็นพยานเบิกความจำเลยที่ 1 ที่ขอไม่ให้ยื่นซองสอบราคาจ้างเหมางานที่จำเลยที่ 1 ประสานงานฝ่ายผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อฮั้วกัน ครั้นผู้เสียหายและนายโกวิทย์ไปถึงอาคารที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 มาขอไม่ให้ผู้เสียหายยื่นซองสอบราคาอีกโดยจำเลยที่ 2 ก็อยู่ในบริเวณนั้น แต่ผู้เสียหายคงยืนยันจะยื่นซองสอบราคา จากนั้นครู่หนึ่งจำเลยที่ 1 เดินมาพูดกับผู้เสียหายว่า “ไอ้น้อย มึงแน่หรือ” และตบหน้าผู้เสียหายที่บริเวณเบ้าตาขวาเป็นเหตุให้ผู้เสียหายตกจากเก้าอี้ล้มลงที่พื้น แล้วจำเลยที่ 2 กับพวกเข้าสมทบกับจำเลยที่ 1 รุมทำร้ายผู้เสียหาย โดยระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 พูดในเชิงข่มขู่ผู้เสียหายว่า “ไอ้น้อย มึงเก่งจริงมึงยื่นเลย” ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 ที่ว่า ผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายในเหตุทะเลาะวิวาทแย่งงานกับผู้รับเหมาก่อสร้างอื่นแล้วจำเลยที่ 2 เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์เพราะจะไปดูว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในการชุลมุนต่อสู้ด้วยหรือไม่นั้น จำเลยที่ 2 ไม่มีบุคคลภายนอกที่อยู่ในเหตุการณ์มาเป็นพยานสนับสนุน ที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ซื้อซองสอบราคาแต่อยู่ในอาคารที่เกิดเหตุเพราะอยากทราบว่าผู้ใดจะชนะการประมูลงานก็ขัดต่อเหตุผล เนื่องจากการสอบราคาจ้างเหมาในเหตุคดีนี้กำหนดเปิดซองสอบราคาในวันรุ่งขึ้น ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 จึงเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ที่ฟังข้อเท็จจริงได้ดังกล่าว พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้โดยแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกรุมทำร้ายผู้เสียหายเพื่อเป็นการข่มขู่มิให้ผู้เสียหายยื่นซองสอบราคาจ้างเหมางานที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพี่ชายต่างบิดาของจำเลยที่ 2 ขอไม่ให้ผู้เสียหายยื่นในวันเกิดเหตุ ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 309 วรรคแรกประกอบมาตรา 83 แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นซองสอบราคาในวันเกิดเหตุตามที่จำเลยที่ 2 อ้างในฎีกาก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 ร่วมใช้กำลังประทุษร้ายต่อผู้เสียหายเพื่อให้จำยอมไม่เข้าร่วมในการเสนอราคาตามประกาศสอบราคาจ้างเหมาในเหตุคดีนี้จนผู้เสียหายต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ที่โรงพยาบาลและไม่กล้ายื่นซองสอบราคาภายในกำหนด ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 6 อีกฐานหนึ่งตามฟ้องด้วย บทบัญญัติดังกล่าวไม่มีองค์ประกอบความผิดว่าผู้กระทำผิดจะต้องเป็นผู้เสนอราคาด้วยแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน