แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนี้ภาษีอากรรายพิพาทเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์เรียกเก็บจากจำเลยที่ 1 และสามี จำเลยที่ 1 และสามีอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ผ่อนผันลดเงินเพิ่มลงและแจ้งให้จำเลยที่ 1 กับสามีชำระ แต่ก็ไม่ได้ชำระและมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทั้งเมื่อถูกฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 รับว่าการประเมินถูกต้อง หนี้ภาษีรายพิพาทจึงยุติว่าจำเลยที่ 1 มีเงินได้พึงประเมินและมีรายรับอันจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าร่วมกับสามี เพราะการประเมินรายนี้ถือว่าเป็นเงินได้และรายรับร่วมกัน แม้โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 1รับผิดฐานไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 เคยตกลงยอมชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่พิพาทก็ตามแต่เมื่อภาษีอากรรายพิพาทเป็นภาษีอากรค้าง จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับสามี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา57 ตรี วรรคแรก
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทของสามีจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าภาษีอากรตามฟ้อง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินจำนวนทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่จำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกนำเงินจากกองมรดกหากมีไปชำระภาษี มิได้หมายความว่าจะต้องเอาเฉพาะมรดกที่เป็นเงินไปชำระภาษีโดยไม่ต้องรับผิดในทรัพย์สินอื่นที่เป็นมรดก เพราะความตอนต้นบ่งชัดแล้วว่าจำเลยที่ 2ในฐานะทายาทต้องชำระหนี้ค่าภาษีอากรตามฟ้อง คำพิพากษาดังกล่าวจึงย่อมบังคับคดีแก่ทรัพย์สินทุกชนิดที่เป็นมรดกของผู้ตาย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพลตรีเฉลิม คำรพวงศ์ และให้ความยินยอมที่จะชำระหนี้ค่าภาษีทั้งหมดแทนบุคคลดังกล่าว จำเลยที่ ๒ เป็นทายาทและเป็นผู้จัดการมรดกของพลตรีเฉลิม ตามคำสั่งศาล เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ออกหมายเรียกเพื่อทำการตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษีของพลตรีเฉลิม และจำเลยที่ ๑ สำหรับปีภาษี ๒๕๑๖-๒๕๑๘ พบว่าบุคคลดังกล่าวมีรายได้จากการจัดสรรที่ดินขายจำนวน ๓๖๐ แปลง เป็นเงิน ๑๗ ล้านบาทเศษ อันเป็นการขายที่มุ่งในทางการค้า และยังมีเงินได้จากเงินเดือน โบนัสเบี้ยประชุมอีก ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าปรากฏว่าพลตรีเฉลิม ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้แต่ก็ยื่นขาด ส่วนภาษีการค้าไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเจ้าพนักงานประเมินจึงได้ทำการประเมินและแจ้งการประเมินให้นำเงินค่าภาษีไปชำระแก่โจทก์ทั้งสิ้น ๗,๘๐๑,๗๓๘.๖๗ บาท พลตรีเฉลิมได้ถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นทายาทและเป็นผู้จัดการมรดก ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าภาษีดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อปี ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๑ กับพลตรีเฉลิม ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน จำเลยที่ ๑ เป็นแม่บ้าน ไม่มีรายได้ดังที่เจ้าพนักงานกล่าวอ้างและไม่เคยให้ความยินยอมชำระหนี้ค่าภาษีแทนพลตรีเฉลิม จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามฟ้อง ขณะที่พลตรีเฉลิม ถึงแก่กรรมไม่มีทรัพย์สิน ๆเกี่ยวกับเงินได้ของพลตรีเฉลิม อันได้แก่เงินเดือน เบี้ยประชุมโบนัส นั้น พลตรีเฉลิม ไม่เคยได้รับ หน่วยงานที่จ่ายรับไปเป็นสวัสดิการให้หน่วยงานนั้น และหักภาษี ณ ที่จ่ายส่งให้แก่โจทก์แล้วสำหรับเงินที่ได้จากการขายที่ดินนั้น นางอรสาธัญญะกิจ ได้ติดต่อกับกรมการขนส่งทหารบกขอจัดสรรที่ดินในนามของแผนกสวัสดิการกรมการขนส่งทหารบก โดยนางอรสา เป็นผู้จัดหาที่ดินแล้วโอนใส่ชื่อพลตรีเฉลิม เป็นเจ้าของเพื่อผลในทางความเชื่อถือ พลตรีเฉลิม มิใช่ผู้ค้าที่ดินจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้า
