คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คดีจะฟังว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นสินส่วนตัวของ น. มิใช่สินสมรสตามที่ผู้ร้องสอดยกขึ้นต่อสู้ก็ตาม น. ก็มีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของตนโดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงบางส่วน และยกกรรมสิทธิ์ในส่วนของ น. ให้แก่จำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1473 ดังนั้น การที่ น. ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ซึ่งเป็นสินส่วนตัวให้แก่จำเลย จึงเป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะกระทำได้ ไม่ทำให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ส่วนการที่ น. และจำเลยแจ้งความเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียม ค่าภาษีเงินได้ ค่าอากร และค่าใช้จ่ายในการโอนก็เป็นหน้าที่ของรัฐ ที่หน่วยงานราชการจะต้องไปดำเนินการเรียกเอาจากผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากสารบัญจดทะเบียนประเภทการจดทะเบียนลงชื่อคู่สมรส การบรรยายส่วนการแบ่งแยกที่ดินในนามเดิมในโฉนดที่ดินเลขที่ 21764 และเลขที่ 21767 ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 28428 ถึงเลขที่ 28440 และเลขที่ 28509 ให้โจทก์ได้รับมรดกในที่ดินโฉนดเลขที่ 21764 และเลขที่ 21767 จำนวน 1 ใน 4 ส่วน หรือเท่ากับ 1,100.1 ส่วน และ 3,005.4 ส่วน ของที่ดินแต่ละแปลงตามลำดับ ให้ถือว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 28428 ถึงเลขที่ 28440 และเลขที่ 28509 ก่อนถูกจำเลยยื่นเรื่องขอแบ่งแยกมีผลใช้บังคับอยู่ และให้จำเลยไปยื่นเรื่องขอให้โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจำนวน 1,100.0 ส่วน และ 3,005.4 ส่วน ตามลำดับ หากจำเลยไม่ดำเนินการ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความขอให้พิพากษาว่าการทำนิติกรรมของพลตรีนาวีและจำเลยเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 21764 และเลขที่ 21767 ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาตกเป็นโมฆะ ให้ผู้ร้องสอดและนางสาวพีรานุชเป็นผู้มีสิทธิ ส่วนจำเลยไม่มีสิทธิและโจทก์ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวตามลำดับ
โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดขอให้ยกคำร้องสอด
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การแก้คำร้องสอดขอให้ยกคำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และยกคำร้องสอด ค่าฤชาธรรมเนียมของทุกฝ่ายทั้งหมดให้เป็นพับ
โจทก์และผู้ร้องสอดอุทธรณ์โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องสอดฎีกา โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์และผู้ร้องสอดมีอำนาจฟ้องและมีอำนาจร้องสอดเข้ามาตามลำดับในคดีนี้ ซึ่งคู่ความมิได้ฎีกาจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และเนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาไม่ว่าในประเด็นใด ๆ ด้วย คดีของโจทก์จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เช่นเดียวกัน พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติตามปรากฏในสารบัญจดทะเบียนท้ายตราจองเลขที่ 114 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นตราจองเลขที่ 399 และเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 21764 ว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2524 พลตรีนาวีมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินร่วมกับผู้อื่นอีก 4 คน มีชื่อนางลำใย รวมอยู่ด้วย ต่อมานางลำใยถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 25 และ 27 กันยายน 2538 พลตรีนาวีและบุคคลอื่นอีก 3 คน รับโอนมรดกส่วนของนางลำใยและยังคงถือกรรมสิทธิ์รวมกันอยู่ ครั้นวันที่ 16 ธันวาคม 2539 จึงมีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยเป็นส่วนของพลตรีนาวี 11 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวา ส่วนตราจองเลขที่ 28 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นตราจองเลขที่ 396 และเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 21767 ว่า เดิมพลตรีนาวีมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินร่วมกับผู้อื่นอีก 4 คน มีชื่อนางลำใยรวมอยู่ด้วย เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2538 นางลำใยถึงแก่ความตาย ในวันที่ 25 และ 27 กันยายน 2538 พลตรีนาวีและบุคคลอื่นอีก 3 คน รับโอนมรดกส่วนของนางลำใยและยังคงถือกรรมสิทธิ์รวมกันอยู่ ครั้นวันที่ 16 มกราคม 2540 จึงมีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยเป็นส่วนของพลตรีนาวี 30 ไร่ 1 งาน 2 ตารางวา ดังนั้น การที่เมื่อวันที่ 7 และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 พลตรีนาวีและจำเลยร่วมกันไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี สาขาแก่งคอย ว่าที่ดินแปลงเครื่องหมายดังกล่าวข้างต้น ซึ่งหมายถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 21764 และ 21767 เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสและบุคคลทั้งสองได้มาโดยการซื้อและจดทะเบียนเมื่อปี 2529 จึงเป็นความเท็จ ทั้งพนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีก็ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยรวม 2 กระทง กระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 3,000 บาท รวม 2 กระทงเป็นจำคุก 2 ปี และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4599/2556 ของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องสอดว่า การที่พลตรีนาวีและจำเลยร่วมกันแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้มาระหว่างสมรสโดยการซื้อและเป็นสินสมรสโดยมีเจตนาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้ ค่าอากร และค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดิน เป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 หรือไม่ นั้น เห็นว่า แม้จะฟังว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นสินส่วนตัวของพลตรีนาวีมิใช่สินสมรสตามที่ผู้ร้องสอดยกขึ้นต่อสู้ก็ตาม พลตรีนาวีก็มีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของตนโดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงบางส่วน และยกกรรมสิทธิ์ในส่วนของพลตรีนาวีให้แก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1473 ดังนั้น การที่พลตรีนาวียกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งเป็นสินส่วนตัวให้แก่จำเลย จึงเป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่พลตรีนาวีจะกระทำได้ ไม่มีผลทำให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด ส่วนการที่พลตรีนาวีและจำเลยแจ้งความเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียม ค่าภาษีเงินได้ ค่าอากร และค่าใช้จ่ายในการโอนก็เป็นหน้าที่ของรัฐ โดยสำนักงานที่ดินหรือกรมสรรพากรแล้วแต่กรณีที่จะต้องไปดำเนินการเรียกเอาค่าธรรมเนียม ค่าภาษีเงินได้ ค่าอากร และค่าใช้จ่ายในการโอนเอาจากผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องสอดฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share