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทของพลตรีเฉลิม ชำระหนี้ค่าภาษีจำนวน ๗,๘๐๑,๗๓๘.๖๗ บาท แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินจำนวนทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่จำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้จัดการมรดกนำเงินจากกองมรดกหากมีไปชำระค่าภาษีตามจำนวนดังกล่าวข้างต้น
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า จำเลยที่ ๑ จะต้องร่วมรับผิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีการค้ารายนี้หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์อ้างว่าเจ้าพนักงานได้ออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีทั้งพลตรีเฉลิม และจำเลยที่ ๑ และได้ส่งแบบแจ้งการประเมินไปยังพลตรีเฉลิม และจำเลยที่ ๑ ซึ่งพลตรีเฉลิม และจำเลยที่ ๑ ได้รับทราบแล้ว จึงเป็นหนี้ภาษีอากรค้างชำระ จำเลยที่ ๑ ในฐานะภริยาต้องร่วมรับผิดด้วยนั้น เห็นว่า หนี้ภาษีรายนี้เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ประเมินเรียกเก็บจากพลตรีเฉลิม และจำเลยที่ ๑พลตรีเฉลิม กับจำเลยที่ ๑ ได้อุทธรณ์การประเมิน เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าการประเมินชอบ แต่มีเหตุอันควรผ่อนผันลดเงินเพิ่มลงคงเรียกเก็บเพียงร้อยละ ๕๐ และแจ้งให้พลตรีเฉลิม และจำเลยที่ ๑ ชำระ แต่ก็ไม่ได้ชำระ และมิได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ย่อมต้องถือว่าการประเมินของเจ้าพนักงานยุติแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิโต้แย้งทั้งเมื่อถูกฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ ๑ รับว่าการประเมินถูกต้อง หนี้ภาษีรายนี้จึงยุติว่าจำเลยที่ ๑ มีเงินได้พึงประเมินและมีรายรับอันจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีการค้าร่วมกับพลตรีเฉลิม เพราะการประเมินรายนี้ ถือว่าเป็นเงินได้และรายรับร่วมกัน แม้โจทก์ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยที่ ๑ รับผิดฐานไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยก็ตามแต่เมื่อภาษีอากรรายพิพาทนี้เป็นภาษีอากรค้าง จำเลยที่ ๑ จึงต้องร่วมรับผิดกับพลตรีเฉลิม ผู้เป็นสามีตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๕๗ ตรี วรรคแรก เมื่อฟังได้เป็นยุติเช่นนี้ จำเลยที่ ๑จึงมีหนี้ที่จะต้องชำระภาษีอากรร่วมกับพลตรีเฉลิม ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วยอุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น และการร่วมรับผิดของจำเลยที่ ๑ จะมีตามกฎหมายอื่นหรือไม่ไม่จำต้องวินิจฉัย
อุทธรณ์ประการต่อไปมีว่า ศาลภาษีอากรกลางให้จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้จัดการมรดกนำเงินจากกองมรดกหากมี ไปชำระค่าภาษีอากรนั้นมิชอบ เนื่องจากกองมรดกของพลตรีเฉลิม มิได้มีเฉพาะเงิน เห็นว่าศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทของพลตรีเฉลิม ชำระหนี้ค่าภาษีอากรจำนวน ๗,๘๐๑,๗๓๘.๖๗ บาท แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินจำนวนทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่จำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้จัดการมรดกนำเงินจากกองมรดกหากมี ไปชำระภาษีตามจำนวนดังกล่าวข้างต้น ข้ออุทธรณ์โจทก์ที่กล่าวมานั้น เห็นว่า เป็นข้อที่ศาลภาษีอากรกลางกล่าวเกินมาเพื่อย้ำให้เห็นว่าถ้าได้รับเงินมรดกมาก็ให้นำไปชำระภาษี มิได้หมายความว่าจะต้องเอาเฉพาะมรดกที่เป็นเงินไปชำระภาษีโดยไม่ต้องรับผิดในทรัพย์สินอื่นที่เป็นมรดก เพราะข้อความในตอนต้นบ่งชัดแล้วว่าจำเลยที่ ๒ ในฐานะทายาทของพลตรีเฉลิม ต้องชำระหนี้ค่าภาษีอากรจำนวน ๗,๘๐๑,๗๓๘.๖๗ บาทมิได้จำกัดว่าจะบังคับคดีได้เฉพาะตัวเงินแต่อย่างไร คำพิพากษาดังกล่าวโจทก์ย่อมบังคับคดีแก่ทรัพย์สินทุกชนิดที่เป็นมรดกของผู้ตายได้ทุกอย่างอยู่แล้ว จึงไม่จำต้องแก้ไขถ้อยคำแต่อย่างใด
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ ๑ ร่วมรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีให้โจทก์ ๗,๘๐๑,๗๓๘.๖๗ บาท นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง.